เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

จริงหรือไม่? น้ำประปา ห้ามใช้หุงข้าว อาจก่อมะเร็งได้?

จริงหรือไม่? น้ำประปา ห้ามใช้หุงข้าว อาจก่อมะเร็งได้?

ขั้นตอนในการหุงข้าวที่เราคุ้นตากัน คงเป็นภาพที่เราซาวข้าว เทน้ำใส่อ่างล้างจาน และเปิดก๊อกน้ำเติมน้ำใส่หม้อในปริมาณที่พอเหมาะ ก่อนนำหม้อข้าวไปหุงด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า หากเป็นตามต่างจังหวัด ก็อาจจะยังพอมีบางบ้านที่ยังหุงข้าวเช็ดน้ำ และไม่เช็ดน้ำจากหม้อธรรมดาๆ อยู่ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ใช้น้ำจากน้ำประปา หรือน้ำก๊อกกันทั้งนั้น แต่น้ำประปาปลอดภัยต่อการหุงข้าว และประกอบอาหารมากแค่ไหน มาดูรายละเอียดกัน

 

น้ำประปา สะอาด แต่แฝงอันตราย?

ขั้นตอนในการทำให้น้ำประปาสะอาด มีการเติมสารคลอรีนลงไปด้วย บางคนที่บอกว่าสารคลอรีนเหล่านี้จะกลายเป็นสารไตรฮาโลมีเทน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเกิดขึ้นจากคลอรีนทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ในน้ำ ปริมาณคลอรีนอิสระ ความเป็นกรด-ด่าง อุณหภูมิ และชนิดสารอินทรีย์โดยเฉพาะกลุ่มกรดฮิวมิก กรดฟุลวิกในน้ำเป็นหลัก เป็นต้น นอกจากนี้กระบวนการผลิตน้ำประปาแม้ว่าในน้ำดิบที่นำมาผลิตจะมีสารอินทรีย์ปะปนอยู่บ้าง เมื่อเข้าสู่ระบบผลิตน้ำประปาที่มีขั้นตอนการปรับปรุงคุณภาพน้ำดิบ การตกตะกอน และการกรองแล้ว ปริมาณสารอินทรีย์จะถูกกำจัดออกไปได้มาก จึงเหลือมาทำปฏิกิริยากับคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำน้อยมาก

การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ชี้แจงว่า กปภ.ได้ควบคุมปริมาณคลอรีนอิสระคงเหลือสำหรับฆ่าเชื้อโรคในน้ำ ณ สถานีผลิตน้ำ ให้มีค่าอยู่ในช่วง 1.0-1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร และเมื่อน้ำประปาเข้าสู่เส้นท่อในระบบจ่ายน้ำ คลอรีนอิสระคงเหลือจะยังช่วยกำจัดเชื้อโรคอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยลดลงจนถึงผู้ใช้น้ำในปริมาณที่มีการควบคุมให้มีค่าประมาณ 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่สะอาด ปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายแน่นอน

 

สารคลอรีนในน้ำประปา ทำปฏิกิริยากับข้าว และอาหารต่างๆ?

ข้าวสารหรือแป้งชนิดต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร จัดอยู่ในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตโมเลกุลขนาดใหญ่จึงทำปฏิกิริยากับคลอรีนอิสระได้ช้ามาก เมื่อเทียบกับสารอินทรีย์ชนิดอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้นคลอรีนอิสระคงเหลือ และไตรฮาโลมีเทนในน้ำจะระเหยออกได้ง่ายมากเมื่อสัมผัสอากาศหรือความร้อนจากการหุงต้ม คลอรีนจึงแทบไม่เหลืออยู่ในน้ำเลย ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดสารไตรฮาโลมีเทนเนื่องจากการนำน้ำประปาที่มีคลอรีนมาใช้ประกอบอาหารจึงน้อยมากๆ

นอกจากนี้ กปภ.มีการทดสอบหาปริมาณไตรฮาโลมีเทนควบคู่กับคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำประปาอยู่เป็นประจำ พบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) กำหนด จึงวางใจได้ว่าน้ำประปาปลอดภัยต่อการอุปโภค และบริโภค

 

ไม่ชอบกลิ่นคลอรีนของน้ำประปา?

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบกลิ่นของคลอรีนในน้ำประปา สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ง่ายๆ เพียงเปิดฝาภาชนะบรรจุน้ำประปาไว้ประมาณ 30 นาที กลิ่นคลอรีนก็จะระเหยออกไปเองจนหมดก่อนนำน้ำประปามาใช้

 

ดังนั้น ประชาชนชาวไทยขอให้มั่นใจว่าน้ำประปาของเราไม่ได้สะอาดน้อยไปกว่าที่อื่นๆ และสามารถใช้ประกอบอาหารได้ทุกประเภทได้โดยไม่ต้องกังวลถึงเรื่องโรคภัยไข้เจ็บใดๆ เพียงแต่ต้องมั่นใจว่าอุปกรณ์ลำเลียงน้ำประปามาใช้ในบ้านนั้นจะสะอาด และได้มาตรฐานพอหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วอาจมาจากอุปกรณ์ลำเลียงน้ำประปาในบ้านของท่านเองที่ทำให้พบความผิดปกติของน้ำประปา