เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

ลุยน้ำลุยโคลนหน้าฝนระวัง! “เมลิออยด์” โรคติดต่ออันตรายถึงชีวิต

ลุยน้ำลุยโคลนหน้าฝนระวัง! “เมลิออยด์” โรคติดต่ออันตรายถึงชีวิต

นอกจากหน้าร้อนจะเป็นฤดูที่พบโรคติดต่อมากที่สุดฤดูหนึ่งแล้ว ที่อันตรายไม่แพ้กันหรือหน้าฝนที่บ้านเรามีอากาศทั้งร้อนทั้งแฉะ มีลักษณะที่เหมาะแก่การแพร่พันธุ์ของเชื้อโรคหลายชนิด และที่สำคัญยังมีโรคติดต่ออีกชนิดหนึ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหู ติดต่อกันง่ายกว่าที่ติด และมีอันตรายถึงชีวิตได้ นั่นคือโรค “เมลิออยด์”

 

โรคเมลิออยด์ คืออะไร?

โรคเมลิออยด์ หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Melioidosis (เมลิออยโดสิส) เป็นโรคติดต่อจากแบคทีเรียที่อันตรายเพราะไม่มีอาการที่เพาะเจาะจง ยากต่อการวินิจฉัย (ส่วนใหญ่ผู้ป่วยเดินทางไปพบแพทย์ด้วยอาการมีไข้สูงเพียงอย่างเดียว) ไม่มีชุดตรวจคัดกรองใดๆ ที่มี่ความแม่นยำในการวินิจฉัยเบื้องต้น และยากต่อการรักษา จึงมีอัตราการเสียชีวิตสูง

 

สาเหตุของโรคเมลิออยด์

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei (เชื้อเมลิออยด์) พบได้ทั่วไปในดิน และน้ำในแหล่งระบาด สามารถพบได้ในดิน และแหล่งน้ำทุกภูมิภาคในประเทศไทย โดยพบได้บ่อยที่สุดในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน

นอกจากการสัมผัสดิน และน้ำจากแหล่งที่ระบาดโดยตรงแล้ว เชื้อเมลิออยด์ยังสามารถแพร่กระจายสู่คนผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรงหรือโดยการติดต่อจากสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น สุนัข แมว หมู ม้า วัว ควาย แกะ แพะ ได้อีกด้วย และยังพบว่ามีอัตราการติดเชื้อสูงขึ้นในช่วงฤดูฝน

 

การติดต่อของโรคเมลิออยด์

มนุษย์สามารถติดเชื้อแบคทีเรียเมลิออยด์จากการสัมผัสกับแหล่งดิน แหล่งน้ำทีมีเชื้อแบคทีเรียเมลิออยด์ ผู้ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องมีบาดแผล หรือมีรอยขีดข่วนใดๆ เชื้อแบคทีเรียก็สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสัมผัส หรือแช่อยู่ในแหล่งดินแหล่งน้ำที่มีเชื้อเมลิออยด์อยู่เป็นเวลานาน และการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น สุนัข แมว หมู ม้า วัว ควาย แกะ แพะ เป็นต้น แต่สำหรับผู้ที่มีบาดแผล แล้วไปสัมผัสดิน สัมผัสน้ำที่มีเชื้อโรค ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้น

 

ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเมลิออยด์

- ผู้ที่ต้องทำงานอยู่ในแหล่งดินแหล่งน้ำที่มีเชื้อเมลิออยด์อยู่เป็นเวลานาน โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ชาวนา ชาวประมง เกษตรกรที่มือและเท้าแช่อยู่ในน้ำในดินเป็นเวลานาน

- ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคทาลัสซีเมีย และโรคมะเร็ง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่กำลังเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด

- ดื่มสุรา สูบบุหรี่

- ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกัน

 

อาการของโรคเมลิออยด์

  • มีไข้สูง (จากการติดเชื้อในกระแสเลือด)

  • ปอดติดเชื้อเฉียบพลัน โดยมีไข้ ไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอก

  • ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เช่น มีไข้ ปัสสาวะแสบขัด

  • ติดเชื้อในข้อ เช่น มีไข้ ข้อบวมแดง และร้อน

  • พบฝีในตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ผิวหนัง หรือตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ฝีในสมอง ฝีในตา ฝีในช่องคอ ฝีในปอด ฝีในไต ฝีในต่อมน้ำลาย หรือฝีในต่อมลูกหมาก เป็นต้น
  •  

    การรักษาโรคเมลิออยด์

    ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเมลิออยด์มักมีอัตราการเสียชีวิตสูงจากการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากผู้ป่วยรีบมาหาแพทย์ได้ทันท่วงที แพทย์จะพิจารณาใช้ยาต้านจุลชีพ เช่น ยา ceftazidime imipenem หรือ meropenem เพื่อทำการรักษาในภาวะฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังต้องควบคุมการติดเชื้อ เช่น การเจาะระบายหนอง การล้างข้อที่ติดเชื้อ และการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนหนองออก เมื่อไม่สามารถเจาะดูดได้ และผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นจากการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

     

    การป้องกันโรคเมลิออยด์

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสดิน และน้ำโดยตรง หากต้องสัมผัสดินหรือน้ำ เช่น ทำการเกษตรจับปลา ลุยน้ำ หรือลุยโคลน ควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาว หรือ ชุดลุยน้ำก่อนให้เรียบร้อย

  • หากสัมผัสดินหรือน้ำ ควรทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาด และฟอกสบู่ทันที

  • หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำแผลด้วยยาฆ่าเชื้อไม่ใส่ดินหรือสมุนไพรใดๆ ลงบนแผล และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและ น้ำจนกว่าแผลจะหายสนิท

  • สวมรองเท้าทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน ไม่เดินเท้าเปล่า

  • ดื่มน้ำต้มสุก (เนื่องจาก น้ำฝน น้ำบ่อ น้ำบาดาล และน้ำประปาอาจมีเชื้อปนเปื้อนได้ และการกรองด้วยเครื่องที่ไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างถูกต้องไม่สามารถฆ่าเชื้อเมลิออยด์ได้)

  • ทานอาหารสุกสะอาด (ไม่ทานอาหารที่มีการปนเปื้อนจากดิน ฝุ่นดิน หรืออาหารที่ล้างด้วยน้ำที่ไม่สะอาด)

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมฝุ่น ลุยน้ำลุยโคลนโดยไม่มีเครื่องป้องกัน และการอยู่ท่ามกลางสายฝนเป็นเวลานาน ถ้ามีความจำเป็นควรรีบทำความสะอาดร่างกายหลังสัมผัสดิน และน้ำโดยเร็วที่สุด

  • เลิกเหล้า เลิกบุหรี่

  • ห้ามทานยาต้ม ยาหม้อ ยาชุด ยาลูกกลอน

  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวจะมีความเสี่ยงกับการเป็นโรคเมลิออยด์สูงขึ้น จึงควรดูแลสุขภาพให้ดีเช่น ผู้ป่วยเบาหวานควรดูแลระดับน้ำตาลให้ปกติ (ระดับน้ าตาลเท่ากับ 80-100) เป็นต้น

  • ดูแลสัตว์เลี้ยงของตัวเองให้มีความสะอาด และสุขภาพดีอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้สัตว์เลี้ยงลุยน้ำลุยโคลนนอกบ้านแล้วไม่ทำความสะอาดร่างกายให้ดี ตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ รวมถึงเกษตรกรที่ทำงานกับหมู ม้า วัว ควาย แกะ แพะ ด้วย หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์อย่างใกล้ชิด แนะนำให้สวมอุปกรณ์ป้องกันอย่างรองเท้า ถุงมือ ผ้าปิดปาก ก่อนเข้าใกล้ และทำความสะอาดตัวเองหลังสัมผัสสัตว์เหล่านี้ทุกครั้ง