"ทองเนื้อเก้า" กับสังคมที่วิ่งหาเนื้อแท้จากจุดต่ำสุด โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์
ปัดไปปัดมา ความคลิป ความไฮไลท์ละครไทยใน Youtube ก็ดันไปพบกับการนำละครมารีรันอีกรอบ ตามประสาช่วงเวลาที่คอนเทนต์ป้อนเข้าช่องมันเริ่มหายากขึ้นทุกที ดังนั้นแล้ว จะมาเป็นช่องเหมือนกันไม่ได้ นางก็เลยมีการนำ ทองเนื้อเก้า มารีรันอีกครั้ง พอเทยตะแคงดูในยุคสมัยนี้ ก็ทำให้เกิดความฉงนสงสัยไปหนึ่งกรุบ และอยากจะเอามาเม้าท์ค่ะคุณกิตติขา
ทองเนื้อเก้า
จากบทประพันธ์อันเลื่องชื่อของ “โบตั๋น” นำมาสู่การทำเป็นละครโทรทัศน์ไปแล้วทั้งสิ้น 3 ครั้ง และเวอร์ชั่นล่าสุด ช่องสาม ได้ทำเอาไว้เมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “ลำยอง” หญิงสาวที่หน้าตาสระสวย เป็นที่หมายปองของหนุ่มๆ แต่ด้วยความรวยรูป และหลงในกามารมณ์ ทำให้ลำยองถลำลึกไปในเส้นทางของความฉาบฉวย ใช้รูปลักษณ์ในการเอาประโยชน์เข้าตัว ซึ่งตัวละครนั้น ในทุกเวอร์ชั่นต่างได้นักแสดงฝีมือดี มารับบทลำยอง และถ่ายทอดความ “ต่ำ” ออกมาได้ในคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกันออกไป โดยเวอร์ชั่นล่าสุด บทลำยอง ตกเป็นของนักแสดงมากฝีมืออย่าง “นุ่น วรนุช”
แต่ทว่าชื่อ “ทองเนื้อเก้า” นั้น ไม่ได้หมายถึงตัวลำยอง หากแต่หมายถึงเรื่องราวของ “วันเฉลิม” ลูกชายคนโตของลำยอง ที่เหมือนว่าทั้งเรื่องราว จะเป็นคำบอกเล่าของ “พระวัน” ที่บวชแล้วเทศนาสอนเรื่องความกตัญญู โดยยกเรื่องราวของตัวเอง ที่ต้องคอยดูแล “ลำยอง” มาตลอดช่วงชีวิตวัยเด็กของตัวท่าน แม้ว่าลำยอง จะไม่ได้ทำตัวเป็นแม่ที่ดีเลยก็ตาม ทั้งทุบตี ติดเหล้า ปล่อยให้อดข้าว เรียกได้ว่า ทรมานทารุณเด็กสารพัด แต่วันเฉลิม ก็ไม่เคยคิดจะโกรธเคืองแม่แต่อย่างใด ยังคงตั้งตนเป็นเด็กขยัน สุภาพ และถึงแม่จะจากไป ตัววันเฉลิมก็ยังบวชเรียนให้แม่ต่ออีกหนึ่งกรุบ
เปรียบได้ดั่งทองแท้ เป็นทองเนื้อเก้า ทองเนื้อดี งามจากภายใน เพชรในตม อภิชาตบุตร ประเสริฐแท้เลยนะพ่อคุณ
แน่นอนว่า “ทองเนื้อเก้า” เป็นละครที่ทำมากี่ครั้ง ก็ประสบความสำเร็จ เนื่องจากคาแรกเตอร์สำคัญของเรื่องอย่างลำยอง เป็นผู้หญิงที่ต้องผ่านเรื่องราวชีวิตที่ผาดโผนมากมาย ชีวิตรักที่ไม่ประสบความสำเร็จ ลากยาวไปยันมีสามีถึงห้าคน และมีลูกกับสามีแต่ละคนอีกด้วย หนำซ้ำยังติดเหล้า เล่นการพนัน และลงท้ายด้วยการติดโรคร้ายทางเพศสัมพันธ์
ในแต่ละครั้งที่ “ทองเนื้อเก้า” ถูกนำมาทำใหม่ ก็จะใช้นักแสดงที่มากฝีมือในยุคนั้นมารับบท ส่วนใหญ่จะเป็นนางเอกแถวหน้า เนื่องด้วยความท้าทายของตัวละคร ความครบรส ตั้งแต่ภาพสวยงาม จนไปถึงจุดต่ำสุดของชีวิต นักแสดงคนนั้นก็ต้องเอาให้อยู่ และในแต่ละเวอร์ชั่น ก็ต้องยอมรับความสามารถของทุกคน ที่แสดงออกมาได้ถึงเครื่องมากเลยแม่
ทีนี้เรามาว่ากันด้วยเรื่องของลำยองกันหน่อยดีกว่าเธอ
ลำยอง เป็นผู้หญิงที่สวย มีรูปเป็นทรัพย์ก็ว่า และด้วยการที่ใช้เพียงความสวย ก็ทำให้ลำยองถลำลึกไปยังด้านที่ไม่สวยงามของชีวิตจนล้มเหลว ลำยองที่เริ่มใช้ความสวย ขยันหาสามีใหม่ไปเรื่อยไม่จบไม่สิ้น เพลิดเพลินกับอบายมุขสารพัดรูปแบบ เริ่มจากการดื่มสุราจนเมามาย เล่นไพ่ในบ่อน จนกระทั่งนางเปิดบ้านเป็นบ่อนการพนันเสียเอง ถึงขั้นลืมหาอาหารหรือจะตระเตรียมที่อยู่ให้แก่วันเฉลิมและลูกเล็กที่ติดสามีมาหลายคนอีกด้วย วันเฉลิมจึงต้องรับบทลูกชายอันแข็งแกร่ง พี่ชายที่แสนดี ไปอาศัยวัดเป็นที่พักพิงและกินข้าวเหลือในบาตรของพระ ซึมซับคำสอนจากวัดมาเยียวยาใจ และหาวิธีทำงานเลี้ยงน้องต่างพ่อไปให้ได้
ซึ่งจากเนื้อเรื่องนี้ เราชัดเจนแล้วว่า ลำยอง คือ “ผู้หญิงที่มีปัญหา” ไม่ว่าจะมองว่าพฤติกรรมที่มีปัญหาของนาง เกิดจากนิสัยส่วนตัว การตามใจของแม่ หรือจะสภาพแวดล้อมก็ตาม ซึ่งจากบทประพันธ์และตัวเนื้อละครผลักให้เป็นเรื่องของเวรกรรมส่วนบุคคลก็ตามที แต่ใดใด ลำยองนางเป็นคนมีปัญหา และนางไม่สามารถควบคุมดูแลตัวเองได้ ถลำลึกไปจนถึงครอบครัว และลูก
และบาปบุญ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับลำยองที่เห็นชัดๆอยู่และเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องโดยตรงเลยคือ
“การเลี้ยงลูก”
คือแบบว่า ในโลกจริง (พาทุกคนกลับเข้ามา) เมื่อเด็กสักคนถูกทารุณกรรมในครอบครัว คนเป็นพ่อหรือแม่ สูญเสียประสิทธิภาพในการปกครอง ดูแลลูกหลาน และเริ่มกระทำความรุนแรงในครอบครัวกันเอง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะเข้าชาร์จทันที มีความเคาะประตูบ้านแน่นอน จับพ่อแม่ แยกกับลูก และเริ่มกระบวนการสอบสวน นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ FED หรือ FBI ต้องวิ่งกันวุ่นแล้วนะแม่นะ
แต่ในลำยองก็คือว่า…
จากในบทประพันธ์และละคร ลำยองมีอาการติดสุราและพนัน ไม่สามารถควบคุมการใช้จ่าย และยังมีโรคติดต่อร้ายแรง ซึ่งนั่นสามารถทำให้เธอสูญเสียสิทธิการดูแลวันได้อย่างง่ายดาย และเขาก็อาจจะต้องไปอยู่กับสันต์ ผู้เป็นพ่อแทน ซึ่งดูเหมือนว่าสันต์เอง จะมีภาวะที่พร้อมดูแลวันมากกว่า
จริงๆแล้วปัญหาต่างๆในบ้านของลำยอง มักจะมีคำพูดตัวละครรายล้อมพูดไปในทำนองว่า “มันเป็นเรื่องของครอบครัวลำยองมัน” และตัวลำยองเอง ก็พอใจที่จะมีวันคอยอยู่รับใช้ เพื่อเรียกร้องประโยชน์เข้าตัวอยู่เสมอเสียด้วย ซึ่งการผลักให้ปัญหานี้กลายเป็น “เรื่องส่วนตัว” ในครอบครัว อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันมากเลยทีเดียวเธอ
ซึ่งในยุคหนึ่ง ที่บทประพันธ์และละครนี้เคยทำออกมาเมื่อก่อน อาจจะพอเป็นคอนเทนต์เพื่อชี้ให้คนเห็นถึงความล้มเหลวของคนเป็นแม่ รวมถึงขับชูให้คนดูละครตระหนักถึงความกตัญญูของลูก (ผู้ชาย) ที่ควรจะมีต่อแม่ โดยไม่สนว่าแม่จะเป็นคนเช่นไร แถมลงท้ายด้วยการอุ้มชูศาสนาไปอีกหนึ่งแมทช์ ละครเพื่อคุณธรรมสอนใจ ในสังคมที่เรียกได้ว่าศีลธรรมของคนเป็นพ่อเป็นแม่ช่างต่ำทรามเสียนี่กะไร
แต่เมื่อละครเรื่องนี้ถูกรีเมค และรีรันซ้ำเข้าไปอีกในยุคนี้ ที่ระบบการตรวจสอบ และเข้าถึงการจัดการปัญหาครอบครัว เป็นงานที่สำคัญของหลายสังคม การที่ความกตัญญูจะงอกเงยจากจุดต่ำสุดของปัญหาสังคม จากคนที่โดนทารุณกรรมแต่เด็ก จากแม่ที่ติดเหล้า ติดการพนัน แล้ว เราจะคาดหวังให้เด็กคนนั้น กลายเป็นคนที่เติบโตมาเป็น “ทองเนื้อเก้า” เข้าสู่ร่วมกาสาวพัสตร์ ทำนุบำรุงสังคมและศาสนา กลายเป็นคนดีของสังคมต่อไปได้…
เธอก็ลองบวกลบคุณหารในหัวแล้ว คิดว่าได้หรือไม่อย่างไรแล้วซิ
อย่างไรก็ตาม นิยามความเป็น “เด็กดี” ของวันเฉลิม ยังคงถูกใช้เป็นบรรทัดฐานของผู้ใหญ่ และแฟนละครมากมาย ที่พร้อมให้กระแสตอบรับที่ดีต่อละครเรื่องนี้ ไม่ว่าจะกี่เวอร์ชั่นก็ตาม ทำให้เห็นเลยว่าสังคมเรา ยังโหยหา “ทองเนื้อเก้า” ที่จะผุดขึ้นมาจากที่ไหนซักแห่งของสังคมที่เต็มไปด้วยความเลวทรามนะแม่นะ
แหม… ช่างน่าพิสมัยเสียไม่มี
เหยี่ยวเทย รายงาน