เนื้อหาในหมวด หนัง-ละคร

The Lost Daughter ลูกหลง แม่เหลิง โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

The Lost Daughter ลูกหลง แม่เหลิง โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

สภาวะความเป็นแม่ เป็นความอิ่มเอิบที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันหนักอึ้ง บางครั้งหนักอึ้งเกินกว่าผู้หญิงบางคนจะรับมือได้ คำพูดที่ล้อกันติดปากว่า “แม่ก็คือแม่” สร้างภาพราวกับว่า “ความเป็นแม่” ช่างยิ่งใหญ่ไร้มลทินและอยู่เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งนั่นช่างห่างไกลจากสภาพความเป็นจริงเสียเหลือเกิน

ภาพยนตร์เรื่อง The Lost Daughter (ใน Netflix) ทำให้เห็นว่าการรับหน้าที่เป็นแม่ เป็นทั้งคำอวยพรและคำสาป อาจจะฟังดูแรง แต่ความโหดร้ายซึ่งหน้าของโลกความเป็นจริงแห่งชีวิตครอบครัว เป็นสิ่งที่หนังเผยให้เราเห็นเต็มตา คำถามสำคัญของหนัง (รวมทั้งนิยายที่เป็นจุดเริ่มต้น) คือ ผู้หญิงคนหนึ่งต้องเสียสละมากแค่ไหนเพื่อลูก และถ้าหากเธอเลือกชีวิตตัวเอง เลือกเสรีภาพหรือความปรารถนาส่วนตัว ก่อนเลือกความรับผิดชอบในฐานะแม่ นั่นทำให้เธอเป็นแม่ที่แย่จนให้อภัยไม่ได้ หรือแปลว่าเธอไม่คู่ควรกับการเป็นแม่หรือไม่

The Lost Daughter เป็นงานกำกับเรื่องแรกของแมกกี จิลเลนฮาล นำแสดงโดยดาราออสการ์ โอลิเวียร์ โคลแมน ในบท เลดา หญิงวัยกลางคนและอาจารย์ด้านวรรณกรรมที่ไปพักผ่อนริมทะเลที่กรีซ ที่เมืองชายหาดนั้น เลดาพบกับครอบครัวอเมริกันท่าทางละม้ายคล้ายครอบครัวมาเฟีย ซึ่งรวมทั้งนิน่า (ดาโกตา จอห์นสัน) แม่ยังสาวที่มีลูกเล็กมาเที่ยวด้วย การพบกับครอบครัวของนิน่า และเหตุการณ์ต่างๆ อันระอุไปด้วยลางบอกเหตุและความน่าสงสัย ทำให้เลดาหวนคิดถึงตัวเองสมัยยังเป็นแม่วัยสาว กำลังเลี้ยงลูกมือเป็นระวิงในขณะที่พยายามเติบโตทางสายงานวิชาการไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างตัวเธอกับลูกสาวสองคนของเธอ อันนำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญที่ยังหลอกหลอนความรู้สึกของเธอมาจนทุกวันนี้

เริ่มต้น เลดาเป็นตัวละครที่ผู้ชมติดตามและเอาใจช่วย เพราะเราเห็นหนังจากมมุมมองของเธอเป็นหลัก แต่กลวิธีในการเล่าเรื่องที่หนังค่อยๆ เผยออกมา ทำให้เราเริ่มรับรู้ได้ว่าเลดามีพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้ใจ (ไม่บอกมากเพราะจะสปอยล์) ช่วงแฟลชแบ็คย้อนกลับไปเล่าเรื่องของเธอในวัยสาวหลังจากมีลูกเล็กสองคน ยิ่งทำให้ตัวตนและนิสัยของเธอถูกตั้งคำถาม เพิ่มความกระอักกระอ่วน และทำให้ตัวละครนี้มีความขัดแย้งภายใน เป็นการวางหมากให้คนดูทั้งเห็นใจและไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเธอ นำไปสู่คำถามที่ว่าไว้ตั้งแต่ต้นว่า ผู้หญิงจะสามารถเลือกเสรีภาพในการใช้ชีวิตได้มากแค่ไหนเมื่อเธอกลายเป็นแม่คน

หนังซุกซ่อนความลับไว้มากมายและค่อยๆ เผยออกมาทีละน้อย นี่ยังเป็นหนังที่ท้าทายค่านิยมการยกย่องเชิดชูเพศแม่ และทำให้เห็นว่ามนุษย์มีความซับซ้อนมากกว่านั้น ความดีความชอบส่วนใหญ่ ผู้เขียนขอยกให้กับนิยายตั้งต้นชื่อเดียวกัน The Lost Daughter เป็นนิยายของนักเขียนอิตาลีที่โด่งดังที่สุดในยุคนี้ ชื่อ เอเลนา เฟอรันเต (ซึ่งเป็นนามปากกา และจนทุกวันนี้ยังไม่มีใครกล้ายืนยันว่าตัวตนที่แท้จริงของเธอคือใครกันแน่) พอมาเป็นภาพยนตร์ มีการปรับบทและโลเคชั่นบ้าง แต่โครงเรื่องหลักและการสร้างตัวละครเลดา ยังคงเป็นไปตามหนังสือ ว่าง่ายๆ คือถึงจะเป็นหนังอเมริกัน แต่หนังของจิลเลนอาลยังคงความเป็นหนังยุโรปในท่าที ในคำพูดคำจาและความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ของตัวละคร

เอลเนา เฟอรันเต โด่งดังทั่วโลกเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้จากนวนิยายชุดจตุภาค มี 4 เล่มต่อกัน ได้แก่ My Brilliant Friend, The Story of a New Name, Those Who Leave and Those Who Stay และ The Story of a Lost Child (สังเกตุว่าเล่มสุดท้าย ชื่อคล้ายๆ กับ The Lost Daughter) นิยายชุดสี่เล่มนี้เล่าเรื่องเพื่อนหญิงวัยเด็กสองคน ที่เติบโตมาพร้อมๆ กันในย่านเสื่อมโทรม และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีครอบครัวและเผชิญหน้ามรสุมชีวิตต่างๆ โดยมีฉากหลังเป็นเมืองเนเปิลส์ เมืองท่าทางใต้ของอิตาลีที่ยังคงความดิบกร้าน ผู้เขียนแนะนำสุดตัวเลยว่าให้ลองหามาอ่าน ไม่ว่าจะเป็นฉบับแปลภาษาอังกฤษหรือแปลไทย เพราะนี่เป็นนิยายชุดที่ดีที่สุดในรอบหลายปี เข้มข้นในเนื้อหาและซับซ้อนในการสร้างตัวละครผู้หญิง

กลับมาที่หนัง The Lost Daughter แน่นอนว่าการคุมโทน สร้างบรรยากาศของความลึกลับ อึดอัด และการกำกับนักแสดง ทำให้งานนี้ของแมกกี จิลเลนฮาล มีน้ำหนักและรักษาจิตวิญญาณของหนังสือไว้ได้ การแสดงของโอลิเวียร์ โคลแมน ก็เช่นกัน นี่เป็นอีกครั้งที่นักแสดงอังกฤษคนนี้สร้างตัวละครที่มีอารมณ์และอดีตที่ทับซ้อนกันหลายชั้น และค่อยๆ พาเรา “ปอกเปลือก” มิติเหล่านี้ออกมาทีละน้อยๆ โคลแมนไม่ได้แสดงด้วยเทคนิคแบบฮอลลีวูด (นึกถึงเมรีล สตรีพ หรือล่าสุดคือ คริสเตน สจ๊วร์ต ใน Spencer) คือไม่ได้ express ตัวตนหรือใช้ภาษากายอย่างโจ่งแจ้งในการประกอบสร้างตัวละคร แต่เธอใช้ความแนบเนียน การสร้างสัญญาณทางความรู้สึก และใช้ความเข้าใจในตัวละครอย่างลึกซึ้ง มาลุ้นกันว่าเธอจะได้เข้าชิงออสการ์อีกครั้งจากบทนี้หรือไม่

ถ้าจะบอกว่า The Lost Daughter เป็นหนังที่เหมาะกับการนั่งชมทั้งครอบครัวก็น่าจะได้ โดยเฉพาะกับคุณแม่ (หรือคุณแม่อาจจะชมกับลูก) ในบริบทไทย คำถามที่หนังตั้งกับคนดูอาจจะยิ่งดูรุนแรงและฝืนขนบ แต่ความเป็นสากลของเรื่องเล่าเรื่องนี้ น่าจะทำให้เกิดการถกเถียงอย่างออกรสในบรรดาคนดูที่พร้อมเปิดใจกว้างและมองเห็นความขัดแย้งภายใน อันเป็นรากเหง้าของมนุษย์ทุกคน

\

"หม่ำ เท่ง โหน่ง" รวมตัวในรอบ 15 ปี แฉกันเองเบื้องหลัง "นากรักมาก ม๊ากมาก"

 "เท่ง" ปัด "โหน่ง" โต้ 'นี่ไม่ใช่ล้างแค้น แต่เป็นอะไรน่ารักๆ' หม่ำเผย 'ผมแทบไม่ได้พูดเลย' เปิดสัมภาษณ์เบื้องหลังสามตลกตัวพ่อแฉกันสะบัดหนัง "นากรักมาก ม๊ากมาก"

ทำความรู้จัก \

ทำความรู้จัก "ทีมผู้รอดชีวิต" เปิดตัวละครหลักใน "Omniscient Reader" ก่อนดูจริง

เปิดตัวละครหลักใน "Omniscient Reader: The Prophecy อ่านชะตาวันสิ้นโลก" ก่อนดูจริง 6 ผู้กุมชะตา 1 นักอ่านผู้ล่วงรู้ทุกสิ่ง รวมทีมฝ่าด่านทดสอบโคตรนรกเดิมพันชะตาทั้งโลกมนุษย์ โลกทั้งใบกลายเป็นหายนะ ผู้รอดชีวิตเท่านั้นที่สามารถพลิกชะตา 31 กรกฎาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์

\

"ธี่หยด 3" ปล่อยโปสเตอร์ "พี่ยักษ์-น้องยี่" นำทีมประจันหน้าผีร้าย

เปิดโปสเตอร์ “พี่ยักษ์ - น้องยี่” พร้อมประจันหน้า เสียงเพรียกแห่งความตาย ปลุกผีร้ายให้กลับมา! ใน “ธี่หยด 3” 1 ตุลาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์

Superman 2025 โดย เจมส์ กันน์ เตรียมบินในแบบใหม่ที่ไม่เคยเห็น

Superman 2025 โดย เจมส์ กันน์ เตรียมบินในแบบใหม่ที่ไม่เคยเห็น

ตัวอย่างล่าสุด “Superman” 2025 เปิดตำนานใหม่ของคลาร์ก เคนท์ กับศรัทธาในมนุษยชาติ โดย เจมส์ กันน์ เตรียมพร้อมออกพุ่งทะยาน 10 กรกฏาคม ในโรงภาพยนตร์

\

"ท่าแร่" ตัวอย่างเต็ม หมอเหยา vs บาทหลวง เปิดมหาศึกแห่งความเชื่อ

เมื่อพิธีกรรมตะวันตกต้องเจอกับไสยศาสตร์อีสาน! โคตรสะพรึง! ตัวอย่างเต็ม “ท่าแร่” ต่างขั้วศรัทธา เผชิญหน้าความสยอง ความเชื่อไหนจะขับไล่ พิธีกรรมไหนจะหยุดยั้ง 7 สิงหาคมนี้ หลอนลั่นโรงทั่วประเทศ