เนื้อหาในหมวด หนัง-ละคร

นั่งรถไฟช้าไปหาเธอ กับ Compartment No. 6 โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

นั่งรถไฟช้าไปหาเธอ กับ Compartment No. 6 โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

ตั้งชื่อให้ดูเรียกแขกไปอย่างนั้นล่ะ วันนี้อยากจะพูดถึงหนังที่เข้าโรงฉายอยู่ตอนนี้ที่ House Samyan เป็นหนังเล็กๆ จากประเทศฟินแลนด์ แต่สถานการณ์ในหนังเกิดในรัสเซียทั้งหมด (“รัสเซีย” คำที่ทำให้ทุกคนสั่นสะท้านในตอนนี้) Compartment No. 6 เป็นงานของผู้กำกับ ยูโฮ คุสมาเน่น อธิบายง่ายๆ ว่าเป็นหนังรักระหว่างการเดินทางโดยรถไฟ ผ่านเมืองขาวโพลนอันหนาวเหน็บและภูมิประเทศเวิ้งว้าง และเช่นเดียวกับหนังหลายเรื่องที่ใช้การเดินทางเป็นตัวขับเคลื่อน นี่เป็นหนังที่พูดถึง “การค้นพบตัวเอง” ของหญิงสาวที่เป็นตัวเอก

ลอร่า (เซดี ฮารา) นักศึกษาสาวจากฟินแลนด์ที่กำลังเรียนภาษาที่กรุงมอสโคว์ อาศัยอยู่กับนักเขียนหญิงคู่รักที่ดูจะจัดจ้านในวงสังคมมากกว่า หนังแสดงให้เห็นตั้งแต่ฉากแรกว่า ลอร่าเป็นหญิงสาวที่กำลังพยายามหาที่ทางของตัวเองในโลก และไม่ชัดเจนว่าตัวเองสนใจอะไรหรืออยากทำอะไรต่อไป เราสังเกตได้ว่าลอร่าใช้วิธี "จำคำพูดคนอื่น"”มาตอบคำถามที่ตัวเธอเองยังไม่มีคำตอบ การวาดภาพบุคลิกลอร่าให้เราเห็นได้ในไม่กี่ฉากแรก เป็นความสามารถของผู้กำกับ (ด้วยการใช้เฟรม กล้อง และเพลงประกอบ) และความสามารถนี้จะยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเธอตัดสินใจเดินทางทางรถไฟไปยังเมืองห่างไกลใกล้ขั้วโลกเหนือของรัสเซีย ชื่อเมืองมูมันส์ เพื่อไปชมภาพสลักหินอายุ 7,000 ปี

ทริปนี้แฟนของเธอควรจะร่วมเดินทางไปด้วย แต่กลับเทเธอในนาทีสุดท้าย ลอร่าต้องเดินทางคนเดียวทางรถไฟที่ดูแล้วสภาพไม่ได้ดีกว่ารถไฟไทยสักเท่าไหร่ แถมยังเป็นทริปที่ต้องอาศัยอยู่ในตู้นอนแคบๆ หลายวันหลายคืน ผ่านทิวทัศน์ขาวโพลนและแทบจะไร้ผู้คน ผ่านเมืองที่สภาพซอมซ่อ (หนังไม่ได้บอกชัดเจนว่าเป็นเรื่องราวใน ค.ศ. ใด แต่เราอนุมานจากสภาพแวดล้อมและของประกอบฉากได้ว่า นี่เป็นช่วงที่สภาพโซเวียตเพิ่งแตกได้ไม่นาน อาจจะราวต้นทศวรรษที่ 2000) ท่าทีอันลังเลของลอร่า ทำให้เราเข้าใจว่าเธอไม่ได้สนใจหรือ “อิน” กับแหล่งโบราณคดีไกลสุดขอบโลกนี้จริงๆ หรอก เธอเพียงแค่ต้องการไปไหนสักที่ และต้องการผัดผ่อนแรงกดดันที่ตัวเองต้องตอบคำถามว่า “แล้วจะเอายังไงต่อกับชีวิต” การเดินทางเป็นเพียงข้ออ้างของเธอเท่านั้น

เพื่อนร่วมตู้นอนหมายเลข  6 ของลอร่า เป็นชายหนุ่มรัสเซียชื่อโยฮา (ยูรี บอริซอฟ) สกินเฮด กักขฬะ กินอาหารเลอะเทอะ เมาปลิ้นตั้งแต่คืนแรก ทำเอาลอร่าแทบอยากจะเปลี่ยนใจล้มเลิกทริป แต่เมื่อสถานการณ์จำให้เธอต้องแชร์ตู้นอนกับชายหนุ่ม ทำให้ทั้งสองเริ่มญาติดีต่อกัน ไปตู้เสบียงด้วยกัน ลงไปแวะพักกลางทางด้วยกัน ดวดวอดก้ากัน (กินเท่าไหร่ก็คงไม่พอ เพราะข้างนอกนั่นดูหนาวมากๆ) และเริ่มเห็นอารมณ์เศร้าเหงาลึกๆ ที่ซ่อนอยู่ในต่างฝ่าย โยฮาบอกว่าเขากำลังจะไปทำงานเหมืองที่เมืองมูมันส์ และเขาไม่เข้าใจว่า ลอร่าจะไปดั้นด้นเดินทางหลายคืนในรถไฟเก่าๆ เพื่อไปดูภาพสลักหินโบราณทำไมในสถานที่อันห่างไกลขนาดนั้น “ดูแล้วก็กลับ เท่านั้นเองเหรอ”   

ฟังเผินๆ นี่ไม่ต่างอะไรจากหนัง rom-com ที่พระเอกนางเอกเป็นพ่อแง่แม่งอนกันในตอนแรก ถึงขั้นเกลียดขี้หน้ากัน แต่สุดท้ายกลับมาลงเอยกัน  แต่สิ่งที่ Compartment No. 6 แสดงให้เราเห็น คือความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ของคนสองคนที่ถูกโชคชะตาบังคับให้ร่วมทางกัน ค่อยๆ พัฒนาความเห็นอกเห็นใจกันผ่านการแชร์ช่วงเวลาเล็กๆ และทำให้ทั้งคู่มองมองเห็นว่าพวกเขาต่างเป็นเพียงคนหลงทางที่คิดไปเองว่าเรามีจุดหมายในชีวิต (และมีจุดหมายที่ปลายสถานีมูมันส์) แต่จริงๆ แล้วชีวิตอาจไม่เคยมีจุดหมาย สะเปะสะปะ เป็นการเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด เป็นทริปเปล่าเปลี่ยวไร้ความหมายไม่ว่าเราจะให้ความสำคัญกับมันเท่าไหร่ก็ตาม เหมือนภาพสลักหินที่อาจดูมีค่า และต้องใช้ความพยายามราวกับข้ามเส้นขอบฟ้าเพื่อไปถึง แต่สุดท้ายแล้วลอร่าก็ได้แต่เพียงดูๆ มองๆ ก้อนหินอะไรสักก้อนเท่านั้นเอง

แต่ลอร่ากับโยฮาเรียนรู้ว่า สิ่งที่ทำให้ชีวิตมีค่าคือเพื่อนร่วมทาง และการเห็นคุณค่าของช่วงเวลาที่เปี่ยมความทรงจำ เพราะความหมายที่แท้จริงของทุกการเดินทาง (หรือของชีวิต) คือสิ่งนั้น คือประสบการณ์ และการเห็นเศษเสี้ยวชีวิตของมนุษย์อีกคน ไม่ว่าเขาหรือเธอจะดูต่างจากเราแค่ไหนในตอนแรก

ผู้กำกับ ยูโฮ คุสมาเนน เคยมีหนังอันเป็นที่รู้จักกันพอสมควรเรื่องก่อนหน้านี้ เป็นหนังนักมวยชื่อ The Happiest Day in the Life of Olli Maki หนังชีวิตว่าด้วยนักมวยที่ไม่ได้มีความทะเยอทะยาน แต่ต้องติดกับอยู่ในวงเวียนของการเป็นนักกีฬาอาชีพ ทั้ง The Happiest Day in the Life of Olli Maki และ Compartment No. 6 ต่างถูกเลือกเป็นตัวแทนของประเทศฟินแลนด์ส่งไปชิงออสการ์ (ซึ่งไม่ได้เข้ารอบ)

Compartment No.6 โดดเด่นอย่างไม่โฉ่งฉ่าง เป็นหนังที่ต้องละเลียด เพราะมันสามารถละลายน้ำแข็งแห่งความเย็นยะเยือกในหัวใจด้วยความอบอุ่นจากที่ที่เราคาดไม่ถึง