[เปิด Netflix มารีวิว] The Turning คฤหาสน์ประสาทจะกิน
หญิงสาวแสนสวยที่ต้องกลายมาเป็นพี่เลี้ยงจำเป็นในคฤหาสน์ห่างไกลผู้คน พล็อตประมาณนี้คนดูก็น่าจะพอเดาทางออกกันแล้วว่า พออยู่ไปสักระยะ สาวคนนี้จะต้องเจอดีจากความลับบางอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่ในความมืด และนั่นคือเรื่องราวของ The Turning
The Turning หรือชื่อภาษาไทยว่า ปีศาจเลี้ยงลูกคน จริงๆแล้ว หนังเข้าฉายในอเมริกาตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2563 แต่ทาง Netflix เพิ่งเช่าสิทธิ์ในการสตรีมมิ่งลงฉายทางแพลตฟอร์มเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยหนังเล่าเรื่องราวของเคท (แมคเคนซี เดวิส) หญิงสาวที่ประสบสภาวะการเงินฝืดเคือง ทำให้เธอสมัครเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงของเด็กๆตระกูลแฟร์ไชด์ในคฤหาสน์ขนาดมหึมา คล้ายกับพระราชวังในยุโรปที่เต็มไปด้วยห้องหับมากมายราวกับเขาวงกต
เมื่อเคทเดินทางมาถึงคฤหาสน์หลังนี้ เธอได้พบมิซซิสกรอซ (บาร์บาร่า มาร์เทน) คุณป้าแม่บ้านที่ดูไม่ค่อยเป็นมิตร แต่เนื่องจากเธอทำงานรับใช้ตระกูลแฟร์ไชด์มาช้านาน ทำให้เธอเป็นคนเจ้าระเบียบและตามใจเด็กๆแฟร์ไชด์อย่างมาก เคทได้พบกับฟลอร่า (บรูกลิน พรินซ์) เด็กหญิงผู้เงียบขรึม และไมลส์ (ฟินน์ วูลฟ์ฮาร์ด) พี่ชายอารมณ์ร้อน โดยเด็กทั้งสองคนดูเหมือนจะมีความลับอะไรบางอย่างปกปิดเอาไว้
หลังจากเข้ามาพักอยู่ในคฤหาสน์หลังนี้ได้ไม่นานนัก เคทก็เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงามืดที่วูบไหวและซุ่มโจมตียามเธอเผลอ อาการหลับฝันร้ายเห็นภาพนิมิตเกี่ยวกับอดีตอันน่าสะพรึงกลัวของคฤหาสน์แห่งนี้ ยังไม่รวมไปถึงพฤติกรรมของเหล่าเด็กๆที่ชอบกลั่นแกล้งเธอด้วยวิธีการอันน่าตระหนกตกใจ อาทิ เอาหุ่นโชว์ไปลงโยนคว่ำหน้าในสระว่ายน้ำกลางดึก เพื่อหลอกเคทว่ามีคนจมน้ำ! เป็นต้น ยิ่งเคทพยายามค้นหาความจริงมากขึ้นแค่ไหน แค่กลับพบว่าจริงๆแล้วความลับของสถานที่แห่งนี้อาจจะมีอะไรมากกว่าที่คิด
น่าเสียดายที่การดัดแปลงนวนิยายคลาสสิกของ “เฮนรี่ เจมส์” เรื่อง "The Turn of the Screw" ซึ่งถูกเขียนขึ้นมาตั้งแต่ปีค.ศ.1898 หรือประมาณเมื่อ 124 ปีก่อน นำมาปัดฝุ่นเล่าใหม่ในมุมของภาพยนตร์ ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ไปจากพล็อตแนวหนังพี่เลี้ยงเด็กถูกไปอยู่ในสถานที่ผิดที่ผิดเวลา ยกตัวอย่างหนังใกล้ๆตัวอาทิ The Boy ที่ว่าด้วยพี่เลี้ยงเด็กที่ต้องไปดูแลคฤหาสน์และมีกฏว่าเธอต้องนำตุ๊กตากระเบื้องมาคอยดูแลอย่างพินอบพิเทา ไม่อย่างนั้นเธอจะเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ยังดูจะเป็นการ “ดัดแปลง” ที่ร่วมสมัยมากกว่า
สิ่งที่ทำให้ The Turning ดูจะมีอะไรพิเศษขึ้นมาก็คือช่วงเวลาหลังการหักมุมของเรื่อง ที่ชวนให้คนดูหวนกลับไปคิดต่างๆนานาว่าตกลงแล้ว เกิดอะไรขึ้นกับนางเอกของเรื่องกันแน่ สิ่งที่เราได้ชมมาทั้งหมดเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แต่กลายเป็นว่าเมื่อเราลองวิเคราะห์ดีๆแล้ว วิธีการจบแบบที่หนัง “เลือก” เหมือนจะเป็นการสับขาหลอกคนดูแต่เอาจริงมองอีกมุมก็ชวนให้เราคิดเช่นกันว่าหนังกำลังดูถูกสติปัญญาคนดูอยู่เหมือนกันนะ
อยากรู้ว่าตกลงแล้วปลายทางของ The Turning เป็นอย่างไรก็ไปเปิดสตรีมมิ่งกันได้เลย