เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

อารมณ์เสียเพราะ “รถติด” ทุกวัน ส่งผลร้ายอย่างไรกับร่างกายของเราบ้าง?

อารมณ์เสียเพราะ “รถติด” ทุกวัน ส่งผลร้ายอย่างไรกับร่างกายของเราบ้าง?

การเจอรถติดบ่อยๆ ทำให้เครียด, ลดการออกกำลังกาย, และเพิ่มโอกาสเกิดโรคหัวใจ นอกจากนี้ยังสูดดมมลพิษจากรถ เสี่ยงต่อโรคปอด และทำให้นอนน้อยลง ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและร่างกายในระยะยาว

นอกจากข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่นำเสนอข่าวเจ้าของรถหัวร้อน ทะเลาะกัน และทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันเพราะเรื่อง “ขับรถ” แล้ว เชื่อว่าชาวกรุงอย่างเราๆ ที่ต้องฝ่ารถติดไปกลับจากที่ทำงานทุกวัน คงจะทราบกันดีว่าการจราจรอันแออัดบนท้องถนนของเมืองไทย เป็นด่านทดสอบความอดทนที่มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน แต่การที่เราต้องเจอเรื่องแบบนี้ทุกวัน รู้ไว้เลยว่ามีผลกระทบต่อร่างกายไม่น้อยเหมือนกัน

อารมณ์ขึ้นทุกครั้งที่ขับรถ เป็นเรื่องปกติหรือเปล่า?

บางคนเมื่ออยู่ในที่ทำงาน หรือที่บ้านก็เป็นคนสุภาพเรียบร้อย ร่าเริงแจ่มใสดี แต่เมื่อไรที่อยู่หลังพวงมาลัย กลับกลายเป็นเหมือนอีกคนที่ไม่ใช่ตัวของพวกเขาเองขึ้นมาเสียอย่างนั้น บ่นกระปอดกระแปด สารพัดคำหยาบพรั่งพรูออกมาอย่างไหลลื่นเสียอย่างนั้น คุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการคล้ายๆ กันหรือเปล่า? แล้วสงสัยหรือไม่ว่าทำไมเราถึงเป็นแบบนั้น?

จากผลสำรวจของสมาคมรถยนต์แห่งอเมริกา ระบุว่า ราว 80% ของคนที่ขับรถเคยแสดงอารมณ์โกรธ และไม่พอใจออกมาระหว่างการขับรถบนท้องถนน อย่างน้อย 1 ครั้งในรอบปี Stan Steindl นักจิตวิทยา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย Queensland กล่าวว่า อารมณ์เกรี้ยวกราดที่เกิดขึ้นระหว่างขับขี่บนท้องถนนเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันจนไม่ทันระวังตั้งตัว เช่น ถูกปาดหน้า ถูกแซง หรือเบรกกะทันหัน ในสถานการณ์ที่เราจะหนีออกไปจากตรงนั้นไม่ได้ จึงทำให้เราจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อเป็นการตอบกลับสถานการณ์นั้นด้วยตัวเอง สิ่งที่เราทำออกไปโดยสัญชาตญาณของเรา คือการกร่นด่าเพื่อปลดปล่อยความไม่พอใจที่เกิดขึ้น เมื่อมีใครมาแซงหน้า หรือทำให้เราไปข้างหน้าได้ช้าลง เราจึงมีความต้องการที่จะกำจัดเขาออกไปให้พ้นทาง

ใจเย็นแค่ไหน ก็อารมณ์เสียได้ หากขับรถ

2 ใน 3 ของคนที่ขับรถบนท้องถนนยืนยันว่าตัวเองเป็นคนขับรถที่ดี มีมารยาท และรักษากฎจราจรตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อเราเชื่อว่าตัวเองขับรถดีแล้ว แต่ยังถูกปฏิบัติไม่ดีกลับมา ถูกคนที่ฝ่าฝืนกฎจราจรเอาเปรียบ หรือทำให้การเดินทางของเราไม่สะดวกราบรื่นอย่างที่ควรเป็น จึงเกิดอารมณ์ไม่พอใจขึ้นมาได้ง่ายๆ รู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม และอยากต่อว่าคนที่แสดงการขับรถที่ไม่ดีออกมา เช่น “ขับรถประสาอะไร!” เป็นต้น อารมณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นในในสถานการณ์อื่นๆ เช่น มีคนมาแซงคิวหน้าร้านอาหาร หรือคุณต้องเปิดประตูลิฟท์รอคนอื่นในจังหวะที่คุณรีบมากๆ แต่สิ่งที่ทำให้คุณกลายเป็นอารมณ์ร้อน และขี้โมโหจนเผลอหลุดปากด่าทอออกมาเป็นคำพูด เพราะคุณอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวอย่างในรถยนต์ของตัวเอง ที่คุณมั่นใจว่าคุณจะบ่นอะไรออกมาก้ได้โดยที่ไม่มีคนข้างนอกได้ยิน ดังนั้นเมื่อคุณรู้สึกว่าพื้นที่ในรถยนต์เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่คุณจะพูดอะไรก็ได้ จึงทำให้คุณเผลอหลุดคำด่าทอ หรือคำหยาบรุนแรงออกมาได้อย่างไม่รู้สึกผิดมากนัก

อารมณ์โกรธระหว่างขับรถ ทำลายสุขภาพ?

จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คณะสาธารณสุข ในปี 2014 พบว่า เมื่อเราแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดออกมา ส่งผลต่อร่างกายของเราได้อย่างรวดเร็ว เพราะความเครียดจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น รวมไปถึงทำให้การเต้นของหัวใจเร็วขึ้น การไหลเวียนของโลหิตเร็วขึ้น นั่นจึงทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นในช่วงเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจเป็นโรคประจำตัวมีอาการของโรคกำเริบขึ้นมาได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดปัญหาหลอดเลือกหัวใจ และหลอดเลือดสมองอุดตันได้อีกด้วย

หากคุณคิดว่าคุณมีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่ได้มีโรคประจำตัวอะไรที่น่าเป็นห่วง คุณอาจจะประมาทกับร่างกายของตัวเองเกินไป เพราะมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบว่าตัวเองกำลังมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ รวมถึงหลอดเลือดหัวใจตีบตัน จนมีความเสี่ยงที่จะมีอาการหนักขึ้นเมื่อมีอารมณ์โกรธ หรือมีความเครียดระหว่างขับรถได้ ดังจากที่เราจะเคยเห็นกันมาในข่าวว่าพบผู้ที่มีอาการโรคหัวใจกำเริบขณะขับรถ และไม่สามารถควบคุมการขับขี่ได้ จนทำให้รถชนจนเสียชีวิตมาแล้ว

วิธีลดอารมณ์โกรธขณะขับขี่

จริงๆ แล้วนอกจากเรื่องของสุขภาพที่ต้องกังวลแล้ว อารมณ์โมโหอาจทำให้คุณขาดสติจนอาจกระทบถึงความปลอดภัยในการขับขี่ได้อีกด้วย ดังนั้นคุณจึงควรรู้วิธีสงบสติอารมณ์ขณะขับรถให้ดี ไม่ว่าจะใช้กับตัวเอง หรือช่วยให้คนขับที่นั่งข้างๆ คุณค่อยๆ ใจเย็นลงได้

  • หายใจเข้าออกช้าๆ ลองหยุดคิดถึงเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วโฟกัสที่การหายใจเข้าออกลึกๆ ช้าๆ จะนับตัวเลข 1-10 ไปด้วยก็ได้ เพื่อให้เราลืมถึงเหตุการณ์ที่ทำให้โมโหเมื่อชั่วครู่ไปสักพัก

  • เปิดเพลงช้าๆ เย็นๆ เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ จะเพลงรักหวานๆ ซึ้งๆ หรือเพลงแนวบอสซ่าสบายๆ ไว้ฟังริมหาดก็ได้ ยิ่งเป็นเพลงโปรดของคุณได้ยิ่งดี ร้องตามไปด้วยเบาๆ ก็ยิ่งดี

  • เปลี่ยนเส้นทางในการขับรถ ถ้าคิดว่าถนนเส้นนั้นมีรถที่เป็นปัญหา หรือมีการจราจรที่แน่นเกินไป

  • แวะจอดรถพักที่ปั้มน้ำมัน หรือร้านค้า ร้านอาหาร หากไม่รีบจนเกินไป การจอดรถแล้วเปลี่ยนกิจกรรมไปทำอย่างอื่นเลยก็เป็นการปรับอารมณ์ที่ได้ผลที่สุด
  • อ่านเพิ่มเติม