เนื้อหาในหมวด หนัง-ละคร

รีวิว บึงกาฬ หนังสัตว์ประหลาดที่ซีจีโดด แต่บทชวนส่ายหน้า

รีวิว บึงกาฬ หนังสัตว์ประหลาดที่ซีจีโดด แต่บทชวนส่ายหน้า

ถึงจะเข้าฉายมากว่าสองสัปดาห์ แต่ด้วยกระแสที่เงียบเชียบ ยังไม่รวมไปถึงคำวิจารณ์จากคนดูทั่วไปและนักวิจารณ์ มุ่งตรงไปยังทิศทางเดียวกันหมด ว่าหนัง “มั่วซั่ว” กว่าที่คิด ส่งผลให้หนังเรื่องนี้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความจดจำเรื่องตัวละครสัตว์ประหลาด กระทั่งตัวบทภาพยนตร์เองด้วย

อันที่จริงบึงกาฬ พยายามพูดถึงวิถีชีวิตของคนในจังหวัดดังกล่าวที่ต้องเผชิญหน้ากับสัตว์ประหลาดลึกลับที่ใช้ชีวิตอยู่ในแหล่งน้ำ ก่อนที่มันจะปรากฏตัวขึ้นและเข่นฆ่าผู้คนในชุมชนมีอาการบาดเจ็บล้มตาย เหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ เมย์ (วันใหม่ ฉัตรบริรักษ์) ได้พบกับไข่ยักษ์ปริศนาในท้องทุ่ง เธอจึงเก็บกลับมาที่บ้าน ลิน (ออม สุชาร์ ) พี่สาวคนโตของบ้านที่ต้องคอยดูแลทั้งน้องชายอย่างเก่ง (อาร์ตี้ ธนฉัตร) และเมย์ต้องเผชิญหน้ากับการบุกโจมตีของสัตว์ประหลาดยักษ์ จนทำให้เธอต้องไปพึ่งพานายตำรวจอย่างสุวัต (ปู วิทยา) ในการให้ความช่วยเหลือ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้

เมื่อเราลองชำแหละเส้นเรื่องของบึงกาฬ เราจะพบว่ามันถูกแยกย่อยเป็นหลายเส้นเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวของลิน ที่ไปๆมาๆ เธอก็ค้นพบว่าหลังจากน้องชายตัวเองถูกสัตว์ประหลาดยักษ์โจมตี เขาก็จะมีอาการทุรนทุราย ถ้าหากลูกของเจ้าสัตว์ประหลาดยักษ์ถูกทำร้าย (ประมาณว่าเก่งและลูกสัตว์ประหลาดมีความเชื่อมโยงกันทางจิตวิญญาณ) เส้นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนที่เดินทางเข้ามาทำวิจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในจังหวัดบึงกาฬ (ที่น่าจะเอาไว้ใช้เป็นจุดขายในเวอร์ชั่นตัดต่อขายประเทศจีน) และเส้นเรื่องของตัวละครเจมส์ (ตุ้ย ธีรภัทร์) กับลูกสาววัยมัธยมอย่างแพม (ลำไย ไหทองคำ) ที่ไม่ลงรอยกับพ่อตัวเองตั้งแต่แม่เธอจากไป โดยเส้นเรื่องทั้งหมดกลับมาบรรจบกันเมื่อสัตว์ประหลาดเริ่มออกโจมตีผู้คนในบึงกาฬ

ปัญหาสำคัญของบึงกาฬ คือ บทภาพยนตร์และการตัดต่อ ที่เราเองก็ไม่ค่อยแน่ใจนักว่าหนังต้องการจะสื่อสารประเด็นอะไรให้กับผู้ชมกันแน่ ตัวละครหนีตายเอาชีวิตรอดจากสัตว์ประหลาด ความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งแวดล้อมกับการกลายพันธุ์ ความเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณของคนและสัตว์ประหลาด พุทธศาสนาและคำสั่งสอนในตอนท้าย ความสะเปะสะปะและหาทางลงไม่เจอ ทำให้บึงกาฬปราศจากความชัดเจนว่าตกลงแล้ว หนังต้องการจะเล่าอะไรกันแน่

ในแง่ของความสนุก บึงกาฬ ก็ยังพร่องไปมาก เนื่องจากวิธีการตัดต่อ ที่น่าเวียนหัว ยังไม่รวมไปถึงฉากหลังในช่วงเวลากลางคืนที่ฝนตกอยู่ตลอดเวลา ยิ่งทำให้ผู้ชมต้องยิ่งเพ่งตาไปกับจอภาพยนตร์ แต่ถึงอย่างนั้นพอหนังเล่าไปเล่ามา เดี๋ยวก็พื้นแห้ง เดี๋ยวก็พื้นเปียก จนเราอาจจะกล่าวได้ว่า “ความต่อเนื่อง” ในการถ่ายทำฟุตเทจตั้งแต่แรกก็น่าจะ “ไม่ละเอียด” มาตั้งแต่ขั้นตอนดำเนินงานแล้ว

น่าเสียดายที่เรามองเห็นความตั้งใจของผู้กำกับอย่าง “ลี ทองคำ” ในการพัฒนาตัวซีจีไอ สัตว์ประหลาด ความพยายามจะเล่าความสัมพันธ์ของคนจังหวัดบึงกาฬ แต่เมื่อทุกอย่างหลอมรวมกันแล้วกลับได้ผลที่ไม่ค่อยน่าพอใจนัก