เนื้อหาในหมวด หนัง-ละคร

14 ปีแห่งความรักของ “พอร์ชอาม”

14 ปีแห่งความรักของ “พอร์ชอาม”

Highlight

  • “พอร์ช - อภิวัฒน์ อภิวัฒน์เสรี” และ “อาม - สัพพัญญู ปนาทกุล” 2 นักแสดงนำจากซีรีส์ “อัยย์หลงไน๋” แต่โลกนอกซีรีส์ พวกเขาก็เป็นคู่รัก LGBTQ+ ที่ครองรักกันมานานกว่า 14 ปี 
  • แม้ความรักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ความเข้าใจเรื่องกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังมีไม่มากเท่ากับในปัจจุบัน แต่พอร์ชอามก็จับมือกันฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ จนกลายเป็นความรักที่แข็งแกร่งดั่งเช่นทุกวันนี้
  • พอร์ชอามมีเป้าหมายที่อยากแก่เฒ่าไปด้วยกัน แม้ระหว่างทางจะมีขัดแย้งหรือทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง แต่ทั้งคู่ก็ใช้วิธีการสื่อสารพูดคุยและรักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน
  • กฎหมายเป็นสื่อกลางที่จะช่วยให้สังคมเข้าใจความรักของกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน สังคมเองก็มีการสื่อสารอย่างแพร่หลายแล้วว่า กลุ่ม LGBTQ+ มีตัวตนอยู่ในสังคม และไม่ได้ผิดแปลกไปจากมนุษย์คนอื่น

ย้อนกลับไปเมื่อ 14 ปีที่แล้ว “พอร์ช - อภิวัฒน์ อภิวัฒน์เสรี” และ “อาม - สัพพัญญู ปนาทกุล” ตัดสินใจบอกกับทุกคนว่าพวกเขา “รักกัน” นำมาซึ่งเสียงตอบรับที่อาจจะไม่ค่อยดีนักของสังคมต่อความรักของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) แต่ ณ โมงยามที่ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยยังมีไม่มากเท่ากับปัจจุบัน เช่นเดียวการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงความรักของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ ทว่า “พอร์ชอาม” ก็จับมือกันฝ่าฝันอุปสรรคที่พุ่งเข้าหาพวกเขาอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จนในที่สุด ทั้งคู่ก็ตกลงที่จะใช้ชีวิตในฐานะ “คู่ชีวิต” แม้กฎหมายของไทยจะยังไม่รองรับการแต่งงานของพวกเขาก็ตาม

ความรักที่สังคมไม่เข้าใจ 

พอร์ชเริ่มต้นเล่าว่า ในช่วงที่เขากับอามเริ่มคบกัน การยอมรับและความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศของสังคมไทยยังมีไม่มากเท่ากับในตอนนี้ และพวกเขาทั้งสองคนก็ต้องเผชิญกับการ “ถูกตัดสิน” จากคนแปลกหน้า

คำว่าถูกตัดสินในที่นี้ มันคือการตัดสินว่าความชอบของเรา พอมันต่างจากความชอบของคนอื่นคือผิดแล้ว แต่ผมกลับบ้านไป ผมจะรักใคร ผมจะนอนอยู่บนเตียงกับใคร มันไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เพราะฉะนั้น เราก็สงสัยเหมือนกันว่า พอสังคมตัดสินคนที่ต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็น LGBTQ+ คนที่ต่างกันด้วยรูปร่าง ด้วยเพศสภาพ เพศวิถี มันเลยกลายเป็นว่าคนเหล่านั้นต้องแบกรับความกดดันของสังคม ทำให้เขาต้องถอยตัวเอง เก็บสิ่งที่เขารู้สึกว่ามันต่างจากคนอื่นเอาไว้ กลายเป็นปัญหาชีวิตไปอีก” พอร์ชสะท้อน

“คนที่ไม่รู้จักเราจะตัดสินเรา อันนี้แปลกนะ คนที่ไม่รู้จักเราตัดสินเรา ในขณะที่คนที่เขารู้จักเราอย่างดีมาก เขาเหล่านั้นไม่เคยตัดสินอะไรเราเลย มันเลยกลายเป็นว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น ทุกวันนี้เราก็ยังไม่ได้คำตอบ ซึ่งสำหรับอาม ผลกระทบมันไม่ได้กระทบที่เรา เพราะเราแยกได้ว่าคนเหล่านั้นเป็นคนที่เราไม่ได้รู้จักเขาด้วยซ้ำ แต่มันกระทบทางอ้อมมาหาครอบครัว มาหาเพื่อนฝูง ซึ่งอันนี้อามว่าไม่แฟร์เท่าไร” อามเล่า

LOVE IS LOVE 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรักของกลุ่ม LGBTQ+ มักถูกเหมารวมว่าเป็นความรักที่ “ฉาบฉวย” ซึ่งอามชี้ว่า ความคิดนี้ควรถูกทำความเข้าใจใหม่ เนื่องจากความรักคือความรัก ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับคนเพศไหน มันก็คือความรัก ที่มีการครองรักกันไปจนแก่เฒ่าเมื่อความรักเติบโต หรือเลิกรากันเมื่อคนสองคนเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดของความรัก 

ความรักมันมีอย่างเดียว ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร ถ้ามันไม่ยั่งยืนด้วยตัวมันเอง มันก็คือไม่ยั่งยืน ไม่ได้แปลว่ามันไปเกิดขึ้นกับ LGBTQ+ แล้วมันจะยั่งยืนกว่า หรือจะฉาบฉวยกว่า” พอร์ชเสริม

พอร์ชกับอามมีเป้าหมายที่อยากแก่เฒ่าไปด้วยกัน และนั่นคือ “ธง” ที่ทั้งคู่ตั้งเอาไว้และจับมือกันเดินไปให้ถึง แม้ระหว่างทางจะมีขัดแย้งหรือทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง แต่ทั้งคู่ก็ใช้วิธีการสื่อสารพูดคุยและรักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน ซึ่งนั่นคือเคล็ดลับที่ทำให้พวกเขารักกันได้นานกว่า 14 ปี 

“เราเห็นธงนั้นอยู่ เรายังมีธงนั้นปักอยู่ เราก็โอเค ผิดไม่ผิด ขอโทษได้ไม่เป็นไร แล้วเราก็เดินกันไปต่อ โกรธกันมาก ๆ ก็นอนหันหลังให้กันก่อน ตื่นเช้ามาเดี๋ยวค่อยว่ากัน” พอร์ชกล่าว 

กฎหมายทำให้ครอบครัวแข็งแรงขึ้น 

“ไม่ว่าจะมีกฎหมายหรือไม่มีกฎหมาย ความรักไม่ได้เปลี่ยนไป แต่การมีกฎหมายมารองรับ ทำให้เราสร้างครอบครัวได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น กฎหมายรองรับทำให้เราสามารถทำธุรกิจร่วมกันได้ง่ายขึ้น กฎหมายรองรับทำให้เราดูแลเขาในฐานะคู่ชีวิต ในการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น กฎหมายรองรับทำให้เราสามารถใช้สิทธิ สวัสดิการของกันและกันได้ง่ายขึ้น คือจะมีกฎหมายหรือไม่มีกฎหมาย ความรักเราไม่เปลี่ยนไป แต่ถ้ามีกฎมาย มันจะช่วยให้ครอบครัวของเราแข็งแรงขึ้น” พอร์ชสะท้อน 

เช่นเดียวกับอามที่มองว่า กฎหมายเป็นสื่อกลางที่จะช่วยให้สังคมเข้าใจความรักของกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน สังคมเองก็มีการสื่อสารอย่างแพร่หลายแล้วว่า กลุ่ม LGBTQ+ มีตัวตนอยู่ในสังคม และไม่ได้ผิดแปลกไปจากมนุษย์คนอื่น 

“มนุษย์คือมนุษย์เท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น กฎหมายก็จะเป็นอีกสื่อหนึ่งที่แพร่กระจายออกไปว่า เรากับเธอเหมือนกัน เธอกับฉันไม่ได้ต่างกัน เรื่องความรักเป็นเรื่องของคนสองคน มันอยู่ที่คุณตกลงกัน มันอยู่คุณพูดคุยกัน อยู่ที่คุณเข้าใจกัน ดังนั้น กฎหมายมันทำให้ครอบครัวแข็งแรงขึ้น กฎหมายทำให้เรามีสิทธิมากขึ้น แม้จะเป็นสิทธิที่เราควรจะมีด้วยซ้ำ แต่ถ้าไม่มี หรือยังไม่มี หรือมีช้าหน่อย อามว่าเราต้องมามองความรักของเราทั้งสองคน” อามระบุ

“ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา เรามีความรักที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นไปด้วยกันเรื่อย ๆ โดยที่ยังไม่มีกฎหมายมารองรับ แต่ถ้ามีกฎหมายก็จะดีมาก เพราะมันทำให้เราสร้างครอบครัวไปได้อีก เหมือนทุก ๆ คนที่สร้างครอบครัวไปแล้ว” พอร์ชกล่าวปิดท้าย