เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

อันตรายจากการใช้ “ด่างทับทิม” ทั้งในครัวเรือน และการรักษาโรค

อันตรายจากการใช้ “ด่างทับทิม” ทั้งในครัวเรือน และการรักษาโรค

“ด่างทับทิม” สารเคมีผลึกสีม่วงที่หลายๆ บ้านใช้เพื่อการทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคต่างๆ เป็นที่รูจักกันมาอย่างยาวนานหลาย 10 ปี แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพที่ดีจริง แต่หากใช้ไม่ถูกวิธี อาจเกิดอันตรายขึ้นได้

 

ประโยชน์ของด่างทับทิม ที่เรามักใช้กันอยู่บ่อยๆ

  • นำมาละลายน้ำ เพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำ นำน้ำไปใช้ต่อ โดยผสมให้น้ำด่างทับทิมเป็นสีชมพูอ่อนๆ จางๆ

  • นำมาละลายน้ำ เพื่อนำน้ำไปใช้ล้างผัก แช่ผัก เพื่อลดสารพิษตกค้างจากยาฆ่าแมลงในผักผลไม้ต่างๆ โดยผสมให้น้ำด่างทับทิมเป็นสีชมพูอ่อนๆ จางๆ

  • ผสมน้ำแช่เท้า เพื่อบรรเทาอาการของโรคน้ำกัดเท้า โดยผสมให้น้ำด่างทับทิมเป็นสีชมพูเข้ม ชมพูบานเย็น

  • แพทย์แผนโบราณแนะนำให้แช่แผลที่เป็นริดสีดวงทวารลงในน้ำผสมด่างทับทิม เพื่อช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น
  •  potassium-permanganate-2

    อันตรายจากการใช้ด่างทับทิม

  • หากผสมเกล็ดทับทิมกับน้ำในปริมาณมาก (น้ำเป็นสีม่วง) ระดับความเข้มข้นที่มากเกินไปอาจทำให้ผิวหนังไหม้เมื่อสัมผัสถูกผิวหนังของเราได้ รวมถึงการระคายเคืองเยื่อบุตาเมื่อกระเด็นเข้าตา หากรู้สึกระคายเคืองให้ล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง

  • ด่างทับทิมเป็นวัตถุไวไฟเมื่อเจอกับสารละลายบางชนิด เช่น น้ำมัน ดังนั้นการมีด่างทับทิมเอาไว้ใช้ในครัว ที่มีน้ำมันอยู่ด้วย อาจเสี่ยงต่อการเกิดการเผาไหม้ได้ เช่น น้ำมันหกใส่ด่างทับทิวโดยตรง หรือการใช้ผ้าเช็กน้ำมัน แล้วนำมาเช็ดเศษด่างทับทิมที่หกอยู่ตามโต๊ะ หรือพื้นครัว เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจทำปฏิกิริยากับสารอื่นๆ เช่น สารประกอบโลหะหนัก กรด หรือเบสต่างๆ อีกด้วย

  • เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ หากน้ำด่างทับทิมไหลลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ อาจส่งผลเสียโดยเป็นพิษร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ และส่งผลกระทบในระยะยาวได้

  • ห้ามเผลอดื่ม ชิม จิบ หรือทานไม่ว่าจะด้วยวิธีใด หรือปริมาณเท่าใด เพราะอาจเกิดอาการระคายเคือง หรือแพ้ได้ หากเผลอนำเข้าปาก ให้บ้วนปากด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ห้ามทำให้อาเจียนเด็ดขาด

  • การกะปริมาณในการใช้ด่างทับทิมค่อนข้างลำบาก หากผสมอ่อนไปอาจไม่ได้ผลในการฆ่าเชื้อโรค แต่หากเข้มไปก็อาจจะเป็นอันตราย ดังนั้นในการใช้งานเพื่อจุดประสงค์ที่ต่างกัน ควรหาข้อมูลอย่างละเอียดในการใช้ แต่ด้วยการใช้ที่ค่อนข้างลำบาก ปัจจุบันจึงมีตัวเลือกอื่นที่ใช้ง่าย และอันตรายน้อยกว่าออกมาแทน เช่น การฆ่าเชื้อโรคในน้ำด้วยเครื่องกรองน้ำ หรือการล้างผักด้วยน้ำยาล้างผักโดยเฉพาะ เป็นต้น

  • การแช่แผลที่เป็นริดสีดวงทวารลงในน้ำผสมด่างทับทิม รวมถึงการแช่เท้าในน้ำผสมด่างทับทิมเพื่อบรรเทาอาการโรคน้ำกัดเท้า อาจเห็นผลจริงเมื่อผสมน้ำด่างทับทิมในปริมาณที่พอเหมาะ และใช้เวลาไม่มากจนเกินไป (ไม่เกิน 20-30 นาที) การผสมน้ำด่างทับทิมเข้มข้นมากเกินไป หรือแช่น้ำนานเกินไป อาจก่อให้เกิดอันตรายต่ออาการที่เป็นอยู่ได้
  •  

    ดังนั้น คำแนะนำคือ หากสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ด่างทับทิม ไปใช้สิ่งอื่นได้ ควรใช้สารอื่นที่ปลอดภัย และใช้งานง่ายมากกว่า หากจำเป็นต้องใช้ด่างทับทิมจริงๆ ควรศึกษาหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน หรือปรึกษาผผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ทุกครั้ง นอกจากนี้หากเป็นการใช้ด่างทับทิมเพื่อรักษาโรค ควรอยู่ในการดูแล และคำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้น ไม่ควรซื้อมาใช้เองโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายมากขึ้น และจะรักษายากกว่าเก่า