จัดใหญ่ "มวยไทยชิงแชมป์โลก" 5 ทวีป 112 ชาติร่วมชิงชัย ล่าโควต้าลุย "เวิลด์ คอมแบท เกมส์"
ระเบิดศึกมหกรรมมวยไทยนานาชาติชิงแชมป์โลก 2566 "อิฟม่า ซีเนียร์ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพส์ 2023" ที่เซ็นทรัลเวิลด์ วันที่ 4-12 พ.ค. นักกีฬา โค้ช และเจ้าหน้าที่รวมกว่า 3,000 คนจาก 112 ประเทศ 5 ทวีปทั่วโลก ตบเท้าชิงชัยเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีของอิฟม่า เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนักมวยไปรอบสุดท้ายมหกรรมกีฬาต่อสู้โลก "เวิลด์ คอมแบท เกมส์ 2023" ที่ซาอุดีอาระเบีย เดือน ต.ค. 2566
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ณ ชั้น 1 โซนไอ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ สหพันธ์สมาคมกีฬามวยไทยนานาชาติ (อิฟม่า) ร่วมกับสมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์, สมาคมกีฬามวยไทยอาชีพแห่งประเทศไทย, การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.), กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ร่วมกันจัดแถลงข่าวการแข่งขันมวยไทยนานาชาติชิงแชมป์โลก 2566 รายการ "อิฟม่า ซีเนียร์ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพส์ 2023" และการจัดงาน "มหกรรมมวยไทยก้าวไกลสู่โอลิมปิก"
โดยมี ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ นายกสมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ และประธานอิฟม่า, มร.สเตฟาน ฟ็อกซ์ เลขาธิการอิฟม่า และ "ดร.หญิง" ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) เข้าร่วม โดยการแถลงข่าวเริ่มต้นด้วยการแสดงพิธีเปิดในชุด We Are Muaythai และการแสดงชุดศิลปะมวยไทย ให้กับแขกผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมงานได้ชมศิลปะการต่อสู้ประจำชาติไทยที่มีต้นกำเนิดมายาวนาน และโด่งดังไกลไปทั่วโลกในปัจจุบัน
สหพันธ์สมาคมกีฬามวยไทยนานาชาติ (อิฟม่า) จัดการแข่งขันมวยไทยนานาชาติชิงแชมป์โลก 2566 รายการ "อิฟม่า ซีเนียร์ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพส์ 2023" โดยกำหนดจัดขึ้น ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 4-12 พฤษภาคม 2566 มีนักกีฬา โค้ช และเจ้าหน้าที่ รวมถึงทีมผู้ลี้ภัย รวมกว่า 3,000 คนจาก 112 ประเทศ 5 ทวีปทั่วโลกเดินทางมาขึ้นชิงชัยเจ้ามวยไทย ณ สังเวียนประเทศไทย ซึ่งเป็นต้นตำรับของศิลปะการต่อสู้ และเป็นมรดกประจำชาติไทย อีกทั้งจะเป็นรอบคัดเลือก รอบสุดท้าย ไปสู่การแข่งขันมหกรรมกีฬาต่อสู้โลก "เวิลด์ คอมแบท เกมส์ 2023" ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ในช่วงระหว่างวันที่ 21-30 ตุลาคม 2566
นอกจากการชิงชัยของนักมวยไทยจากทั่วโลกแล้ว ยังจะมีการจัดประชุมวิชาการในมิติต่างๆ ของขบวนการโอลิมปิกเกมส์ เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของโครงการ โดยผู้เข้าประชุมประกอบด้วยผู้แทนคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ผู้แทนองค์กรควบคุมสารต้องห้าม (WADA) ผู้แทนสมัชชาสหพันธ์กีฬานานาชาติ (Sport Accord) ผู้แทนองค์กรสหประชาชาติ (UNESCO) และผู้แทนสหพันธ์ความร่วมมืออิสระเพื่อการสนับสนุนชนิดกีฬาที่ได้การรับรองจาก IOC (Alliance of independent Recognized Members of Sports : AIMS) และผู้แทนประเทศสมาชิกจำนวน 120 คน รวมทั้งนักวิชาการรับเชิญภายในประเทศ
ขณะเดียวกันยังจะมีการส่งเสริมสินค้าอุตสาหกรรมกีฬามวยภายใต้แนวคิด "จากผืนผ้าใบสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมมวยไทยแสนล้าน" โดยจัดเป็นงานแสดงสินค้ากีฬา ณ ชั้นล่างศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ด้านถนนราชประสงค์ ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงวัฒนธรรม และบริษัทเอกชนผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬา
ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ นายกสมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ และประธานอิฟม่า กล่าวว่า มหกรรมมวยไทยนานาชาติชิงแชมป์โลก 2566 รายการ "อิฟม่า ซีเนียร์ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพส์ 2023" จะจัดการแข่งขันในช่วงคาบเกี่ยวกับกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เนื่องจากทางเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งนี้ไม่ได้บรรจุกีฬามวยไทยในการแข่งขัน และบรรจุกีฬา กุน แขมร์ ลงชิงชัยแทน โดยจะมีนักกีฬาจากทั่วโลกเดินทางมาเข้าร่วมการชิงชัยในครั้งนี้อย่างยิ่งใหญ่ ต้องบอกว่าการจัดกิจกรรมครั้งถือว่าประเทศไทยได้รับเกียรติอย่างมากที่ได้เป็นเจ้าภาพในการต้อนรับนักกีฬามวยไทยจากประเทศพันธมิตรทั่วโลกกว่า 112 ประเทศ มาแข่งขันครั้งนี้เพื่อร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีของอิฟม่าอีกด้วย
“เป็นอีกครั้งที่ประเทศไทยจะได้อวดความสวยงามของสถานที่ และวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าให้กับนักกีฬามวยไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ รวมถึงการสร้างโอกาสให้กับนักกีฬาของประเทศไทยได้มีโอกาสได้ร่วมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม วัตถุประสงค์หลักของการจัดงานเพื่อเป็นการเผยแพร่มวยไทยซึ่งเป็นศิลปะเอกลักษณ์ประจำชาติไทย เป็นมรดกทางภูมิปัญญาอันล้ำค่าที่จะต้องอนุรักษ์เผยแพร่ให้แก่อนุชนรุ่นหลัง ปัจจุบันมวยไทยได้แพร่หลายไปทั่วโลก ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติในภูมิภาคต่างๆ โดยที่มวยไทยมีรูปแบบการถ่ายทอดความรู้จากผู้สอนถึงผู้เรียนหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับครูมวย หรือนักมวยที่เป็นผู้สอน เพื่อต่อยอดในการสร้างกระแสรณรงค์ ผลักดันตาม แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนมวยไทยเข้าสู่โอลิมปิกเกมส์ ให้บรรลุความสำเร็จตามเป้าหมาย”
มร.สเตฟาน ฟ็อกซ์ เลขาธิการอิฟม่า กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) มีมติรับรองมวยไทยมวยไทยเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นชนิดกีฬาในโอลิมปิกโปรแกรมที่จะได้รับการหยิบยกมาพิจารณาบรรจุแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน ปรากฏว่า เป็นกระแสหลักของวงการกีฬาระดับนานาชาติไปทันที จำนวนประเทศสมาชิกมวยไทยได้กระจายไปในทุกส่วนของโลกจาก 140 ประเทศ ขึ้นไป ถึง 149 ประเทศ รวมถึงประเทศจีนได้ยกฐานะกีฬามวยไทยขึ้นเป็นชนิดกีฬาเอกเทศ แยกจากสมาคม กีฬาวูซูแห่งชาติ ส่วนคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งยุโรป ประกาศรับรองบรรจุกีฬามวยไทยเข้าเป็นหนึ่งชนิด กีฬาในการแข่งขันยูโรเปี้ยนเกมส์ ที่จะมีขึ้นระหว่าง วันที่ 2-27 มิถุนายน 2566 ที่ประเทศโปแลนด์ นอกจากนี้ คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกา มีมติรับรองกีฬามวยไทยในนามของสมาคมมวยไทยแห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566
ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) กล่าวว่า มีหลายภาคส่วนที่ร่วมสนับสนุน สหพันธ์สมาคมกีฬามวยไทยนานาชาติ (อิฟม่า) เพื่อผลักดันให้เกิดการแข่งขันมวยไทยนานาชาติชิงแชมป์โลก 2566 "อิฟม่า ซีเนียร์ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพส์ 2023" ในครั้งนี้บนแผ่นดินแม่ของกีฬามวยไทย โดยในส่วนของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ก็มุ่งเน้นในการสนับสนุนมวยไทย ตั้งแต่ในระดับเยาวชน ไปจนถึงรุ่นทั่วไป เพื่อพัฒนามวยไทยให้ไปไกลถึงระดับโลก ไปจนถึงการผลักดันไปสู่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกต่อไปในอนาคต ซึ่งก็อยากจะเชิญชวนแฟนกีฬามวยไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชื่นชอบมวยไทยให้มาร่วมชมการแข่งขันครั้งนี้ที่จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่แน่นอน
สำหรับ 112 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมแข่งขัน ประกอบด้วย อัฟกานิสสถาน, แอลจีเรีย, อาร์เจนตินา, อาร์เมเนีย, ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, อาเซอร์ไบจาน, บาห์เรน, บังคลาเทศ, เบลเยียม, บอสเนีย, บราซิล, บัลแกเรีย, แคเมอรูน, แคนาดา, จีน, ไต้หวัน, โคลอมเบีย, โครเอเชีย, ไซปรัส, สาธารณรัฐเช็ก, เดนมาร์ก, เอกวาดอร์, อียิปต์, เอสโตเนีย, ฝรั่งเศส, เฟรนช์โปลินีเซีย, จอร์เจีย, เยอรมนี, กรีซ, ฮอนดูรัส, ฮ่องกง, ฮังการี, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิหร่าน, อิรัก, ไอร์แลนด์, อิสราเอล, อิตาลี, ไอวอรี่โคสต์, จอร์แดน, คาซัคสถาน, โคโซโว, คูเวต, คีร์กีซสถาน, ลัตเวีย, เลบานอน, ลิเบีย, ลิธัวเนีย, มาเก๊า, มาเลเซีย, เมาริติอุส, เม็กซิโก, มอลโดวา, มองโกเลีย, โมร็อกโก, เนปาล
เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, ไนจีเรีย, นอร์ท มาซิโดเนีย, นอร์เวย์, ปากีสถาน, ปาเลสไตน์, ปารากวัย, เปรู, ฟิลิปปินส์, โปแลนด์, โปรตุเกส, มาดากัสการ์, โรมาเนีย, ซาอุดีอาระเบีย, เซอร์เบีย, เซียร์ร่า เลโอน, สิงคโปร์, สโลวาเกีย, สโลวีเนีย, แอฟริกาใต้, เกาหลีใต้, สเปน, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, ซีเรีย, ทาจิกิสถาน, ตินิแดด แอนด์ โตเบโก, ตูนิเซีย, ตรุกี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, อุรุกวัย, อุซเบกิสถาน, เวียดนาม, เยเมน, ซูดาน, แซมเบีย, แองโกลา, เซเนกัล, มอริเตเนีย, เซเชลส์, เวเนซุเอลา, ตองกา, ชิลี, ซูรินาเม่, ซามัว, ลักเซมเบิร์ก, มอนเตเนโก, กินี, ไทย, นักกีฬาบุคคลเป็นกลาง (ธงอิฟม่า) และนักกีฬาผู้ลี้ภัย (ธงอิฟม่า)