"กกท.-กองทุน" เดินเครื่อง รู้เท่าทัน "สารต้องห้ามกีฬา" สู่โร้ดแมป "มวยไทย" ไป อลป.
วงการกีฬาโลกกำลังให้ความสำคัญกับการควบคุมการใช้สารต้องห้ามของนักกีฬาทั่วโลก และมีมาตรการประกาศสงครามเด็ดขาดกับ "สารกระตุ้น" กันอย่างเป็นรูปธรรม
องค์กรใหญ่อย่างคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ร่วมมือกับองค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (WADA) ในการทำงานเชิงรุกป้องกัน และให้ความรู้กับทุกชาติสมาชิกเพื่อทำให้การแข่งขันกีฬาไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันจากการเพิ่มสมรรถนะ ประสิทธิภาพ และขีดจำกัดของร่างกายด้วยการใช้ "ยาโด๊ป" เพื่อหวังผลความสำเร็จ
ภายใต้เหตุผลหลักที่ว่า เพื่อสร้างความยุติธรรมของการแข่งขันกีฬาตลอดจนความเท่าเทียมกันทางด้านสิทธิมนุษยชนตามธรรมนูญของ IOC ประกอบกับประเทศไทยกำลังผลักดันอย่างเต็มที่ให้กีฬา "มวยไทย" ได้รับการบรรจุเข้าแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2028 ที่นครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา จึงต้องเร่งให้ความรู้บุคลากรทุกองคาพยพของวงการมวยไทยให้มีความรู้เกี่ยวกับสารต้องห้ามเพื่อทำให้มวยไทย ขาวสะอาดอันจะส่งผลดีต่อการพิจารณาบรรจุกีฬามวยไทยในโอลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน
ระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคมที่ผ่านมา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ร่วมกับกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) และสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย จึงร่วมกันจัดการอบรมสัมมนาสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสารต้องห้าม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เพื่อสร้างการรับรู้ เรื่องสารต้องห้ามให้แก่นักกีฬา โค้ชและผู้ที่เกี่ยวข้องด้านกีฬา เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้เรื่องสารต้องห้ามให้แก่นักกีฬา โค้ช หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น หากโดนสุ่มเก็บตัวอย่าง จะต้องเข้าใจกระบวนการ และขั้นตอนต่างๆ ให้ละเอียด สร้างความเข้าใจแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง หากพิสูจน์ความผิดพบว่าจริง ก็จะมีบทลงโทษคือห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการกีฬา ถือว่ารุนแรงมาก
กลุ่มเป้าหมายเข้ารับการอบรมจากทั่วประเทศกว่า 200 คนจาก กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย, บุคลากรทางการกีฬา, บุคคลวงการกีฬามวย, สำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) 25 จังหวัด, สมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยฯ, สมาคมกีฬาคิกบ๊อกซิ่งแห่งประเทศไทย,สมาคมกีฬาปันจักสีลัตแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย
ตลอด 3 วันผู้เข้ารับการอบรมได้รับทราบองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและต่อต้านและการหลีกเลี่ยงการใช้สารต้องห้าม ตลอดจนวิธีการแก้ไขปัญหาเมื่อหากเกิดกรณีนักกีฬาถูกตรวจพบว่าใช้สารต้องห้าม จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรระหว่างเข้าสู่กระบวนการสอบสวนและหาข้อเท็จจริงจากทาง WADA
โดยมีวิทยากรที่มีความรู้ของเมืองไทย และต่างประเทศ นำโดย นพ.วารินทร์ ตัณฑ์ศุภศิริ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ, ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ ประธานสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA), สเตฟาน ฟ็อกซ์ เลขาธิการ IFMA, นายธีรวัฒน์ ศิลปอาชา ผอ.กองส่งเสริมพัฒนากีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ฯลฯ
เป้าหมายของไทยในการจัดอบรมสัมมนาสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสารต้องห้าม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 คือ กีฬามวยไทย เป็นหลักเพื่อขับเคลื่อนไปสู่โอลิมปิกเกมส์ มีการบรรยายหัวข้อ "Muaythai to Olympic" หรือ "มวยไทยไปสู่โอลิมปิก" ภายใต้ความร่วมมือกันของประเทศไทย และ IFMA โดยได้ดำเนินการในมิติด้านต่างๆ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของ IOC และในระดับนานาชาติ โดยสิ่งสำคัญคือ เน้นปราศจากการใช้สารต้องห้าม เพื่อให้กีฬามวยไทยมีความขาวสะอาด ปลอดภัย ปกป้องนักกีฬาให้ไม่มีสารต้องห้าม ต่อยอดมวยไทยเข้าไปสู่โอลิมปิกต่อไปในอนาคต
นพ.วารินทร์ ตัณฑ์ศุภศิริ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคฯ บอกว่า เรื่องสารต้องห้ามเป็นประเด็นที่ใหญ่มาก เป็นเรื่องที่ IOC และ WADA ให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 และจะไม่ยอมให้นักกีฬาและผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าไปพัวพันกับการใช้สารต้องห้ามอย่างเด็ดขาด ปัจจุบัน มีสารต้องห้ามชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นจะต้องศึกษาหาความรู้อย่างถ่องแท้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมา ซึ่งไม่ได้กระทบต่อตัวนักกีฬาและผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชื่อเสียงของประเทศชาติด้วย
ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ นายกสมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นฯ บอกว่า ทุกคนที่เข้ารับการอบรมจะนำความรู้ไปปฏิบัติ และทำความเข้าใจกระบวนการตรวจสารต้องห้ามนักกีฬา อีกทั้งจะได้ป้องกัน และหลีกเลี่ยงเรื่องสุ่มเสี่ยงที่นักกีฬาจะไปยุ่งเกี่ยวกับสารต้องห้าม เรากำลังขับเคลื่อนเรื่องมวยไทยไปสู่โอลิมปิกเกมส์ ดังนั้นเรื่องสารต้องห้ามเป็นวาระสำคัญอีกประการที่ IOC ให้ความสำเร็จ อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเพราะความฝันของคนไทยใกล้ความจริงเข้ามาทุกทีแล้วกับการได้เห็นมวยไทยบรรจุในโอลิมปิกเกมส์
นายสมชาติ เจริญวัชรวิทย์ นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพฯ กล่าวว่า สมาคมพร้อมสนับสนุน ให้ความร่วมมือ และช่วยเหลือทุกด้านเพื่อทำให้กีฬามวยไทยได้ไปเฉิดฉายในโอลิมปิกเกมส์ เรื่องสารต้องห้ามเรามองข้ามไม่ได้เด็ดขาด IOC เขามีมาตรการ มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกชนิดกีฬา ดังนั้นไทยเราก็ต้องทำให้เขาเห็นว่า เราร่วมมือและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ดังนั้นการอบรมครั้งนี้จึงมีประโยชน์กับคนวงการมวยไทย และชนิดกีฬาอื่นๆ อย่างมาก
ปัจจุบันการควบคุมการใช้สารต้องห้ามเป็นกติกาสากลของวงการกีฬาไปแล้ว ดังนั้นไทยเราเองก็ต้องขยับตาม เรียนรู้ และนำไปปฏิบัติเพื่อไม่ให้มีสารกระตุ้นในตัวนักกีฬาของไทยเรา หากวงการกีฬาไทยปลอดสารต้องห้ามอย่างเด็ดขาดย่อมส่งผลดีหลายๆ ประการต่อชื่อเสียง และเกียรติภูมิของวงการกีฬาไทย