ด่วน! นายกส.กรีฑา ประกาศลาออกรับผิดชอบผลงาน กรีฑาไทยในเอเชียนเกมส์
พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ นายกสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเป็นกับรับผิดชอบต่อผลงานในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้
โดยหนังสือลาออกของ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ มีข้อความดังต่อไปนี้
ผมได้พิจารณาแล้วเห็นว่าสมาคมฯ นี้เป็นของประชาชนคนไทย เป็นสมาคมที่ไม่มีผลประโยชน์ และไม่มีการพนันขันต่อ สมาคมฯมีนักกีฬาที่ต้องดูแลทั้งชายและหญิง ตั้งแต่ระดับยุวชน เยาวชน ประชาชน จำนวนหลายร้อยคนต่อปี มีภาระค่าใช้จ่ายสูง
ผมซึ่งเคยเป็นอุปนายกในสมาคมฯ นี้มาก่อน 10 กว่าปี เมื่อผมได้พิจารณาถึงประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญจึงได้ตอบรับ สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมฯ ในปี พ.ศ.2544 หรือ 23 ปีที่แล้ว โดยไม่มีใครสมัครเป็นคู่แข่ง เดิมนายกสมาคมฯ ดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ซึ่งทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ไม่เคยมีใครมาสมัครแข่งขันด้วย เหล่าสมาชิกสโมสรกีฬากรีฑาของ แต่ละจังหวัดและภาคส่วนต่างๆซึ่งมีมากมายกว่า 100 สโมสร ก็มีมติเลือกผมเป็นนายกสมาคมฯ โดยเอกฉันท์ทุกครั้ง ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ผมต้องทุ่มเทกำลังหารายได้เข้าสมาคมฯ จนสมาคมฯหมดภาระหนี้สินและมีเงินเหลือเก็บสะสม สามารถซื้อที่ดินจำนวน 50 ไร่ ที่ตำบลสามโคก จังหวัดปทุมธานี และขณะนี้ได้ปรับปรุงสร้างเป็นสนามกีฬากรีฑามาตรฐาน โดยการรับรองของสหพันธ์กีฬากรีฑาโลกเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
ผมเป็นนักกีฬาประเภทอื่นในระหว่างที่เรียนมัธยมและโรงเรียนนายร้อย ไม่เคยเล่นกีฬากรีฑามาก่อน ดังนั้นถึงแม้จะเป็นนายกสมาคมฯ แต่ก็ไม่เคยเข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงการสร้างนักกีฬา หรือจัดทีมกีฬากรีฑาแต่อย่างใด ผมมอบให้เป็นหน้าที่ของสตาฟโค้ชมืออาชีพ ในการวางตัวนักกีฬา และวางแผนการแข่งขันแต่เพียงฝ่ายเดียวตลอดมา
ที่ผ่านมาผมทำหน้าที่ในการบริหาร ในเรื่องหารายได้เข้าสมาคมฯ เพื่อช่วยเสริมรายได้ของสมาคมฯเพิ่มจากที่ได้รับรายได้จากงบประมาณของประเทศ อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเราไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย แต่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ภาครัฐไม่ได้มีงบประมาณมากพอที่จัดสรรมาสู่สมาคมกีฬาต่างๆได้เต็มที่ โดยเฉพาะสมาคมกีฬากรีฑาฯซึ่งขณะนี้มีจำนวนนักกีฬาหลายร้อยชีวิตที่ต้องดูแล ผมจึงต้องดิ้นรนของบจากภาคส่วนต่างๆเข้ามาช่วยเสริมเพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ให้สมาคมฯขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อเกิดความผิดพลาดในการวางแผนของผู้จัดการทีมในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 2023 ครั้งที่ 19 ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีนในครั้งนี้ ผมก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบของนายกสมาคมฯไปได้ ผมต้องขอโทษที่ทำให้พี่น้องประชาชนผิดหวัง และผมก็รู้สึกเหมือนกับประชาชนคนไทยทุกคน
ผมได้เดินออกจากสนามแข่งขันในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ณ สนามหางโจว โอลิมปิก สปอร์ต เซ็นเตอร์ เมืองหางโจว ประเทศจีน หลังจากมีการ DNF ของนักกีฬา (ผมมีความรู้สึกเหมือนท่านทั้งหลาย) และผมไม่กลับไปดูการแข่งขันอีกเลยจนถึงวันนี้
อนึ่งผมมาที่เมืองหางโจวในครั้งนี้ ผมมาในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่มาเชียร์นักกีฬา โดยค่าใช้จ่ายเป็นเงินส่วนตัวทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าโรงแรมที่พัก ค่ายานพาหนะ ค่าอาหาร ผมไม่ได้ใช้งบประมาณของประเทศ หรือของสมาคมฯแม้เลยแต่บาทเดียว
ผมขอรับผิดชอบต่อความผิดหวังของคนไทยทั้งประเทศ โดยขอลดบทบาทในฐานะนายกสมาคมฯ และขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสมาคมฯ จัดประชุมเลือกตั้งนายกสมาคมฯ ครั้งต่อไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ โดยผมจะไม่สมัครรับเลือกตั้งนายกสมาคมฯอีกต่อไป ซึ่งผมเคยมีเจตนา จะไม่สมัครนายกสมาคมฯหลายครั้งแล้ว แต่ก็ได้รับการร้องขอจากกรรมการท่านอื่น ๆ ว่าขณะนี้ยังไม่สามารถทาบทามบุคคลที่มีความพร้อมเหมาะสมมาลงสมัครเป็นนายกสมาคมฯคนใหม่ได้ และพร้อมกันนี้ผมขอลาออกจากคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย
และขอแจ้งให้ทราบว่า ตำแหน่งกรรมการสมาคมกีฬาทุกประเภท และตำแหน่งกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย เป็นตำแหน่งที่ไม่มีค่าตอบแทนใดใดทั้งสิ้น เป็นตำแหน่งที่เข้ามารับใช้ประเทศชาติและสมาคมกีฬาแต่เพียงอย่างเดียว
ผมขอขอบคุณคนไทยทั้งประเทศ ที่ติดตามผลงานของนักกีฬากรีฑา และให้ความสนใจ และให้ข้อเสนอแนะที่ดีมาโดยตลอด ขอขอบคุณกรรมการทุกคน และทุกสมัยที่เคยร่วมทำงานและช่วยหารายได้เข้าสมาคมฯ กับผมมาตลอดระยะเวลา 23 ปี ขอขอบคุณเหล่าสมาชิกสโมสรกีฬากรีฑาที่ให้ความไว้วางใจเลือกผม ขอขอบคุณผู้ฝึกสอนและนักกีฬากรีฑาทุกคนที่ช่วยกันทำชื่อเสียงให้ประเทศ และขอขอบคุณองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนทุกภาคส่วนที่ช่วยสนับสนุนสมาคมกีฬากรีฑาฯ เสมอมา
ขอเป็นกำลังใจให้ทัพนักกีฬากรีฑาทีมชาติไทยตลอดไป
พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์
4 ตุลาคม 2566
ทั้งนี้ทีมกรีฑาไทยในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ เก็บได้ 2 เหรียญเงิน จาก "บิว" ภูริพล บุญสอน ในการวิ่ง 100 เมตรชาย และ ทีมวิ่งผลัด 4x100 ม. หญิงที่ได้จาก สุภาวรรณ ธิปัตย์, ศุภานิช พูลเกิด, อรอุมา เชษฐา และ สุกานดา เพ็ชรรักษา