ย้อนมองวงการละครโทรทัศน์ไทย 25 ปีกับความเปลี่ยนแปลง
ละครไทยมีแต่เนื้อหาตบจูบ, ละครไทยไม่เห็นสมจริง คำกล่าวเหล่านี้ คงได้ยินกันบ่อยๆ ถึงการวิจารณ์เนื้อหาละครไทย ของผู้ชม แต่หากมองย้อนมองวงการโทรทัศน์ไทย ไป 25 ปีก่อน จะพบการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาไปตามบริบทสังคมมากมาย
Sanook ได้มีโอกาสพูดคุย กับคุณปุ๋ย เพ็ญสิริ เศวตวิหารี ผู้เขียนบทโทรทัศน์ เจ้าของนามปากกา พัญสร, แกมบรรจง, ษรสิริ และ หนึ่งในทีม เป่ากุ้ย ของค่ายละครเป่าจินจง ผลงานที่รู้จักกันดี คือ แม่อายสะอื้น ,สายน้ำ สามชีวิต ,สาปพระเพ็ง,ที่หนี้มีรัก เป็นต้น กับ 25 ปีในวงการเขียนบทโทรทัศน์ คุณปุ๋ย มองว่า ละครไทยมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตามปัจจัยหลัก คือ คนดู ที่มีความคิดเปลี่ยนไปตามบริบทสังคมในแต่ละยุค ยิ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การพัฒนาของเทคโนโลยี และเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มามากขึ้น ส่งผลต่อวิธีคิด และพฤติกรรมการดูละครโทรทัศน์ของคนดู
“แต่ก่อนคนดูละครโทรทัศน์ต้องรอดู 2 ทุ่ม จันทร์ อังคาร เรื่องนึง พุธ พฤหัสฯ เรื่องนึง ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เรื่องนึง แต่เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็น ตี 2 คุณเปิด NETFLIX คุณก็ดูได้ ตี 5 คุณเปิด WE TV คุณก็ดูได้ เพราะฉะนั้น การรอจบสิ้น หากดูเรียลไทม์ไม่ทัน ก็สามารถดูย้อนหลังได้ ซึ่งสังคมและเทคโนโลยีเหล่านี้ มันเปลี่ยนคนดู ให้เห็นความหลากหลายของละคร มากขึ้น”
พี่ปุ๋ย ยังตั้งข้อสังเกตว่า หากย้อนกลับไป ช่วงเทคโนโลยี หรือ แพลตฟอร์มออนไลน์ ยังไม่เกิดขึ้น ตัวบทของละครไทย ก็มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาตลอด ตามสังคมและคนดู ยกตัวอย่าง ละครรีเมคที่มีหลากหลายเวอร์ชั่น อย่าง ดาวพระศุกร์ ก็มีการปรับเปลี่ยน บทของนางเอกในแต่ละยุค ให้สู้คนมากขึ้น หรือในละครที่มีโครงสร้างตัวละครแบบดาวพระศุกร์ เราก็จะเห็น ความสู้คนของตัวนางเอกมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคนดูอาจจะไม่ได้รู้สึกมาก แต่ในฐานะคนเขียนบทโทรทัศน์รู้สึก เพราะเราต้องเป็นผู้นำสังคมไปข้างหน้า และตามหลังไม่ได้ ต้องสังเกตผู้ชม อย่างคนเบื่อแล้วกับละครชิงรักหักสวาท ก็ต้องปรับบทให้ทันสมัยและหลากหลายขึ้น
“เราต้องสู้กับแพลตฟอร์มออนไลน์ ซีรีส์ต่างประเทศเยอะมาก สังเกตไหมละครไทยทำเรื่องที่เกี่ยวกับอาชีพเยอะขึ้นมาก อาทิ อาชีพทนาย ในละคร ให้รักพิพากษา , นักกอล์ฟ ในละคร ทีใครทีมันส์ ,หมอสมุนไพรไทย ใน ทองเอก หมอยาท่าโฉลง, มาตลดา ที่มีการพูดถึง หมอโรคหัวใจ หรือละครที่เคยทำ อย่าง ไข่มุกมังกรไฟ ก็มีการสอดแทรกเรื่องของตำรวจปราบปรามยาเสพติด ถ้ามองจริงๆ มันมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของบทละครมานานแล้ว สตอรี่มีการปรับให้ทันยุคทันสมัยขึ้นมาก เพียงแต่ว่าสัดส่วนละครในตลาด ผู้ชมมักจะไปพูดถึงละครอิจฉาริษยา”
ยิ่งยุคสมัยนี้ ที่โลกโซเชียลสามารถฟีดแบคละครทันทีฉากต่อฉาก ทวิตเตอร์ทันที ทำให้ใกล้ชิดกับคนดูมากขึ้น ก็ทำให้คนเขียนบทเห็นมุมมองสังคม ของโลก วีธีคิดของคน ก็ทำให้เรานำมาประยุกต์ในการสร้างสตอรี่ของละครให้เข้ากับบริบทสังคมมากขึ้น
ด้านผู้จัดละคร จ๋า ยศสินี ณ นคร จากค่ายเมคเกอร์วาย ผู้คร่ำหวอดในแวดวงละครมากว่า 20 ปี มีผลงานละครหลากหลายแนวทั้ง ดราม่า โรแมนติกคอมาดี้ อาทิ จำเลยรัก เงารักลวงใจ ธาราหิมาลัย สามหนุ่มเนื้อทอง รักประกาศิต คุณชายธราธร ทรายสีเพลิง เพลิงบุญ เขาวานให้หนูเป็นสายลับ และล่าสุดที่สร้างเรตติ้งเป็นประวัติการณ์ของละครแนวฟีลกู๊ด อย่าง มาตาลดา มองย้อนไป 25 ปีของวงการละครไทย ได้มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาในหลายๆด้าน ที่เห็นได้ชัดคือ ช่องทางในการดูละคร ที่มีหลากหลายแพลตฟอร์ม ไม่ใช่เฉพาะเพียง โทรทัศน์ เหมือนในอดีต ที่ในอดีตสถานีโทรทัศน์ที่ผลิตละครมีเพียงไม่กี่ช่อง แต่ปัจจุบันนอกจากละครจากสถานีโทรทัศน์ ยังมีแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆเข้ามา เป็นทางเลือกให้กับผู้ชม ส่งผลถึงการปรับเปลี่ยนและพัฒนาละครไทย ให้ตอบสนองผู้ชมที่มีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น
“การมอง ในสังคม บริบทสังคมในวันนั้น กับบริบทสังคมในวันนี้ เป็นบริบทคนละบริบทกัน คนดูก็เป็นคนละเจเนอเรชั่นกัน ความสนุกสนานในการเสพละครก็ต่างกันไม่เหมือนกันเลย เรียกว่าพลิกเลยดีกว่า คนละเรื่องกันเลยนะคะ ตั้งแต่อดีตละครไทย มีความหลากหลายมาก ทั้งละครสืบสวนสอบสวน ละครพีเรียด ละครคอมมาดี้ และละครแนวผี ซึ่งคนทำละครตั้งใจทำละครให้หลากหลายแนว เพียงแต่ว่า มันก็เป็นมายาคติอยู่ประมาณหนึ่งว่า ละครไทยออกตบตี เพราะคนจะจำแต่เรื่องนั้น มันเหมือนออกมาย้ำภาพมากกว่า แต่จริงๆแล้วถ้ามองอย่างตรงไปตรงมา ละครไทยก็มีการพยายามที่จะผลิตละครให้มีความหลากหลายแนวมาตั้งแต่เริ่มต้น อย่าง จ๋า ถือเป็นผู้จัดละครรุ่น 2 รุ่น 3 ตั้งแต่มีการผลิตละครไทยมา คุณแม่มยุรฉัตร คือผู้จัดละคร เจเนอเรชั่นแรก สมัยนั้นมีประมาณ 2 – 3 คน และก็มาเป็นรุ่นพี่ดา หทัยรัตน์ พี่แหม่ม ธิติมา และก็มาเป็นรุ่นจ๋า จริงๆแล้วคนทำละครก็เพิ่งเริ่ม มันไม่ได้มีมายาวนาน เพราะก่อนหน้านั้นจะเป็นละครร้อง ละครเวที อะไรแบบนี้ แต่ละครทีวีจริงๆ มันเพิ่งเริ่มต้น ด้วยความฝุ่นตลบกันมาพอสมควร ซึ่งจริงๆแล้วฝุ่นมันเริ่มซาๆให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าวงการละครเป็นอย่างไร”
อีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้จัดรุ่นใหม่ จ๋า ยศสินี มองว่า การมีแพลตฟอร์มช่องทางการดูละครมากขึ้น ทำให้เกิดข้อจำกัดของ งบประมาณ ในการทำละคร
“พอมีการแชร์ช่องทางการดูละครมากขึ้น เราต้องทำละครภายใต้งบประมาณที่จำกัด บางทีทำให้หยิบเลือกบทที่ค่อนข้างแน่นอน และดึงความสนใจได้ทันที มันอาจจะมัช่วงนั้นที่เราจะต้องสู้กับงบประมาณและการทำละครในวันที่ตลาดมันโดนแชร์ ขณะเดียวกันคนดูละครเมื่อเขามีแพลตฟอร์มมากขึ้น เขามีตัวเลือกมากขึ้น เขาเติบโตไปกับคอนเทนต์ที่ไม่ใช่แค่ของ อเมริกา ญี่ปุ่น หรือ ของจีน เขาสามารถเสพละครและคอนเทนต์จากทั่วโลก ดังนั้นคนดูก็โตขึ้น ในขณะที่คนทำเจอข้อจำกัด จ๋าอาจจะพูดแทนคนทำละครไม่ได้ทุกคน แต่จริงๆแล้วคนทำละครก็อยากทำละครหลากหลายแนว เพียงแต่ว่าช่วงที่ผ่านมามันมีการเปลี่ยนผ่าน และการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมละครทำให้เกิดข้อจำกัดหลายอย่าง ซึ่งเราก็ค่อยๆเรียนรู้ และหาแนวทางที่จะไปต่อ”
การทำละครในมุมมองของ “จ๋า ยศสินี” ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ไม่มีการจำกัดว่าละครแนวไหนจะเป็นสูตรสำเร็จ ขึ้นอยู่กับช่วงสังคมในช่วงนั้นๆ ซึ่งละครฟีลกู้ด การสร้างให้โดนใจคนและจับใจ ก็จะสามารถครองใจผู้ชมและเรตติ้งได้ โดยในฐานะคนทำงาน มองว่าบทละคร เป็นอีกส่วนสำคัญ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง
“บทละครต้องจริงมากขึ้น เมื่อก่อนเวลาการเล่าตัวละครว่าตัวนี้โลภ เราจะดูรู้ว่าตัวละครตัวนี้โลภ แต่ไม่เคยลงลึกว่า ทำไมตัวละครนั้นถึงโลภ เราจะดูแค่ว่าเขาเป็นใคร เขาทำอะไร แต่ไม่เคยลงไปถึงว่าทำไมเขาถึงทำแบบนี้ ณ ยุคนี้ถ้าเราอยากให้ละครจับใจคน เราต้องลงลึกไปถึงเหตุผลของตัวละคร และไม่ใช่เฉพาะพระเอกนางเอก แต่เป็นตัวละครทุกตัวเพราะเราทรีตทุกตัวละครเป็นมนุษย์เท่าๆกัน คนทุกคนเป็นพระเอกนางเอกในชีวิตของตัวเอง และคนทุกคนมีปมปัญหาของตัวเอง ปมปัญหาของตัวละครรายล้อมอาจจะไปตรงกับคนดูก็ได้”
ในอนาคต สำหรับ ผู้จัดคนนี้ อยากพัฒนาละครไทย ให้บทละครเล่าถึงมนุษย์จริงๆ ไม่ได้เล่าเป็นตัวละคร และจุดร่วมกับคนดูได้ พูดถึงปัญหาที่ผู้ชมพบเจอ และต้องเผชิญเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นละครแนวไหน อีกทั้งละครต้องหาเหตุผลของจุดร่วมนั้นด้วยว่า ทำไมตัวละครตัวนั้นๆ ถึงเป็นแบบนี้ และมีทางแก้ไข ให้ไปต่อยังไง ให้ละครเป็น “ความหวัง” กับ “คนดู”