เกมรักทรยศ เวอร์ชั่นไทยรีเมคออกมาดียังไงบ้าง
เกมรักทรยศ เวอร์ชั่นไทยกลมกล่อมลงตัว เพื่อให้ได้รสชาติแบบไทยที่เข้าใจง่ายขึ้น อินได้มากขึ้น
ใครที่ไม่เคยดู Doctor Foster ต้นฉบับของอังกฤษ และ A World of the Married Couple รีเมคเวอร์ชั่นเกาหลีมาก่อน อาจจะสามารถดู เกมรักทรยศ เวอร์ชั่นไทยได้อย่างสนุกสนานเพราะไม่ต้องนำมาเปรียบเทียบกับใคร แต่หากใครได้ดูเวอร์ชั่นต้นฉบับ หรือเวอร์ชั่นรีเมคของเกาหลีมาก่อน คงต้องมีนำบางฉากบางตอน หรือการแสดงของนักแสดงมาเปรียบเทียบอยู่ในหัวอยู่บ้างแน่นอน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด
สำหรับเวอร์ชั่นไทยมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่าง ทั้งอาชีพ ตัวละคร และอื่นๆ แม้ว่าจะแปลกหูแปลกตาสำหรับคนที่เคยดูเวอร์ชั่นอังกฤษ หรือเกาหลี แต่แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงนิดหน่อยที่ว่า ผู้จัดและคนเขียนบทน่าจะทำการบ้านมาดีแล้วว่าทำไมถึงเปลี่ยน เรามาดูกันว่าใน เกมรักทรยศ เวอร์ชั่นไทย มีจุดไหนที่เปลี่ยนไปแล้วเวิร์คสุดๆ บ้าง
- เทียบฉากต่อฉาก เกมรักทรยศ เวอร์ชั่นไทย-เกาหลี ซีนตำนานเก็บเรียบ
- เทียบชัด! เกมรักทรยศ (The Betrayal) ตัวละครเวอร์ชั่นอังกฤษ เกาหลี ไทย
เกมรักทรยศ เวอร์ชั่นไทยต่างจากเดิม ดีขึ้นยังไงบ้าง
อาชีพหมอของนางเอก
อังกฤษ (ต้นฉบับ) - แพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว
เกาหลี (รีเมค) - แพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว
ไทย (รีเมค) - จิตแพทย์
ในเวอร์ชั่นอังกฤษและเกาหลี นางเอกเป็นแพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว แต่ในเวอร์ชั่นไทยนางเอกเป็นจิตแพทย์ ไม่แน่ใจว่าผู้จัดมีเหตุผลอะไรที่เปลี่ยนสาขาแพทย์ของนางเอก แต่ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน การบอกว่านางเอกเป็นแพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว อาจไม่คุ้นหูคนไทยนัก และไม่แน่ใจว่านางเอกเป็นแพทย์ด้านใด ทำให้ไม่สามารถชูความเก่งกาจของนางเอกได้อย่างชัดเจน ไม่เหมือนจิตแพทย์ที่บอกปุ๊บคนไทยเข้าใจ
นอกจากนี้ยังสื่อให้เห็นว่านางเอกเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์และจิตใจได้ดี (ในช่วงแรก) ในฐานะที่เป็นจิตแพทย์ที่ให้คำปรึกษากับคนไข้อยู่เสมอๆ และให้เห็นความแตกต่างในการควบคุมอารมณ์ที่ไม่ค่อยได้ยามเสียใจหนักๆ ในภายหลังได้อีกด้วย
อาชีพของพระเอก
อังกฤษ (ต้นฉบับ) - นักพัฒนาทรัพย์สิน
เกาหลี (รีเมค) - เจ้าของบริษัทจัดอีเวนต์และผู้กำกับหนัง
ไทย (รีเมค) - เจ้าของโรงแรม
อาชีพของพระเอกเวอร์ชั่นอังกฤษ คือ นักพัฒนาทรัพย์สิน เวอร์ชั่นเกาหลี คือเจ้าของบริษัทจัดอีเวนต์และผู้กำกับหนัง ส่วนพระเอกเวอร์ชั่นไทยเป็นเจ้าของโรงแรม ซึ่งมีความใกล้เคียงกับต้นฉบับบมากกว่า แต่ก็ไม่เหมือนกันสักทีเดียว การปรับจากนักพัฒนาทัพย์สิน มาเป็นเจ้าของโรงแรม อาจจะคล้ายๆ กับเหตุผลที่ปรับอาชีพของนางเอก คือเพื่อความเข้าใจได้ง่ายขึ้นของคนไทยที่คุ้นชินกับอาชีพเจ้าของโรงแรมมากกว่า
นอกจากนี้ แม้ว่าอาชีพของพระเอกเกาหลีจะดูลุ่มๆ ดอนๆ กว่าเพราะหาทุนมาสร้างหนังไม่ได้ บริษัทจัดอีเวนต์ก็ไม่มีงานจ้าง แต่ในแง่ของการดำเนินเรื่องที่ทางฝั่งของพ่อเมียน้อยเข้ามาอุปถัมภ์ในภายหลัง โดยมีธุรกิจโรงแรมเหมือนกัน และโลเคชั่นยังเกิดขึ้นที่ภูเก็ตที่เป็นเมืองท่องเที่ยว การเลือกเป็นธุรกิจโรงแรมจึงดูสมเหตุสมผล และยามจะเจ๊งก็เจ๊งหนักได้เหมือนกัน
ลูกๆ ของบ้านนางเอกพระเอก
อังกฤษ (ต้นฉบับ) - ลูกชาย 1 คน
เกาหลี (รีเมค) - ลูกชาย 1 คน
ไทย (รีเมค) - ลูกชายคนโต 1 คน ลูกสาวคนเล็ก 1 คน
เวอร์ชั่นอังกฤษ และเกาหลีมีลูกชายคนเดียว เวอร์ชั่นไทยมีลูกสองคน คนโตเป็นผู้ชาย คนเล็กเป็นผู้หญิง จริงๆ แล้วการที่มีลูกชายแค่คนเดียวก็ไม่ได้รู้สึกว่าขาดอะไรไป แต่เมื่อเวอร์ชั่นไทยมีลูกผู้หญิงที่เป็นตัวเล็กที่สุดของบ้านเข้ามาเพิ่มด้วย ทำให้คาแร็กเตอร์ของลูกแต่ละคนในบ้านชัดเจนขึ้น คนโตแข็งกระด้างและโตกว่า คนเล็กนุ่มนวล อ่อนแอ อ่อนไหว และยังเป็นเด็กกว่ามาก เป็นคนยื้อความสัมพันธ์ของพ่อแม่จนถึงที่สุด ดังนั้นในเวอร์ชั่นไทยจึงค่อนข้างครบรสและเติมเต็มเนื้อเรื่องภายในบ้านได้ดียิ่งขึ้น
อาชีพของหนุ่มที่มาดามหัวใจนางเอก
อังกฤษ (ต้นฉบับ) - ครูสอนวิทยาศาสตร์
เกาหลี (รีเมค) - แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทจิตวิทยา
ไทย (รีเมค) - นักแสดง
เวอร์ชั่นอังกฤษ พระรอง หรือหนุ่มที่มาดามใจนางเอก เป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ ที่ไม่ได้ปรากฏตัวในช่วงครึ่งแรกของเรื่องเลย โผล่มาตอนแรกคือช่วงที่พระเอกนางเอกหย่ากันไปแล้ว ผ่านไป 2 ปีที่ครอบครัวของพระเอกและเมียน้อยกลับมาที่เมืองเดิมแล้วจัดงานปาร์ตี้ฉลองขึ้นบ้านใหม่ พระรองปรากฏตัวในฐานะคนรักของนางเอกในตอนนั้น เวอร์ชั่นเกาหลี พระรองเป็นแพทย์ที่เข้ามาทำงานในโรงพยาบาลเดียวกันกับนางเอก โผล่มาช่วงครึ่งหลังของเรื่องเช่นกัน แต่ในเวอร์ชั่นไทย พระรองเป็นคนไข้ของนางเอกที่เป็นดาราด้วย และโผล่มาตั้งแต่แรกๆ
ในแง่ของคาแร็กเตอร์ของพระรองทุกเวอร์ชั่น เป็นคนอบอุ่น ดีแสนดี และคอยอยู่เคียงข้างช่วยเหลือนางเอกอยู่เสมอเหมือนกัน เวอร์ชั่นอังกฤษบทพระรองอาจไม่เด่นเท่าเวอร์ชั่นเกาหลีและไทย โดยเวอร์ชั่นเกาหลีสร้างความสัมพันธ์ของพระรองและนางเอกด้วยการให้เป็นเพื่อนร่วมงาน ในขณะที่ของไทยให้เป็นหมอกับคนไข้
แต่ในจุดที่เนื้อเรื่องฉบับไทยวางเรื่องไว้ให้นางเอกมีข่าวลือว่าแอบคบกันตอนที่ไปดื่มด้วยกันที่ร้านเหล้า การให้พระรองเป็นดารา จนทำให้ข่าวแพร่สะพัดอย่างไว ก็ดูจะเข้าใจได้และสมเหตุสมผล นอกจากนี้ยังยิ่งตอกย้ำชีวิตของนางเอกด้วยว่า มีผู้ชายดีๆ หล่อๆ ดีกรีดารามาจีบขนาดนี้ ควรจะไปหาแฟนใหม่ หรือยังเลือกจมปลักกับคนเก่าที่ไม่เอาไหนแล้วยังนอกใจอีก
อุปนิสัยของเมียน้อย
รายละเอียดนิสัยเล็กๆ น้อยๆ ของบทเมียน้อย ทำให้เวอร์ชั่นไทยกลมกล่อมและคนไทยดูเข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าเมียน้อยในทุกเวอร์ชั่นมีความคล้ายกันค่อนข้างมาก (เวอร์ชั่นอังกฤษ และไทย ใช้ชื่อ “เคท” เหมือนกัน) ลูกคุณหนูที่ขาดความมั่นใจในตัวเองเพราะที่บ้านคอยบงการชีวิตทุกอย่าง จนมาเจอพระเอกที่ให้อิสระทางด้านความคิดกับเธอ และทำตัวเป็นที่พึ่งพาได้ แต่สำหรับเวอร์ชั่นไทย มีการเน้นย้ำหลายฉากว่าฝ่ายเมียน้อยเองไม่ได้สบายใจในสถานะแบบนี้ แถมความเกลียดเมียหลวงเข้าไส้ของเธอก็ไม่ได้มาจากการเกลียดที่เธอเป็นเมียหลวงเฉยๆ แต่เป็นการใส่ไฟวันละนิดวันละหน่อยจากพระเอกที่คอยส่งคำโกหกหลอกลวงให้ฟังอยู่บ่อยๆ ว่าเมียหลวงทำตัวข่มคนอื่น คิดว่าตัวเองอยู่เหนือคนอื่นตลอดเวลา ปล่อยให้เมียหลวงอยู่กับลูกๆ ตามลำพังที่บ้านไม่ได้ต้องรีบกลับบ้านเพราะเมียหลวงอาจโมโหทำร้ายลูก สารพัดคำโกหกจากฝ่ายชายที่กล่อมฝ่ายเมียน้อยอยู่หมัดว่านางเอกเป็นคนบ้าอำนาจ และควบคุมอารมณ์ไม่ได้ จุดนี้ในเวอร์ชั่นไทยทำออกมาเห็นได้ชัดมาก และคนไทยดูแล้วเข้าใจได้ทันทีเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีจุดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เข้ากับบริบถของคนไทย และอื่นๆ แต่ก็มีหลายจุดที่เวอร์ชั่นไทยและเกาหลีรีเมคจากอังกฤษได้ดีพอๆ กัน นั่นคือการเลือกนักแสดงที่สมมงทุกคน สถานที่ถ่ายทำหรูหราโอ่อ่า เสื้อผ้าหน้าผมสวยหล่อ รวมถึงฉากเลิฟซีนจัดหนักจัดเต็มชนิดลืมหายใจก็ถอดแบบออกมาได้สวยงามพอๆ กัน
ติดตามชม เกมรักทรยศ ได้ที่ช่อง 3 ทุกวันพุธ-พฤหัส ดูออนไลน์ที่ 3 Plus และดูย้อนหลังได้ที่ Viu