ประวัติ พันท้ายนรสิงห์ ทำไมโดนพระเจ้าเสือฟันคอ ใน “พรหมลิขิต”
ประวัติ พันท้ายนรสิงห์ ที่พุดตานพูดถึงในละคร พรหมลิขิต ทำไมโดนพระเจ้าเสือฟันคอ
พรหมลิขิต EP.3 ดำเนินมาถึงตอนที่ตัวละครใหม่ พุดตาน (การะเกดมาเกิดใหม่) ต้องมนต์กฤษณะกาลี และได้ย้อนมาในยุคกรุงศรีอยุธยา เมื่อพุดตานพยายามถามยายกุย ผู้ที่รับพุดตานมาดูแลจากคำขอของพระอาจารย์ชีปะขาว ว่าในยุคนี้เป็นสมัยของกษัตริย์องค์ใด ได้ความว่าเป็นยุคของขุนหลวงท้ายสระ หลังสิ้นยุคของพระเจ้าเสือ พุดตานรื้อฟื้นความรู้ประวัติศาสตร์ไทยของตัวเอง แล้วพูดถึงพันท้ายนรสิงห์ที่ถูกพระเจ้าเสือลงโทษด้วยการฟันคอ แต่ทุกคนในที่นั่นไม่รู้เรื่อง
- เรื่องเล่าหรือตำนาน? "พระอาจารย์ชีปะขาว" ผู้สยบปืนไฟ 500 กระบอก "บุพเพสันนิวาส-พรหมลิขิต"
- เปิดประวัติ "พระเจ้าเสือ" หลวงสรศักดิ์ กษัตริย์อยุธยาผู้มีนิสัยไม่ธรรมดา "พรหมลิขิต"
Sanook ขอเล่าประวัติของ พันท้ายนรสิงห์ ให้เข้าใจกันพอสังเขป ดังนี้
ประวัติ พันท้ายนรสิงห์
พันท้ายนรสิงห์ เป็นนายท้ายเรือในรัชสมัยพระเจ้าเสือ หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ตอนปลายอาณาจักรอยุธยา โดยพันท้ายนรสิงห์เป็นผู้มีชื่อเสียงด้านความซื่อสัตย์ แต่สุดท้ายถูกพระเจ้าเสือลงโทษด้วยการฟันคอ
พันท้ายนรสิงห์ เดิมมีนามว่า สิน เป็นชาวบ้านนรสิงห์ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ (ปัจจุบัน คือ อำเภอป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง) มีภรรยาชื่อว่า ศรีนวล ต่อมา ได้มีโอกาสรับราชการเป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งเอกชัยของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ แห่งกรุงศรีอยุธยา
ทำไมพันท้ายนรสิงห์โดนพระเจ้าเสือฟันคอ
ใน พ.ศ. 2246-2252 ครั้งที่สมเด็จพระเจ้าเสือ เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเอกไชย จะไปประพาสเพื่อทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี ขณะเรือพระที่นั่งถึงตำบลโคกขาม ซึ่งเป็นคลองคดเคี้ยว และมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก พันท้ายนรสิงห์ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่งมิสามารถคัดแก้ไขได้ทัน ทำให้หัวเรือพระที่นั่งชนกิ่งไม้ใหญ่หักตกลงไปในน้ำ ซึ่งพันท้ายนรสิงห์รู้ว่า ความผิดครั้งนี้มีโทษถึงประหารชีวิตตามโบราณราชประเพณี ที่กำหนดว่า “ถ้าผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่งให้หัวเรือพระที่นั่งหัก ผู้นั้นถึงมรณะโทษให้ตัดศีรษะเสีย” พันท้ายนรสิงห์จึงกราบบังคมทูลพระเจ้าเสือให้ประหารชีวิตตามกฎมณเฑียรบาล
พระราชทานอภัยโทษถึง 3 ครั้ง
พันท้ายนรสิงห์ไม่ได้รับโทษในครั้งแรก เพราะพระเจ้าเสือทรงพิจารณาเห็นว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นการสุดวิสัยมิใช่ความประมาท จึงพระราชทานอภัยโทษให้ แต่พันท้ายนรสิงห์ยืนกรานขอให้ตัดศีรษะตนทุกครั้ง เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมาย แต่เมื่อเกิดเหตุครั้งที่สอง พระเจ้าเสือโปรดให้ฝีพายทั้งปวงปั้นมูลดินเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์ แล้วให้ตัดศีรษะรูปดินนั้นเพื่อเป็นการทดแทนกัน จนท้ายสุดครั้งที่ 3 แม้พระเจ้าเสือจะทรงอาลัยรักน้ำใจพันท้ายนรสิงห์เพียงใด ก็ทรงจำฝืนพระทัยปฏิบัติตามพระราชกำหนด ดำรัสสั่งให้เพชฌฆาตประหารพันท้ายนรสิงห์ เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดครหาติเตียนพระเจ้าอยู่หัวได้ว่า ทรงละเลยพระราชกำหนดของแผ่นดิน และเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป
รำลึกถึงความดีงามของพันท้ายนรสิงห์
พระเจ้าเสือโปรดให้ตั้งศาลสูงประมาณเพียงตา นำศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกไชยซึ่งหักนั้น ขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาลพันท้ายนรสิงห์ (ปัจจุบันตั้งอยู่ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร) เพื่อเป็นการรำลึกถึงพันท้ายนรสิงห์ข้าหลวงเดิมซึ่งเป็นคนซื่อสัตย์ มั่นคง ยอมเสียสละชีวิตโดยไม่ยอมเสียพระราชประเพณี และพระองค์พระราชทานเงินทองสิ่งของจำนวนมากแก่ภรรยาลูกเมียพันท้ายนรสิงห์
ขุดคลองโคกขาม กำเนิดคลองสนามไชย-คลองมหาชัย-คลองด่าน
ภายหลังพระเจ้าเสือได้ทรงให้สมุหนายกเกณฑ์ไพร่พลจำนวน 30,000 คน ให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กอง ทำการขุดคลองลัดคลองโคกขามที่คดเคี้ยว ไปออกที่บริเวณแม่น้ำท่าจีน กว้าง 5 วา ลึก 6 ศอก ขุดเสร็จในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พ.ศ. 2252 ได้พระราชทานนามคลองนี้ว่า คลองสนามไชย ต่อมาเรียกเป็น คลองมหาชัย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเมืองมหาชัย แต่ชาวบ้านเรียกว่า คลองถ่าน ปัจจุบันชาวบ้านฝั่งธนบุรี เรียกชื่อว่า คลองด่าน