ขุนหลวงท้ายสระ (ขุนหลวงทรงปลา) โปรดเสวยปลาตะเพียน จนสั่งห้ามราษฏรจับ "พรหมลิขิต"
ขุนหลวงท้ายสระ (เจ้าฟ้าเพชร) หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 30 แห่งกรุงศรีอยุธยา ราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีตำนานการโปรดเสวยปลาตะเพียน ทรงห้ามมิให้ราษฎรกินปลาตะเพียน มิเช่นนั้นจะถูกปรับเงินกว่า 5 ตำลึง ซึ่งในละคร พรหมลิขิต จะมีฉากกล่าวถึงการโปรดเสวยปลาตะเพียนของขุนหลวงท้ายสระด้วย
- เรื่องย่อ พรหมลิขิต (Love Destiny 2) ละครแนวพีเรียดอิงประวัติศาสตร์
- เปิดประวัติ "ขุนหลวงท้ายสระ" พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 30 แห่งอาณาจักรอยุธยา "พรหมลิขิต"
พระเจ้าท้ายสระ โปรดเสวยปลาตะเพียน จนได้พระนามเรียกขานจากราษฎรว่า ขุนหลวงทรงปลา (ขุนหลวงหาปลา) เพราะพระองค์มักชอบตกปลา จะประทับอยู่ที่ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ สร้างขึ้นสำหรับใช้เป็นที่ประทับและสำราญพระราชหฤทัย มีสระน้ำล้อมรอบ ด้านหลังพระที่นั่งมีสระเลี้ยงปลาเงินปลาทอง เรียกว่าอ่างแก้ว ตั้งอยู่ท้ายพระราชวังหลวง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (เจ้าฟ้าเพชร) โปรดประทับที่พระที่นั่งองค์นี้ด้วยเช่นกัน จนเป็นที่มาของพระนามเรียกขานพระองค์
พระอุปนิสัยของพระเจ้าท้ายสระ พระองค์โปรดเสวยปลาตะเพียนมาก โดยออกพระราชกำหนดห้ามราษฎรจับหรือรับประทานปลาตะเพียน หากผู้ใดฝ่าฝืน มีบทลงโทษคือปรับเป็นเงิน 5 ตำลึง (หรือ 20 บาท) จากบันทึก ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 82 พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน หน้า 307 ระบุว่า
"ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระประพฤติเหตุในอโนดัปปธรรม แล้วเสด็จเที่ยวประพาสทรงเบ็ดเหมือนสมเด็จพระราชบิดา แล้วพระองค์พอพระทัยเสวยปลาตะเพียน ครั้งนั้นตั้งพระราชกำหนดห้ามมิให้คนทั้งปวงรับพระราชทานปลาตะเพียนเป็นอันขาด ถ้าผู้ใดเอาปลาตะเพียนมาบริโภค ก็ให้มีสินไหมแก่ผู้นั้นเป็นเงินตรา ๕ ตำลึง"
ในบันทึก ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 82 พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม หน้า 310–311 ยังกล่าวอีกว่า พระเจ้าท้ายสระทรงมีพระอุปนิสัยคล้ายกับพระเจ้าเสือ (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8) ผู้เป็นพระราชบิดาที่ชื่นชอบการล่าสัตว์เป็นอย่างมาก ทรงเคยประพาสป่าเพื่อฆ่าสัตว์เล่นสนุก หลายวันถึงกลับพระนคร
"สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้นพอพระทัยทําปาณาติบาต ฆ่ามัจฉาชาติปลาน้อยใหญ่ต่าง ๆ เป็นอันมาก ด้วยตกเบ็ดทอดแหแทงฉมวก ทำลี่กันเฝือก (ทำที่กันเฝือก) ดักลอบ ดักไชย กระทำการต่าง ๆ ฆ่าสัตว์ต่าง ๆ ประพาสป่าฆ่าเนื้อนกเล่นสนุกด้วยดักแร้ว ดักบ่วง ไล่ช้าง ล้อมช้าง ได้ช้างเถื่อนเป็นอันมาก เป็นหลายวัน แล้วกลับคืนมายังพระนคร"