
องค์กรฟุตบอลในอังกฤษอาจต้องจ่ายค่าดูแล หากแข้งมีอาการสมองเสื่อมหลังแขวนสตั๊ด
องค์กรฟุตบอลในอังกฤษ อาจต้องเผชิญแรงกดดันให้ร่วมรับผิดชอบค่ารักษาและดูแลอดีตนักฟุตบอลที่ประสบปัญหาทางสมองจากการค้าแข้ง ตามข้อเสนอใหม่ที่จะถูกยื่นต่อรัฐสภาอังกฤษเร็วๆนี้
เอเอฟพี รายงานว่า กลุ่มผู้รณรงค์กำลังเสนอการแก้ไขกฎหมายด้านการกำกับดูแลฟุตบอล โดยเน้นให้มีการดูแลและสนับสนุนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบาดเจ็บระยะยาว เช่น โรคสมองเสื่อม และภาวะทางระบบประสาทที่อาจเกี่ยวข้องกับอาชีพนักเตะ เป้าหมายของร่างแก้ไขนี้ คือการผลักดันให้องค์กรในวงการฟุตบอล เช่น สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) และสหภาพนักฟุตบอลอาชีพ (PFA) ต้องให้การสนับสนุนทางการเงินอย่างเป็นรูปธรรม ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าระบบปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์ต่อความต้องการในระยะยาวแม้จะมีการจัดตั้งกองทุน Brain Health Fund โดย PFA ในปี 2023 ด้วยงบตั้งต้น 1 ล้านปอนด์ (ประมาณ 44 ล้านบาท) และได้รับการสนับสนุนจากพรีเมียร์ลีก แต่ก็ยังถูกวิจารณ์ว่าไม่เพียงพอ โดยพรีเมียร์ลีกระบุว่ากองทุนนี้ให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวนักเตะ 121 ราย ด้วยการปรับปรุงที่อยู่อาศัยและสนับสนุนค่าดูแลที่บ้าน
คริส อีแวนส์ สมาชิกรัฐสภาจากพรรคแรงงานและหนึ่งในผู้ผลักดันร่างกฎหมายนี้ เรียกร้องให้วงการฟุตบอลต้องร่วมแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลของอดีตนักเตะที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ สมองเสื่อม และภาวะทางสมองอื่นๆ ที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับการเล่นฟุตบอลอาชีพตำนานทีมชาติอังกฤษจากชุดแชมป์โลกปี 1966 อย่าง แจ็ค และ บ็อบบี ชาร์ลตัน, มาร์ติน ปีเตอร์ส, เรย์ วิลสัน และ น็อบบี สไตลส์ ต่างเสียชีวิตด้วยโรคสมองเสื่อม เป็นอีกหนึ่งเครื่องเตือนใจถึงผลกระทบระยะยาวของเกมลูกหนังที่อาจยังไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม