ประวัติ กรมพระเทพามาตย์ (กัน) กับเรื่องราวสำคัญที่ไม่ได้เล่าใน “พรหมลิขิต”
ประวัติ กรมพระเทพามาตย์ (กัน) พระราชาของสมเด็จพระเพทราชา พระราชมารดาเลี้ยงของพระเจ้าเสือ และสมเด็จพระอัยกีเจ้าของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตัวละครใน พรหมลิขิต ออกอากาศทางช่อง 3 นำแสดงโดย ขวัญ-ขวัญฤดี กลมกล่อม มีบทบาทสำคัญต่อพระเจ้าเสือ เจ้าฟ้าพร และเจ้าฟ้าเพชร ที่เรื่องราวไม่ได้ถูกเล่าในละครพรหมลิขิต
ประวัติ กรมพระเทพามาตย์ (กัน) ในละคร พรหมลิขิต
กรมพระเทพามาตย์ หรือ สมเด็จพระอัยกีเจ้า กรมพระเทพามาศ พระนามเดิม กัน เป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระเพทราชา เป็นบาทบริจาริกาข้าหลวงเดิมในสมเด็จพระเพทราชาตั้งแต่ก่อนครองราชย์ มีพระธิดาคนหนึ่งชื่อ นิ่ม เมื่อพระเพทราชารับนางกุสาวดีมาเป็นภรรยาและให้กำเนิดบุตรชาย นางกันได้เลี้ยงดูพระราชกุมารนั้น (ภายหลังพระกุมารได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี หรือพระเจ้าเสือ) เมื่อพระเพทราชาครองราชย์ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2231 จึงทรงตั้งเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายขวา
หลังสมเด็จพระเพทราชาเสด็จสวรรคต พระองค์ออกไปตั้งตำหนักใกล้พระอารามวัดดุสิต ซึ่งเดิมเป็นของเจ้าแม่วัดดุสิตมาก่อน หลังจากนั้นสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดีทรงตั้งพระราชมารดาเลี้ยงขึ้นเป็นกรมพระเทพามาตย์
พ.ศ. 2245 สมเด็จพระเจ้าเสือได้สั่งลงพระอาญาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าเพชร กรมพระราชบวนสถานมงคล และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพร พระบัณฑูรน้อย โดยจับมัดเฆี่ยนยกละ 30 ที ทุกเช้าเย็น เนื่องจากทรงพระพิโรธที่ช้างพระที่นั่งตกหล่มลึก กล่าวหาว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอได้ทำถนนผ่านบึงเพื่อให้ช้างพระที่นั่งเดินข้ามติดหล่ม หมายจะฆ่าเอาพระราชสมบัติถึงกับพระองค์ขับช้างพระที่นั่งไล่ฟันด้วยพระแสงของ้าว และให้ทหารจับตัวมาลงพระอาญาดังกล่าว
เมื่อทราบเรื่อง กรมพระเทพามาตย์ (กัน) ซึ่งอยู่ที่พระตำหนักริมวัดดุสิตรีบนั่งเรือพระที่นั่งขึ้นมายังพลับพลาที่ตำบลบ้านพลูหลวง แขวงเมืองนครสวรรค์ มาช่วยกราบทูลขอพระราชทานโทษให้กับ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ ในฐานะที่ได้อุปถัมภ์บำรุงเลี้ยงรักษาสมเด็จพระราชบิดามาแต่ทรงพระเยาว์ หลังจากกราบทูลวิงวอนขอพระราชทานโทษไปเป็นหลายครั้ง สุดท้ายทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานโทษแก่กรมพระเทพามาตย์ ทำให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์พ้นโทษ
นอกจากนี้ หลังจากพระองค์เจ้าดำถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ พระองค์เจ้าแก้ว เสด็จไปผนวชเป็นพระรูปชี แล้วประทับที่พระตำหนักวัดดุสิต สถานที่ประทับเดียวกับ กรมพระเทพามาตย์ด้วย
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ กรมพระเทพามาตย์มีพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอัยกีเจ้า และสวรรคตในปีเถาะ (ราว พ.ศ. 2251) จึงมีพระราชโองการให้สร้างพระเมรุมาศ พระสงฆ์สดับปกรณ์ 10,000 รูป ตามราชประเพณี