จองเปรียง คืออะไร? ในละคร พรหมลิขิต ประเพณีสุดยิ่งใหญ่ ต้นแบบงานลอยกระทง
เตรียมไปงานจองเปรียง หรือ งานพิธีจองเปรียง กับพ่อริด (โป๊ป ธนวรรธน์) และ พุดตาน (เบลล่า ราณี) รวมทั้งตัวละครใน พรหมลิขิต ในช่วงวันเพ็ญเดือนสิบสองนี้ ซึ่งงานพิธีจองเปรียงก็คือพิธีแบบเดียวกับงานลอยกระทงในปัจจุบัน
- เรื่องย่อ พรหมลิขิต (Love Destiny 2) ละครแนวพีเรียดอิงประวัติศาสตร์
- เรื่องย่อละคร พรหมลิขิต EP.15 พ่อริด-พุดตาน เที่ยวงานจองเปรียง เคียงคู่ลอยโคมชมดอกไม้ไฟ
พระราชพิธีจองเปรียง เป็นพระราชพิธีที่จะกระทำในเดือนสิบสอง พิธีบูชาไฟ ถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา เปรียบเทียบได้กับ พิธีลอยกระทง ในปัจจุบัน
ในช่วงสมัยอยุธยารู้จักกันในนาม พิธีลอยประทีป หรือ พิธีจองเปรียง เดิมเป็นพิธีบูชาไฟตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ฮินดู มีไว้เพื่อสักการะพระพุทธเจ้าและพระแม่คงคา พิธีลอยพระประทีป เดือนสิบสอง กฏมนเทียรบาลเรียกพระราชพิธีนี้ว่า พระราชพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม พิธีดังกล่าวจะจัดขึ้นทุกเดือน 12 ซึ่งจะมีกิจกรรมการชักโคมไฟขึ้นสู่ยอดไม้ และกิจกรรมที่ทำให้น้ำคือการลอยโคมลงน้ำ โดยพระมหากษัตริย์เสด็จออกลอยพระประทีปในเวลากลางคืน และทอดพระเนตร การนักขัตฤกษ์ ส่วนพระอัครมเหสีและพระสนมฝ่ายในตามเสด็จในเรือพระที่นั่ง
ในสมัยอยุธยา พระราชพิธีจองเปรียง ลดชุด ลอยโคมลงน้ำ ซึ่งอาจเข้าใจได้ว่าเป็นพิธีเดียวกันทั้งหมด แต่พิธีนี้มี 2 กิจกรรมในคราวเดียวกัน ก็คือ จองเปรียง (ทำบนบก) โคมที่จุดดวงไฟจากการจุดน้ำมัน และชักชรอกโคมไฟขึ้นยอดเสา และ ลอยโคมลงน้ำ
พระราชพิธีจองเปรียง ชักโคม ลอยโคม เป็นพิธีของพราหมณ์ เพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหมครั้นคนไทยรับนับถือพระพุทธศาสนาก็ทำพิธียกโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณี ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลอยโคมบูชาพระพุทธบาท ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ประเทศอินเดีย
จากพิธีจองเปรียง มาถึงพิธีลอยกระทง เป็นประเพณีของไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ จะเริ่มทำตั้งแต่ กลางเดือน 11 ถึงกลางเดือน 12 ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำจะเต็มสองฝั่งแม่น้ำ ที่นิยมมากคือ ช่วงวันเพ็ญเดือน 12 เพราะพระจันทร์เต็มดวงทำให้แม่น้ำใสสะอาด แสงจันทร์ส่องเวลากลางคืน เป็นบรรยากาศที่สวยงาม เหมาะแก่การลอยกระทง