เอ๊ะยังไง? ศัลยา - รอมแพง ดราม่าปมละคร พรหมลิขิต งานนี้ใครรับจบ?
ทำคนดูเสียงแตกสุดๆ ละคร พรหมลิขิต ปิดฉากพร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีทั้งเชิงบวกและลบ ทั้งชื่นชอบและเสียดาย เรียกว่ากลายเป็นประเด็นพูดถึงจนติดเทรนด์โซเชียลข้ามวันข้ามคืน
ล่าสุดดูเหมือนเสียงของคนดูจะส่งถึง ศัลยา ผู้เขียนบทละครพรหมลิขิต และ รอมแพง ผู้เขียนนิยายพรหมลิขิต โดยมีการโพสต์ข้อความถึงประเด็นร้อนของละครพรหมลิขิต ที่ถูกวิจารณ์ตำหนิอย่างร้อนแรง ว่าความผิดพลาดอยู่ตรงไหน งานนี้ใครรับจบ?
โดยทาง ศัลยา ผู้เขียนบทละคร บุพเพสันนิวาส และ พรหมลิขิต ได้โพสต์ข้อความที่เป็นคำถามจากคนดู ถึงความรวบรัดของละครตอนจบ และเตรียมชี้แจงในประเด็นต่างๆ ...
พรหมลิขิต 2566 ยกที่หนึ่ง พรหมลิขิตตอนจบรวบรัดเกินไปนิยายเขียนคำว่า "จบบริบูรณ์" หลังจากฉากแต่งงานของพ่อริดเและพุดตานต่อจากนั้นนิยายเขียนว่า “ตอนพิเศษ” ความยาว 4 หน้าหนังสือในเมื่อเป็นตอนพิเศษจึงไม่เพิ่มไม่ลดไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ บทละครจึงเหมือนนิยายทุกประการคำว่ารวบรัดเกินไปจึงขอมอบให้ตอนพิเศษของนิยายเรื่องนี้
ยังมียกต่อๆ ไป
1) คาแรคเตอร์ของพ่อริด เรื่องนี้ต้องพูดกันยาว
2) คาแรคเตอร์คนอื่นๆ : ไม่เหมือนนิยายแน่หรือ
3) ตัวละครหาย : คนเขียนบทหรือนิยายกันแน่ที่ทิ้งตัวละคร
4) เหตุการณ์พุดตานถวายตัวที่ไม่มีในนิยาย : ทำไม
5) บทอาฆาตแค้นของจันทราวดีต่ออทิตยาที่หายไป : เพราะอะไร
6) ศรีปราชญ์ : ตัวละครเจ้ากรรมตั้งแต่บุพเพสันนิวาส : มีและไม่มีเพราะอะไร
7) การเคารพบทประพันธ์และการเคารพวิถีการเขียนบทละคร: ศาสตร์ที่แตกต่างกัน
8)บทละครเหมือนนิยาย หรือต่อยอดจากนิยาย เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ : ต้องคำนวณ
9) การวิพากษ์วิจารณ์รวบยอดที่รุนแรงและไม่เป็นวัตถุวิสัย
ทางด้านของ รอมแพง ผู้เขียนนิยาย บุพเพสันนิวาส และ พรหมลิขิต กล่าวว่า...
ขอน้อมรับความผิดพลาดของนิยายพรหมลิขิต ที่ทำได้ดีที่สุดเท่านี้ และน่าจะไม่ดีพอที่จะทำเป็นละคร จึงทำให้ทีมละครโดนวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก รวมไปถึงความอ่อนด้อยในการตอบคำถามของพิธีกรและนักข่าวก็ยิ่งสร้างลำบากใจให้กับผู้เขียนบทและทีมละครที่ทำดีที่สุดแล้ว เป็นความผิดของดิฉันเองค่ะ
หลายท่านอาจจะไม่พอใจที่ทีมทำละครโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยที่ดิฉันเหมือนลอยตัวจากการวิพากษ์นั้น จากการที่ดิฉันพิมพ์และพูดอยู่เสมอว่า หลังขายเป็นละครแล้วแทบจะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของทีมละครเลย นอกจากจะมีการขอคำปรึกษาจากทีมงาน และต้องให้เกียรติคนทำงาน เพราะศิลปะการนำเสนอของละครกับนิยายแตกต่างกัน
ซึ่งประโยคเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดิฉันพูดมาเป็น10ปีในการไปเป็นวิทยากรทุกแห่ง จากการที่นิยายได้ทำเป็นละครมาหลายเรื่อง แน่นอนว่าดิฉันไม่มีปัญหากับการดัดแปลงเพราะเข้าใจเป็นอย่างดีในศาสตร์ที่ต่างกัน แต่อาจจะมีความเสียดายในเนื้อหาหรือคาแร็คเตอร์ที่เปลี่ยนไปบ้างแต่ก็ไม่ใช่ความเสียใจที่ขายเป็นละครอย่างแน่นอน
ดังนั้นแบ่งความคิดเห็นที่ตำหนิจากความผิดหวังในสิ่งที่คาดหวังจากละครมาทางดิฉันได้เลยค่ะ เพราะถ้าไม่โดนตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์เสียบ้าง ก็จะไม่ทำให้เกิดการพัฒนา
ขอบคุณมากนะคะ รอมแพง