เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

3 สัญญาณอันตราย “กล้ามเนื้อลายสลาย” ที่เกิดจากการ “ออกกำลังกาย” มากเกินไป

3 สัญญาณอันตราย “กล้ามเนื้อลายสลาย” ที่เกิดจากการ “ออกกำลังกาย” มากเกินไป

เร็วๆ นี้มีข่าวว่าสองหญิงสาวเพื่อนซี้ชาวจีนวิดีโอคอลท้าแข่งออกกำลังกายด้วยการสควอท (Squat) โดยเมื่อทั้งคู่แข่งกันทำท่าสควอทไปมากกว่าคนละ 1,000 ครั้ง หญิงคนหนึ่งมีอาการปวดขาในเวลาต่อมา แต่ไม่ได้ใส่ใจมากเพราะคิดว่าปวดแบบเดียวน่าจะหาย แต่กลายเป็นว่าเธอปวดมากจนต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการปัสสาวะเป็นสีชาเข้ม การทำงานของไตผิดปกติ และพบว่าตัวเองอยู่ในภาวะ “กล้ามเนื้อลายสลาย” ซึ่งเพื่อนสาวของเธอก็ต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการเดียวกัน


ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย คืออะไร?

ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย เป็นภาวะอันตรายที่มาจากการที่กล้ามเนื้อลายส่วนที่เสียหายสลายตัว แล้วปล่อยสารที่อยู่ภายในเซลล์เข้าสู่กระแสเลือดจนอาจทำให้ไตวายได้ สาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อลายสลายอาจเกิดขึ้นได้เมื่อออกกำลังกายหนักมากเกินไป หรือนานเกินไป และอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้มากขึ้นหากมีปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ออกกำลังกายในที่ที่อุณหภูมิร้อนจัด หรือร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ ดื่มน้ำไม่เพียงพอ 


สาเหตุภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย

จริงๆ แล้วสาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อลายสลายมีหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น

  • การออกกำลังกายมากเกินไป หรือนานเกินไป

  • ความผิดปกติทางพันธุกรรมของกล้ามเนื้อตั้งแต่กำเนิด

  • ระบบเผาผลาญอาหารผิดปกติ เช่น ร่างกายเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและไขมันผิดปกติ ขาดความสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย ภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวาน หรือไฮโปไทรอยด์

  • ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง

  • กล้ามเนื้อขาดเลือดหรือตาย

  • อุบัติเหตุ เช่น รถชน ไฟช็อต หรือฟ้าผ่า

  • การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือการติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ เริม และเอชไอวี 

  • การได้รับสารพิษ เช่น พิษงู

  • การใช้ยาบางชนิดอย่างยากลุ่มสแตติน และกลุ่มยาลดไขมัน

  • การใช้สารเสพติดบางชนิด

  • การดื่มแอลกอฮอลล์

เป็นต้น

 

3 สัญญาณอันตราย อาการของภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย

  • ปวดกล้ามเนื้อที่ออกกำลังกายไปมากผิดปกติ

  • กล้ามเนื้อบวม

  • ปัสสาวะสีเข้มขึ้นมาจนเป็นสีแดงอมน้ำตาล หรือสีชาจีนเข้ม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติในการทำงานของไต หากสารสีแดงดังกล่าอุดตันในไต อาจทำให้เกิดภาวะไตวาย และอาจเสียชีวิตได้
  • นอกจากนี้ยังอาจมีอาการที่อาจพบได้เพิ่มเติม เช่น 

  • กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อย

  • อ่อนเพลีย หรืออาจมีไข้

  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ

  • มีรอบฟกช้ำตามตัว

  • ปวดตามข้อ

  • ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน

  • หัวใจเต้นเร็ว

  • หากรุนแรงอาจมีอาการชัก หรือหมดสติได้

  • วิธีป้องกันภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย

  • ไม่ออกกำลังกายนาน หรือมากเกินไป

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ

  • หากมีความผิดปกติทางร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงโดยเร็ว