เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

“บ่อน้ำผุด” ตามธรรมชาติ ไม่ควรกิน เสี่ยงไตเสียหาย-นิ่วในทางเดินปัสสาวะ

“บ่อน้ำผุด” ตามธรรมชาติ ไม่ควรกิน เสี่ยงไตเสียหาย-นิ่วในทางเดินปัสสาวะ

ในประเทศไทยมักมีข่าวชาวบ้านแห่ไปบูชา และเก็บน้ำจากแหล่งน้ำที่จู่ ๆ ก็เกิดขึ้นมาเป็น “บ่อน้ำผุด” เพราะเชื่อว่าเป็นน้ำที่มาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหลือเชื่อเหนือธรรมชาติ อันที่จริงแล้วความเชื่อเป็นเรื่องของส่วนบุคคล แต่หากการดื่มน้ำเหล่านั้นทำให้สุขภาพย่ำแย่ลง จนอาจอันตรายถึงขั้นรุนแรง จึงไม่แนะนำให้นำมาดื่มกิน เพราะอาจไม่ได้ช่วยรักษาโรคอย่างที่คิด

>> ฝันเห็นงู 7 ตัวขดรอบบ้าน ตะลึงเจอบ่อน้ำผุดปริศนา เชื่อมาจากถ้ำพญานาค


บ่อน้ำผุด มักเป็น “กรด”

โดยส่วนใหญ่แล้วตามแหล่งน้ำธรรมชาติอาจมีสารประกอบที่พบได้แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่โดยส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทย และที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย มักมี “กรด” เป็นสารประกอบที่สำคัญอยู่ในแหล่งน้ำที่เป็นบ่อน้ำผุด และจนถึงปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ชิ้นใดยืนยันว่าน้ำจากแหล่งน้ำเหล่านี้สามารถรักษาโรคได้

ทีมแพทย์ของ นพ. นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา ให้ข้อมูลหลังจากตรวจสอบกรณี น้ำผุด บ้านรกฟ้า ม.11 ต.ด่านช้าง อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 62 ที่ผ่านมาว่า “น้ำผุดปนเปื้อนเชื้อโรคมีความเป็นกรด ห้ามนำมาดื่มกินเด็ดขาด เนื่องจากสารที่มีความเป็น “กรด” จะก่อให้เกิดความระคายเคือง กัดกร่อน และมีผลต่อกระเพาะอาหาร ระบบย่อย ส่งผลต่อไต ทำให้เกิดนิ่ว ในระบบปัสสาวะได้ จึงขอแจ้งเตือนประชาชนไม่ควรนำน้ำจากแหล่งดังกล่าวมาดื่มกินเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้”


บ่อน้ำผุด ไม่ใช่ บ่อน้ำพุร้อน

บ่อน้ำพุร้อนตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ มีสารประกอบที่แตกต่างกันออกไปเช่นกัน บางทีก็มีกรด หรือบางที่อาจมีกำมะถัน ซึ่งอันดับแรกคือ ไม่ควรนำมาดื่มกิน แต่ในบางท้องที่มีมีการตรวจเช็กสภาพความเป็นกรดด่างของย้ำอยู่เสมอ ก็สามารถให้ประโยชน์กับร่างกายได้ ดั่งเช่นน้ำพุร้อนในประเทศญี่ปุ่นที่สามารถลงไปแช่เท้า แช่ตัวเพื่อความผ่อนคลายได้ หรือบ่อน้ำแร่ที่ช่วยในเรื่องของการบำรุงผิวพรรณ หรือหากเป็นบ่อน้ำพุร้อนในเมืองไทย ก็ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ และช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตในร่างกายได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย  รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า การแช่ในบ่อน้ำพุร้อนยังมีความเสี่ยงสำหรับคนบางกลุ่ม ได้แก่

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นความดันโลหิตสูง หัวใจ และเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่มีผลต่อหลอดเลือดและหัวใจอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน จะมีความเสี่ยงเกิดบาดแผลพุพองที่ผิวหนังที่เท้าอาจพบการติดเชื้อตามมาได้

  • หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำจะทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย รวมทั้งที่มดลูกจะขยายตัว  อาจเป็นอันตรายแก่เด็กในครรภ์และตนเองได้

  • ผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อหรือมีบาดแผล อาจทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น
  • นอกจากนี้ อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการลงไปแช่ในบ่อ ไม่ควรเกิน 40 องศาเซลเซียส


    วิธีแช่ตัวในบ่อน้ำพุร้อนที่ถูกต้อง

    ก่อนลงแช่น้ำให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย 20 นาที และจุ่มมือทดสอบความร้อนของน้ำ จากนั้นค่อย ๆ หย่อนตัวลงแช่ในน้ำร้อนอย่างช้า ๆ เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพเข้ากับน้ำร้อน และแช่ประมาณ 10 นาที ไม่ควรแช่น้ำร้อนนานเกินไป และหากแช่น้ำร้อนแล้วผิวแห้ง แตก แสบ ควรทาโลชั่นเพื่อบำรุงผิวด้วย