เนื้อหาในหมวด เพลง

Polycat กับเส้นทางแห่งความสำเร็จกับแนวซินธ์ป๊อป 80s’

Polycat กับเส้นทางแห่งความสำเร็จกับแนวซินธ์ป๊อป 80s’

ท่ามกลางการต่อสู้ฟาดฟันกันในวงการเพลงไทย และต่างประเทศ ที่มองหาศิลปินที่มีดีทั้งรูปลักษณ์ ภาพลักษณ์ และเอกลักษณ์ นอกเหนือไปจากเพลงดีๆ และมาร์เก็ตติ้งโดนๆ แต่เชื่อเราเถอะว่ามีศิลปินเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น ที่จะมองหา “เอกลักษณ์” ของตัวเองเจอ แล้วสามารถขับเคลื่อนทิศทางของวงไปในแนวนั้นได้อย่างชัดเจน ไม่อยู่ระหว่างครึ่งกลางๆ จะป็อปดี ร็อคดี แดนซ์ดี หรือลูกทุ่งดี

Polycat เป็นหนึ่งในไม่กี่วงที่เรากล้าพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า “พวกเขาเลือกทางเดินให้กับวงได้อย่างชัดเจน” ชนิดไม่ขาวก็ดำไปเลย ไม่ใช่เทาๆ หม่นๆ พวกเขาหลงใหลในดนตรีซินธ์ป๊อปยุค 80s’ แทนที่พวกเขาจะเอามาบวกกับแนวอื่นๆ ให้ดูเข้ากับวัยรุ่นสมัยนี้ แต่พวกเขากลับคงเอกลักษณ์ของซินธ์ป๊อป 80s’ เอาไว้ได้อย่างชัดเจน พวกเขาทำให้คนที่ฟังป๊อปแดนซ์ตามสมัยนิยมทั่วไป หันมาฟังเพลงยุคคุณปู่คุณพ่อในแบบที่ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ โดยเนื้อหาของเพลง แม้กระทั่งคำที่ใช้ในเนื้อเพลงยังคงความเป็นวัยรุ่นสมัยนี้เอาไว้ 100%

...ฟังดูแล้วก็งงๆ ว่าเนื้อเพลงวัยรุ่น แต่ดนตรีรุ่นปู่ มันจะเข้ากันได้ยังไง?

Polycat ทำไปแล้วล่ะ...

 

[Review] Polycat : 80 Kisses

จากความสำเร็จในโลกออนไลน์ และออฟไลน์ของเพลงอย่าง “พบกันใหม่” และ “มันเป็นใคร” ทำให้หลายคน (รวมถึงเรา) ค่อนข้างจะคาดหวังกับอัลบั้มนี้พอสมควร ว่ามันจะต้องเป็นซินธ์ป๊อปเก่าแต่เก๋ในแบบที่เราเคยฟังแน่นอน ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ แถมยิ่งกว่าที่เราคิดเสียออก เพราะแต่ละเพลงฟังแล้วเหมือนได้ย้อนกลับไปวัยเด็ก ที่เราฟังเพลงของพ่อแม่ยังไงยังงั้น (แน่นอนว่าช่วง 80s’ ยังไม่อยู่ในวัยที่เลือกเพลงฟังเองได้ ได้แต่ฟังตามผู้ใหญ่อย่างพ่อแม่ หรือพี่เท่านั้น)

สิ่งที่ทำให้เราประหลาดใจคือ ทุกเพลง ย้ำว่าทุกเพลง! ไม่มีเพลงไหนหลุดคอนเส็ปต์ของ 80s’ เลย อาจจะมีบางเพลงที่ดึงซาวนด์ของดิสโก้ป๊อปเข้ามาเพิ่มสีสันด้วย แต่ไม่มีเพลงไหนที่จะเรียกได้ว่าเป็นเพลงตามสมัยนิยมปัจจุบันเลย คือเก่าแล้วก็เก่าให้ถึงที่สุดจริงๆ มันต้องอย่างนี้เซ่!

แต่ถึงกระนั้น นอกจาก #เหย่ #อู้ว หรืออะไรก็ตามที่พี่ “นะ” ใส่เป็นสร้อยเอาไว้ ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกแปลกแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ทำให้เราสะดุดหู คือ คำภาษาไทยบางคำที่ถูกบังคับด้วยวรรณยุกต์ หากใส่ทำนองผิด จะทำให้การออกเสียงคำๆ นั้นในเพลงเพี้ยนไป เช่น “จากกัน” ในเพลงอาจจะร้องออกมาให้เราได้ยินว่า  “จากกั๊น” “ให้” เราจะได้ยินว่า “ให่” หรือคำว่า “สว่าง” เราจะได้ยินเป็น “สวาง” เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการเว้นวรรคที่บางทีก็รู้สึกถึงการเว้นวรรคแปลกๆ อยู่บ้าง

 

แทร็คแนะนำ

เพื่อนไม่จริง

แทร็คแรกของอัลบั้ม ที่เปิดปุ๊บ ก็รู้เลยว่าเพลงแบบนี้เราเปิดฟังกับพ่อแม่บนรถ ขณะขับรถกลับบ้านได้ ถึงแม้เนื้อเพลงจะแอบเศร้าเล็กๆ กับรักข้างเดียวที่เป็นได้แค่เพื่อน แต่จังหวะ และดนตรีที่สดใส ทำให้ฟังสนุกกว่าที่คิด (บางช่วงเราแอบนึกถึงเพลงของ Daft Punk ด้วยซ้ำ)

 

ซิ่ง

อารมณ์แตกต่างจากเพลงอื่นๆ พอสมควร แนวดิสโก้แดนซ์ ฟังแล้วนึกภาพผู้ชายแต่งตัวเหมือนอินทรีแดง กางเกงขาม้า ขับรถซิ่งป้อสาวในเมือง อารมณ์ร็อคเกอร์หนุ่มที่บอกรักสาวแบบแมนๆ พร้อมเพื่อนๆ ยืนเป็นแบ็คอัพอยู่รายล้อม ถือเป็นความเท่สไตล์ 80s’ ที่รุ่นพ่อแม่เราน่าจะเคยอินกันมาก่อน

 

ปืน

นอกจากริปกีต้าร์เท่ๆ แล้ว ยังมีเสียงซินธิไซเซอร์ที่ชัดเจนว่าเป็นเพลงยุค 80s’ จริงๆ เป็นอีกเพลงที่ฟังสนุกเพลินๆ จนสามารถออกเสต็ปได้เบาๆ เลยทีเดียว

 

พบกันใหม่ (Extended version)

ในฐานะที่เป็นคนฟังเพลงยุค 90s’ เราค่อนข้างคุ้นเคยกับเพลงเวอร์ชั่น extended ที่มักจะแถมมากับอัลบั้มพิเศษของศิลปินใดศิลปินหนึ่ง สำหรับ Polycat เองก็มีเวอรชั่น extended ให้เราได้ฟังเพลินๆ เหมือนกัน แบบนี้ยิ่งให้ความรู้สึกว่าเพลงมันย้อนยุคไปในวัยที่ฟังเพลงจากแผ่นนไวนิล หรือจากเทปคาสเส็ตจริงๆ เพลงเพราะเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือภาคดนตรีที่มีลูกเล่น ซาวนด์นู่นนั่นี่เพิ่มอรรถรสให้มุ้งมิ้ง นุ้งนิ้ง สดใสมากขึ้น

 

หยุดยาวนี้ ถ้าอยากหาอัลบั้มฟังยาวๆ กับคนในครอบครัว หยิบ Polycat ขึ้นมาเปิดก็ไม่น่าจะ culture shock กันจนเกินไป ดีไม่ดีคุณอาจหาเรื่องพูดคุยเรื่องดนตรีที่พ่อกับแม่เคยชอบฟังสมัยสาวๆ หนุ่มๆ เปรียบเทียบกับเพลงสมัยนี้ดูบ้างก็ได้ เขาว่ากันว่าเพลงที่เราชอบ บ่งบอกบุคลิกของเราได้ ลองดูแล้วกันพ่อกับแม่เราจะชอบฟังเพลงแบบไหน หรือจะหาอัลบั้มใหม่ๆ ฟังกันช่วงหยุดยาวนี้ก็ได้ ตามไปดูกันที่ “7 อัลบั้มใหม่สุดเจ๋ง วันหยุดสงกรานต์นี้ฟังกันเพลินๆ ยาวๆ” ได้เลยค่ะ