เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

เชื้อโรคอันตรายที่อาจมากับ “โถส้วม-ห้องน้ำ”

เชื้อโรคอันตรายที่อาจมากับ “โถส้วม-ห้องน้ำ”

โถส้วม และห้องน้ำ เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย ควรเลือกใช้ห้องน้ำที่สะอาด ทำความสะอาดห้องน้ำเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับกลอนประตู ขันน้ำ ปุ่มชักโครก โดยตรง ปิดฝานั่งทุกครั้งที่กดชักโครก ไม่ยืนบนโถส้วม และทำความสะอาดโถส้วมให้สะอาดทุกครั้งหลังใช้

เชื้อโรคหลายอย่างมาจากห้องที่ใช้เพื่อการขับถ่ายอย่างห้องส้วม ดังนั้นควรใช้โถส้วมอย่างระมัดระวัง เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อโรค โรคติดต่ออันตรายอื่น ๆ ไม่ว่าจะมาจากส้วมที่บ้าน หรือที่ห้องน้ำสาธารณะก็ตาม


จุดอันตรายที่มักพบเชื้อโรคในห้องน้ำ

ข้อมูลจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุจุดที่มักพบเชื้อโรคในห้องน้ำเอาไว้ ดังนี้

  • ลูกบิด/กลอนประตูห้องน้ำ
  • ชักโครก

  • สายฉีดน้ำชำระ

  • สบู่ล้างมือ แบบเปิดเติมสบู่เหลวลงไปในภาชนะเดิม (แบบบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้ง)

  • เครื่องเป่ามือ

  • ฝักบัวอาบน้ำพลาสติก

  • แปรงสีฟัน


เชื้อโรคอันตรายที่อาจมากับโถส้วม-ห้องน้ำ

เชื้อโรคที่มักพบในห้องน้ำ มีมากมาย และสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่าง ๆ ได้ เช่น

  • เชื้ออีโคไล (Escherichia coli) ก่อให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง

  • เชื้อโรคกลุ่มสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ก่อโรคทางผิวหนัง หรือสร้างสารพิษที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ 

  • เชื้อเอ็มอาร์เอสเอ (Methicilin Resistant Staphylococcus Aureus หรือ MRSA) ก่อให้เกิดอาการดื้อยา

  • เชื้อโคลิฟอร์ม (Faecal coliform bacteria) ทำให้ถ่ายเป็นน้ำ เป็นมูกเลือด

  • เชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ (Clostridium difficile) ทำให้ท้องร่วง และลำไส้อักเสบ

  • เชื้อมัยโคแบคทีเรีย (Mycobacteria avium) ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการไอแหบ หายใจลำบาก เรื้อรังและหมดแรง ซึ่งเชื้อชนิดนี้จะเป็นอันตรายต่อผู้ที่มีโรคทางพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดโรคในปอด ทางเดินอาหารและผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

  • เชื้อเคล็บซีเอลลา นิวโมเนีย (Klebsiella pneumoniae) เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น โรคติดเชื้อในปอด ติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
  • นอกจากนี้ยังพบเชื้อโรคอีกมากมายจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องน้ำ


    วิธีหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโรคต่าง ๆ จากห้องน้ำ

  • หากเป็นห้องน้ำที่บ้าน ควรทำความสะอาดเป็นประจำทุกวัน หรือสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคต่าง ๆ

  • ปิดฝาชักโครกทุกครั้งที่กดชักโครก ลดการกระเด็นของสิ่งปฏิกูลในโถส้วมได้มาก

  • ไม่ยืนบนโถส้วม เพราะอาจเสี่ยงส้วมแตก เกิดบาดแผลได้

  • ไม่วางแปรงสีฟันไว้ใกล้ ๆ โถส้วม ป้องกันการกระเด็นจากน้ำในโถส้วมเมื่อกดชักโครก และควรทำความสะอาดแปรงสีฟันหลังใช้งานทุกครั้ง รวมถึงเปลี่ยนแปรงสีฟันทุก ๆ 3 เดือนหรือเร็วกว่านั้นด้วย

  • เปลี่ยนอุปกรณ์ในห้องน้ำ เช่น สายชำระ ฝักบัว ให้เป็นวัสดุที่ทำจากโลหะแทน ช่วยลดการสะสมเชื้อแบคทีเรียได้มากกว่าแบบที่ทำจากพลาสติก

  • สำหรับห้องน้ำสาธารณะ ควรเลือกใช้บริการห้องน้ำที่สะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องน้ำโดยตรง เช่น ลูกบิด กลอนประตู ปุ่มกดชักโครก สามารถใช้ทิชชู่วางก่อนจับได้

  • หลีกเลี่ยงการใช้สายชำระที่ไม่สะอาด

  • เลือกใช้สบู่ล้างมือที่มาจากภาชนะที่ปิดสนิท แบบใช้แล้วทิ้ง บรรจุภัณฑ์สะอาด

  • ใช้กระดาษเช็ดมือแบบใช้แล้วทิ้ง มากกว่าผ้าขนหนูเช็ดมือ รวมทั้งเครื่องเป่ามือ
  • >> ระวัง! เชื้อโรคในห้องน้ำ ก่อโรคสารพัด