เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

“ยาสีฟัน” รักษา “แผลไฟไหม้-น้ำร้อนลวก” ได้จริงหรือ ?

“ยาสีฟัน” รักษา “แผลไฟไหม้-น้ำร้อนลวก” ได้จริงหรือ ?

ใครที่เคยเอายาสีฟันทาลงบนแผลแสบร้อนจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เพราะคิดว่าจะช่วยรักษาแผลให้หายได้ดีขึ้น ขอให้เปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะเสี่ยงแผลติดเชื้อ และล้างออกได้ยาก วิธีที่ดีที่สุดในการปฐมพยาบาลแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก คือการล้างแผลด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือล้างแผล

รศ.นพ. อภิชัย อังสพัทธ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า ยาสีฟัน ที่มีฤทธิ์เย็น ๆ จากส่วนผสม เช่น เมนทอล และอื่น ๆ เพียงแค่ช่วยให้รู้สึกเย็น ๆ ที่แผลเท่านั้น ไม่ได้ช่วยอะไรในการรักษาแผลที่เกิดจากไฟไหม้ และน้ำร้อนลวกแต่อย่างใด หนำซ้ำ การทายาสีฟันลงไปบนแผล นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้แผลหายเร็วแล้ว ยังอาจเสี่ยงติดเชื้อที่แผลได้ และยังล้างออกได้ยากจนอาจทำลายเนื้อเยื่อของผิวหนัง และแผลบางส่วนออกไปโดยไม่ตั้งใจได้อีกด้วย


วิธีปฐมพยาบาล เมื่อมีแผลจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

  • ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือล้างแผล

  • ห้ามถู หรือแกะแผล เพราะจะทำให้ผิวหนังถูกทำลาย และอาจติดเชื้อที่แผลได้

  • แผลที่ตื้นมาก และมีขนาดเล็ก อาจใช้ยารักษาบาดแผลไฟไหม้ที่ได้มาตรฐานทาได้

  • หากปวดแผลมาก สามารถกินยาพาราเซตามอล เพื่อลดอาการปวดลงได้

  • หากมีแผลพุพอง หลีกเลี่ยงการเจาะแผลเพื่อเอาน้ำในแผลออก เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อได้

  • แผลที่มีขนาดใหญ่ หลังจากล้างด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือล้างแผลแล้ว ควรเช็ดให้แห้ง คลุมบาดแผลด้วยผ้าสะอาดที่แห้ง แล้วรีบพบแพทย์

  • หากโดนอวัยวะสำคัญ เช่น ใบหน้า ดวงตา หู หรือข้อพับต่าง ๆ ควรพบแพทย์ทันที

  • สามารถใช้ว่านหางจระเข้ได้ เพราะช่วยรักษาสภาพแผลให้ชุ่มชื้น ลดอาการปวดแสบของแผลได้ แต่ต้องระมัดระวังในการนำมาใช้ เพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อได้เช่นกัน และต้องใช้หลังการล้างแผลให้สะอาดแล้วเท่านั้น