แคมเปญ “Forest Rescue” ช่วยชีวิตต้นไม้กว่า 500 ต้น สร้างกำแพงธรรมชาติดักฝุ่น PM 2.5 มากถึง 700 กิโลกรัมต่อปี
เมื่อประมาณกลางปีก่อน แคมเปญ “Forest Rescue” หรือฟอเรส เรสคิว ปฏิบัติการกู้ชีพต้นไม้รอบกรุงเทพฯ และปริมณฑลของโครงการอสังหาริมทรัพย์ THE FORESTIAS – เดอะ ฟอเรสเทียส์ ได้เกิดขึ้นเพื่อต้องการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับคุณค่าและความสำคัญของธรรมชาติและต้นไม้ใหญ่ในเมือง
สำหรับรายละเอียดของแคมเปญนั้นคือการลงพื้นที่ช่วยต้นไม้ใหญ่ ควบคู่กับการจัดตั้งทีมปฏิบัติการ หรือ Forest Rescue Team กระจายตัวลงพื้นที่เพื่อสำรวจ บำบัด และให้ความช่วยเหลือในการขนย้ายต้นไม้จากแหล่งพื้นที่เดิมที่ไม่เหมาะสมไปยังบ้านหลังใหม่ที่มีระบบนิเวศขนาดใหญ่ ภายในโครงการ THE FORESTIAS – เดอะ ฟอเรสเทียส์ บนพื้นที่ที่จัดสรรในการรองรับประมาณ 3 ไร่
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทำให้สามารถช่วยเหลือต้นไม้ได้กว่า 500 ต้น รวมทั้งยังสามารถสร้างความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของธรรมชาติให้กับคนได้มากกว่า 10 ล้านคน สำหรับต้นไม้ที่ช่วยเหลือมานั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มต้นไม้ขนาดใหญ่ ที่มีอายุเฉลี่ย 5-10 ปีขึ้นไป อาทิ ต้นจามจุรี ต้นก้ามปู ต้นพญาสัตบรรณ ต้นหูกระจง ต้นมะขาม ต้นมะม่วง ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อมนุษย์และสัตว์ มีคุณสมบัติในการดูดซับก๊าซที่เป็นพิษต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์
พร้อมทั้งสามารถสร้างก๊าซออกซิเจนกลับคืนได้ถึง 100 – 125 ล้านลิตรต่อปี (ค่าเฉลี่ยต้นไม้ 1 ต้น สามารถผลิตก๊าซออกซิเจนได้ 200,000 – 250,000 ลิตรต่อปี) เท่ากับรองรับความต้องการก๊าซออกซิเจนของมนุษย์ได้ถึง 1,000 คนต่อปี หรือดักจับอนุภาคฝุ่นละออง ควัน และไอพิษต่างๆ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพได้ถึง 700 กิโลกรัมต่อปี (ค่าเฉลี่ยต้นไม้ 1 ต้น ดักจับอนุภาคฝุ่นได้ 1.4 กิโลกรัมต่อปี)
ต้นไม้ทุกต้นจะได้รับการดูแลจนกลับมาเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง พร้อมเป็นต้นไม้พี่เลี้ยงให้กับต้นกล้าที่โครงการปลูกด้วยเมล็ด รวมทั้งสิ้นมากกว่า 30,000 ต้น ภายใต้ทฤษฎีการปลูกป่าเชิงนิเวศแบบยั่งยืน หรือ Eco-Forest ทำให้เกิดระบบนิเวศที่หลากหลายครอบคลุมพื้นที่ของผืนป่าสาธารณะ “Forest at THE FORESTIAS – ฟอเรส แอท เดอะ ฟอเรสเทียส์” จำนวนทั้งสิ้น 30 ไร่ หรือ 48,000 ตารางเมตร โดยเมื่อโครงการเสร็จสิ้นแล้วจะเปิดบางส่วนเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนเข้าชม พักผ่อน หรือศึกษาระบบนิเวศธรรมชาติโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณก๊าซอ๊อกซิเจนในอากาศได้สูงถึง 6,000 – 7,500 ล้านลิตรต่อปี ดักจับฝุ่นได้มากถึง 420,000 กิโลกรัมต่อปี และทำให้อุณหภูมิในบริเวณพื้นที่มีอุณหภูมิลดลงประมาณ 2-4 องศาเซลเซียส