เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

ความแตกต่างของ \

ความแตกต่างของ "แมงดาถ้วย" และ "แมงดาจาน" พร้อมวิธีสังเกตแบบไหนปลอดภัย

“แมงดา” เป็นสัตว์ที่คนไทยนิยมนำมารับประทาน โดยเฉพาะส่วนของ “ไข่แมงดา” ที่นำมาปรุงอาหารรสแซ่บถึงใจ จนเป็นหนึ่งในเมนูที่หลายคนต้องถามหาตามร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งซื้อไปปรุงอาหารเองที่บ้าน แต่แมงดาไม่ได้มีชนิดเดียว และมีชนิดที่รับประทานได้ และรับประทานไม่ได้ เพราะมีพิษอยู่ด้วย ดังนั้นอาจเป็นอันตรายหากสังเกตได้ไม่ดีพอ

แมงดาทะเลแบบไหนมีพิษ

ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ระบุว่า แมงดาทะเลในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ 

  • แมงดาถ้วย หรือ แมงดาไฟ หรือเห-รา (Carcinoscorpius rotundicauda ) แมงดาชนิดนี้เป็นแมงดาที่มีพิษที่เรียกว่าสาร tetrodotoxin

  • แมงดาจาน (Tachypleus gigas) แมงดาชนิดนี้เป็นแมงดาที่ไม่มีพิษ ชาวบ้านนำมาทำเป็นอาหาร 
  • ความแตกต่างของแมงดาถ้วย และแมงดาจาน

    โดยทั่วไปสามารถแยกแมงดาทั้ง 2 ชนิดได้ โดยลักษณะภายนอกคือ แมงดาถ้วยตัวจะเล็กกว่า ขนาดโตเต็มที่ไม่เกิน 18 เซ็นติเมตร ลักษณะหางจะกลมและเรียบ ส่วนแมงดาจานตัวจะโตกว่าขนาดเต็มที่อาจโตถึง 30 เซ็นติเมตร ลักษณะเฉพาะคือ ส่วนหางถ้าดูหน้าตัด หางจะเป็นสามเหลี่ยม มุมด้านบนของสามเหลี่ยมจะเป็นรอยหยักชัดเจน ในการ ระบาดของการเป็นพิษจากการรับประทานไข่แมงดาทะเลในปี 2538 นี้ ผู้ป่วยทั้งหมดมี อาการชาตามปาก แขนขา  แล้วตามด้วยอาการอัมพาต ผู้ป่วยที่เสียชีวิตเกิดจากการหยุดหายใจเนื่องจาก กล้ามเนื้อหายใจไม่ทำงาน ความแตกต่างของแมงดาถ้วย และแมงดาจาน

    อาการเมื่อได้รับพิษจากแมงดาถ้วย

    อาการเป็นพิษมักเกิดขึ้นภายหลังรับประทานแมงดาทะเลประมาณ 10-45 นาที หรืออาจช้าไปจนถึง 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดและแหล่งที่อยู่ของแมงดาทะเล ฤดูกาล จำนวนที่รับประทาน หรือปริมาณของสารพิษที่ได้รับ เช่นรับประทาน ไข่แมงดา อาการพิษจะเกิดรุนแรงกว่ารับประทานเฉพาะเนื้อ อาการมักเริ่มจากมึนงง รู้สึกชา บริเวณลิ้น ปาก ปลายมือ ปลายเท้าและมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง เริ่มจาก มือ แขน ขา ตามลำดับ รวมทั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางรายอาจมีน้ำลายฟูมปาก เหงื่อออกมาก พูดลำบาก ตามองเห็นภาพไม่ชัด ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก จะมีผลทำให้กล้าม เนื้อหายใจอ่อนแรง ผู้ป่วยอาจตายภายใน 6-24 ชั่วโมง จากการหยุดหายใจ

    แมงดาทะเลหางกลม ห้ามรับประทาน

    ข้อมูลการทดสอบความเป็นพิษเบื้องต้น พบว่า แมงดาถ้วยที่พบในประเทศไทย บางตัวมีพิษ บางตัวไม่มีพิษ โดยทั่วไปพบว่ามีพิษประมาณ 30 % แต่ไม่สามารถแยกตัวที่มีพิษกับตัวที่ไม่มีพิษจากลักษณะภายนอกได้ จากการสอบถามผู้ป่วย ส่วนใหญ่รับประทานแมงดาถ้วย สาเหตุที่รับประทานแมงดาถ้วย เพราะความเชื่อผิดๆ ของ ชาวบ้านว่า ตัวเห-รามีพิษ แต่แมงดาถ้วยไม่มีพิษ

    ดังนั้น แม้ว่าจะมีการอ้างว่าเป็นแมงดาถ้วย แต่หากพบว่ามีหางกลม ก็ไม่ควรเสี่ยงรับประทาน