เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

\

"ประจำเดือน" ผิดปกติ สาเหตุของโรคอะไรบ้าง?

“ประจำเดือน” คือเยื่อบุของโพรงมดลูกที่หลุดออกมาทุกรอบเดือนของผู้หญิง ในปกติผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์จะมีรอบเดือนทุกๆ 21-35 วัน และแต่ละรอบจะยาวนานราว 2-7 วัน หากประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมีความผิดปกติอะไรบ้างอย่าง อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ได้


เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เป็นอย่างไร?

รศ.นพ.สุรสิทธิ์ ชัยทองวงศ์วัฒนา แพทย์ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า อาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด สามารถแบ่งผู้ป่วยได้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ยังไม่ควรจะมีประจำเดือน เช่น เด็ก หรือวัยรุ่นผู้หญิงที่ยังไม่มีประจำเดือน กับ กลุ่มผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ในสองกลุ่มนี้ถ้ามีเลือดออกทางช่องคลอด ถือว่ามีความผิดปกติ

สำหรับกลุ่มผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ เลือดประจำเดือนที่ผิดปกติ อาจพบได้ ดังนี้

  • เลือดประจำเดือนมีปริมาณมากกว่าปกติ ทั้งในแง่ของปริมาณ และระยะเวลาที่มีประจำเดือน
  • มีเลือดออกมานอกรอบประจำเดือน 

  • สาเหตุของเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด

  • รังไข่ทำงานผิดปกติ
  • ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนผู้หญิงทดแทนในวัยหมดประจำเดือน
  • ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
  • โรคติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ เช่น โรคเนื้องอกในมดลูกที่สามารถพบได้บ่อย รวมถึงมะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

  • เลือดออกผิดปกติในช่องคลอดอย่างไร ควรมาพบแพทย์

  • ผู้หญิงที่ไม่มีประจำเดือน (ยังไม่มี หรือหมดแล้ว) แต่มีเลือดออกทางช่องคลอด เช่น ในเด็ก หรือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
  • ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ มีประจำเดือนปกติ แต่มีเลือดออกนอกรอบประจำเดือนด้วย หรือมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
  • มีประจำเดือนในปริมาณที่มากขึ้น หรือมีระยะเวลาของประจำเดือนนานขึ้น สังเกตได้จากการที่ใช้ผ้าอนามัยมากกว่า 4 แผ่นชุ่มๆ ต่อวัน หรือมีประจำเดือนในแต่ละรอบมากกว่า 7 วัน ซึ่งทำให้มีอาการเหนื่อย เพลีย หลังมีประจำเดือนจากภาวะโลหิตจางได้

  • การตรวจวินิจฉัยโรค เมื่อมีเลือดออกผิดปกติในช่องคลอด

    แพทย์จะทำการซักประวัติถึงอาการที่เป็นอยู่เพื่อหาสาเหตุอย่างคร่าวๆ จากนั้นในบางรายที่มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ แพทย์อาจขอตรวจภายใน และอาจจะต้องมีการตรวจเซลล์ของปากมดลูกที่เรียกว่า Pap smear เพื่อตรวจคัดกรองภาวะมะเร็งปากมดลูก (แนะนำให้ตรวจทุกๆ 2-3 ปี ในกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง แต่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ติดเชื้อ HIV แพทย์จะแนะนำให้ตรวจทุกปี)

    ในบางกรณี แพทย์อาจขอตรวจเยื่อบุโพรงมดลูก โดยการขูดมดลูก หรือเอาเซลล์ของมดลูกมาตรวจ ในกรณีที่แพทย์อาจสงสัยว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นเนื้องอกหรือไม่ แพทย์อาจขอตรวจอัลตร้าซาวนด์ หรือที่เรียกว่าการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง และในกรณีที่จะตรวจระดับฮอร์โมน แพทย์อาจขอเจาะเลือดตรวจ ซึ่งนอกจากจะตรวจระดับฮอร์โมนแล้ว ยังสามารถตรวจภาวะโลหิตจางได้ด้วย


    การรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติในช่องคลอด

    ถ้าอาการที่เกิดขึ้นเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของรังไข่ แพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยา เพื่อควบคุมการทำงานของรังไข่ แต่ถ้ามีเนื้องอกในมดลูก หรือมีมะเร็งของระบบสืบพันธุ์ อาจรักษาด้วยการผ่าตัด หรือใช้รังสีรักษา

     

    สำหรับผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติในช่องคลอด สามารถเข้ารับคำปรึกษาที่แพทย์แผนกสูตินรีเวชตามโรงพยาบาลทั่วไปใกล้บ้าน หรือสามารถติดต่อได้ที่คลินิกนรีเวช อาคาร ภปร. ชั้น 7 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

    \

    "ยาเลื่อนประจำเดือน" ใช้อย่างไรถึงจะปลอดภัย

    หากไม่อยากเป็นวันนั้นของเดือน ยาเลื่อนประจำเดือนช่วยได้ แต่ต้องใช้ให้ถูกวิธี มิฉะนั้นอาจส่งผลต่อการมีประจำเดือนในครั้งถัดๆ ไป