เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

\

"ถ้วยใส่เลือดประจำเดือน" ใช้แทนผ้าอนามัย วิธีใช้ และข้อควรระวัง

ประจำเดือนของผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงต้องซื้อผ้าอนามัยมาใช้ทุกเดือน แม้ว่าจะมองว่าราคาไม่แพงมากมายอะไร แต่อันที่จริงแล้วก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงสำหรับบางคน เพราะต้องใช้เป็นประจำทุกเดือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แถมยังเป็นขยะที่ต้องใช้วิธีกำจัดอย่างถูกต้อง เพราะจัดว่าเป็นขยะติดเชื้ออีกด้วย

แต่ถ้าสาวๆ คนไหนได้ทำความรู้จักกับ “ถ้วยใส่เลือดประจำเดือน” อาจมองว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ และอาจจะติดใจจนไม่กลับไปใช้ผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งแบบเดิมอีกก็ได้


ถ้วยใส่เลือดประจำเดือน คืออะไร?

ถ้วยใส่เลือดประจำเดือน หรือที่บางคนเรียกว่า ถ้วยรองรับประจำเดือน หรือถ้วยอนามัย เป็นถ้วยเล็กๆ มีปลายที่เป็นเหมือนก้านเล็กๆ ยื่นออกมาเล็กน้อย ตัวถ้วยทำจากซิลิโคนที่สามารถบีบ และบิดให้เล็กลง เพื่อการสอดใส่ผ่านช่องคลอดเข้าไปด้านในเพื่อรองรับเลือดประจำเดือนได้


วิธีใช้ถ้วยใส่เลือดประจำเดือน

  • ตรวจเช็กคุณภาพของถ้วยก่อนใช้ทุกครั้ง ว่าไม่มีส่วนใดชำรุด ทำความสะอาดและแห้งสนิทดี
  • ตัดเล็บให้สั้น ล้างมือให้สะอาด เช็ดมือให้แห้ง
  • อยู่ในท่านั่งยองๆ หรือยืนแบบโก่งโค้งเล็กน้อย พับถ้วยให้เล็กพอที่จะสามารถสอดใส่เข้าไปในช่องคลอดได้ และพยายามสอดเข้าไปให้ลึกมากพอ ส่วนมากถ้วยจะถูกดันไปจนติดปากมดลูกโดยอัตโนมัติ หรืออาจต้องใช้นิ้วช่วย "หมุนอย่างนุ่มนวล" ที่ฐานถ้วย ให้ปากถ้วยแนบผนังช่องคลอดและดันลึกพอ
  • ถ้ารู้สึกว่าใส่แล้วไม่สบายตัว อาจเพราะสอดใส่ไม่ลึกเพียงพอ (เหมือนกับการใส่ผ้าอนามัยแบบสอด) และอาจเสี่ยงซึมเปื้อนออกมาข้างนอกได้ เพราะปากถ้วยไม่แน่นพอ ดังนั้นให้ลองดันเข้าไปให้ลึกขึ้นอีกเล็กน้อย
  • ใส่ได้นาน 4-12 ชั่วโมง แล้วแต่ขนาดของถ้วยที่ใช้ ถอดเพื่อเทเลือดทิ้งราว 2-4 ครั้งต่อวัน อย่าสวมใส่นานเกินกว่าที่ระบุเอาไว้ที่ฉลากผลิตภัณฑ์ เพราะนอกจากจะเสี่ยงเลือดในถ้วยล้นจนอาจไหลซึมออกมาด้านนอกได้แล้ว ยังเสี่ยงติดเชื้อได้ด้วย
  • วิธีเอาออก นั่งลง สอดนิ้วไปดึงออก "อย่างนุ่มนวล" บางยี่ห้อมีห่วงให้ดึง ล้างมือให้สะอาด นั่งลง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ จับบริเวณก้นถ้วย แล้วบีบก้นถ้วยเพื่อคลายซีล
    แล้วค่อยๆ ดึงออกมา "อย่างนุ่มนวล" อย่าดึงก้านถ้วยโดยตรง และพยายามอย่าดึงออกมาอย่างรุนแรง เพราะอาจทำให้เลือดประจำเดือนหกเลอะเทอะได้
  • เทเลือดทิ้งลงชักโครก ทำถ้วยมาล้างกับน้ำและสบู่ก็เพียงพอ ซับให้แห้ง และสามารถสวมใส่เข้าไปใหม่ได้
  • สามารถนำมาฆ่าเชื้อเพื่อความสะอาดได้ ด้วยการนำไปต้มในน้ำเดือดราว 3-5 นาที ผึ่งให้แห้ง สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้

  • ข้อดีของถ้วยใส่เลือดประจำเดือน

  • สามารถใช้ซ้ำได้ทุกเดือน มีอายุการใช้งานที่ยาวนานหากดูแลรักษาความสะอาดเป็นอย่างดี และเลือกซื้อแบบที่ทำจากวัสดุซิลิโคนคุณภาพดี
  • ทำจากซิลิโคนที่วัสดุเกรดที่ใช้ทางการแพทย์ สีที่ใช้เป็นสีชนิดที่กินได้ จึงปลอดภัยกับร่างกาย
  • มีให้เลือกหลายแบบ หลายไซส์ หลายขนาด เพื่อการรองรับปริมาณของเลือดประจำเดือนที่ต่างกัน เลือกซื้อได้ตามใจชอบ
  • ราคาไม่แพง สมเหตุสมผล เมื่อสามารถใช้ซ้ำได้มากครั้ง ใช้ได้เรื่อยๆ จนกว่าจะชำรุด ประหยัดเงินในการซื้อผ้าอนามัยรายเดือนไปได้เยอะ
  • ลดขยะที่เกิดจากผ้าอนามัยในแต่ละเดือนไปได้เยอะ จึงถูกเรียกว่าเป็นเทรนด์รักษ์โลกที่สาวๆ หลายคนให้ความสนใจ
  • ถ้าสวมใส่จนเคยชินแล้ว จะพบว่าสวมใส่ได้สบายตัว ไม่อับชื้น ไม่เหนียวเหนอะหนะ และยังลดกลิ่นไม่พึ่งประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย

  • ข้อเสีย  และข้อควรระมัดระวังของถ้วยใส่เลือดประจำเดือน

  • ผู้หญิงหลายคนอาจไม่คุ้นชิ้นกับการใช้ถ้วยอนามัยแบบนี้ อาจมีปัญหาระหว่างการสวมใส่ และการถอดออก
  • ต้องเลือกถ้วยอนามัยที่ได้มาตรฐาน ไม่ซื้อของลอกเลียนแบบที่ไม่ได้คุณภาพ เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อได้
  • หากสวมใส่นานโดยไม่ได้เอาออกตามเวลาที่ควรจะเป็น อาจเสี่ยงเลอะเทอะเปรอะเปื้อน และเสียงอันตรายจนถึงขั้นติดเชื้อได้
  • หากสวมใส่ไม่ระวัง เช่น เล็บยาว และใช้แรงมากเกินไป อาจเกิดร่องรอยบาดแผล หรืออาการบาดเจ็บอื่นๆ ได้
  • ถ้วยอนามัยอาจปรากฏรอย หรือคราบที่บริเวณขอบถ้วยได้เมื่อใช้ไปนานๆ หากไม่แน่ใจว่าจะสะอาด หรือปลอดภัยหรือไม่ สามารถซื้ออันใหม่มาใช้แทนได้
  • เคยพบกรณีผู้ใช้ถ้วยรองรับประจำเดือนเกิดการติดเชื้อจากสารพิษของแบคทีเรียจนเกิดอาการท็อกซิกช็อก (Toxic shock syndrome หรือ TSS) ดังนั้นจึงต้องรักษาความสะอาด และอย่าคาถ้วยเอาไว้นาน
  • ผู้มีภาวะ Pelvic organ prolapse อวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานหย่อน อาจใช้ถ้วยอนามัยไม่ได้
  • ผู้ที่ใส่ห่วงคุมกำเนิด (IUD) การถอดและใส่ถ้วยอนามัย อาจทำให้ห่วงหลุด จึงควรสอบถามแพทย์ก่อนซื้อใช้
  • การใช้ถ้วยอนามัยอาจไม่สะดวกในการถอด และล้าง กรณีที่ต้องใช้ห้องน้ำสาธารณะ
  • หากยังไม่แน่ใจว่าควรลองใช้ดีไหม หรือยังสงสัยว่าใช้อย่างไร ควรสอบถามแพทย์ หรือเภสัชกรใกล้บ้าน เพื่อความปลอดภัยในการใช้อย่างแท้จริง