เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

\

"กลั้วคอ" ช่วยลดเสี่ยง "โควิด-19" ได้จริงหรือ?

เคยได้ยินวิธีกลั้วคอช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสหรือไม่? ความจริงเป็นอย่างไร มาอ่านคำตอบจาก ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะมาอธิบายถึงเรื่องนี้กัน


“กลั้วคอ” ลดเสี่ยง “โควิด-19” จริงหรือ?

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ระยุว่า ยังไม่มีงานวิจัยที่แสดงว่าการกลั้วคอสามารถขจัดโคโรนาไวรัส 2019 ที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 ได้

การติดเชื้อไวรัสที่ทางเดินหายใจ เริ่มต้นจากการรับไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งยังไม่แสดงอาการที่เรียกว่าระยะฟักตัว หลายชั่วโมงหลังจากนั้น การติดเชื้อจะเกิดขึ้นเมื่อไวรัสแทรกตัวเข้าไปภายในเซลล์ และควบคุมเซลล์ให้ผลิตไวรัสเพิ่มขึ้น ในที่สุดเซลล์จะตาย และปล่อยไวรัสให้กระจายออกมา บุกรุกเข้ายึดครองเซลล์อื่นๆ ต่อไป

การกลั้วคอไม่สามารถขจัดไวรัสที่แทรกตัวเข้าไปภายในเซลล์ของเยื่อบุผนังลำคอได้ แต่มีหลักฐานจากงานวิจัยเบื้องต้นว่า การกลั้วคอเป็นประจำ อาจมีส่วนช่วยป้องกันการเป็นโรคติดเชื้อไวรัสของทางเดินหายใจส่วนบนในช่วงระยะฟักตัวของโรค


“กลั้วคอ” มีประโยชน์ ลดเสี่ยงการติดเชื้อของทางเดินหายใจได้

Satomura และคณะ ได้ทำการวิจัยด้วยวิธีการทดลองแบบสุ่ม และมีกลุ่มควบคุม ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Preventive Medicine ในปี ค.ศ. 2005 รายงานผลการวิจัยไว้ดังนี้

  • การกลั้วคอด้วยน้ำประปา (ซึ่งมีคลอรีนเป็นส่วนประกอบ) ช่วยลดอัตราการเกิดโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ลงได้ร้อยละ 36

  • การกลั้วคอด้วยน้ำประปาได้ผลดีกว่าการกลั้วคอด้วยน้ำยาบ้วนปากที่มี “โพวิโดนไอโอดีน” เป็นส่วนประกอบ

  • วิธีการกลั้วคอในงานวิจัยดังกล่าวคือ การใช้น้ำประปาประมาณ 20 ซีซี กลั้วคอนานอย่างน้อย 15 วินาที อย่างน้อย 3 ครั้งต่อวัน

    การกลั้วคอเป็นประจำด้วยน้ำประปา เป็นวิธีที่ปฏิบัติได้ไม่ยาก และไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสของทางเดินหายใจส่วนบน