เนื้อหาในหมวด บ้าน

“แอมโมเนีย” ประโยชน์ การใช้ การเก็บ ทำอย่างไรให้ถูกต้อง ปลอดภัย

“แอมโมเนีย” ประโยชน์ การใช้ การเก็บ ทำอย่างไรให้ถูกต้อง ปลอดภัย

จากเหตุการณ์ก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลจากโรงงานน้ำแข็งที่เขาค้อ จนต้องระดมเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องพ่นน้ำฉีดควบคุมสถานการณ์ซึ่งก็สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แล้ว สำหรับแอมโมเนียนั้น หลายคนอาจยังไม่ทราบถึงประโยชน์ และโทษของมัน (กรณีใช้ไม่ถูกต้อง) ดังนั้นมาทำความรู้จักสารเคมีตัวนี้กันดีกว่า

แอมโมเนีย เป็นสารเคมีพื้นฐานที่มีประโยชน์อย่างมากทั้งต่อภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม แต่ในขณะเดียวกันแอมโมเนียก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมได้ ถ้าขาดความระมัดระวังในการใช้งาน การเก็บรักษา หรือการขนส่ง

สำหรับประโยชน์ของแอมโมเนียนั้นส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการผลิตปุ๋ยแอมโมเนียไนเตรต และปุ๋ยยูเรีย นอกจากนั้นในภาคอุตสาหกรรมยังใช้เป็นสารทำความเย็นในอุตสาหกรรมห้องเย็น โรงน้ำแข็งและห้องแช่แข็ง รวมทั้งยังใช้แอมโมเนียเป็นวัตถุดิบในการทำเส้นใยไนลอน ใช้แอมโมเนียเป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมการผลิตกรดไนตริก ใช้ในอุตสาหกรรมชุบแข็งและเคลือบผิวโลหะ ฯลฯ

คำแนะนำในการเก็บแอมโมเนีย

ภาชนะบรรจุแอมโมเนียควรได้รับการรับรองอย่างถูกต้องจากหน่วยงานที่ดูแลไม่ว่าจะเป็นกรมโยธาธิการ กรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งมีทั้งแบบที่ไม่มีระบบทำความเย็นและแบบที่มีระบบทำความเย็น โดยทั้งสองประเภทจะต้องมีเครืองหมายพร้อมแผ่นป้ายอยู่บนด้านนอกที่มองเห็นได้ชัดเจน และต้องมีการระบุความจุของภาชนะ ความดันและอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการจัดเก็บ รวมถึงควรมีขีดบอระดับสูงสุดของแอมโมเนียที่สามารถบรรจุได้

ไม่เพียงแต่การให้ความสำคัญกับภาชนะเท่านั้น แต่ห้องเก็บแอมโมเนียก็ยังมีความสำคัญ สถานที่เก็บต้องติดป้ายแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน โดยตั้งอยู่ห่างจากสถานที่ทำงานที่มีคนทำงานหนาแน่น และควรมีการควบคุมการเข้าออกอย่างรัดกุม ห้องที่เก็บควรมีอุณหภูมิเย็น อากาศถ่ายเทเพียงพอ ผนังห้องควรสร้างจากวัตถุดทนไฟ มีทางเข้าออกเพื่อกรณีดับเพลิงได้อย่างสะดวก นอกจากนั้นในบริเวณที่เก็บควรปราศจากวัสดุลุกติดไฟง่าย เช่นลังกระดาษ เศษไม้ ถ้าเป็นแอมโมเนียแบบติดตั้งถาวรต้องอยู่ห่างจากบ่อน้ำหรือแหล่งน้ำดื่ม น้ำใช้อย่างน้อย 15 เมตร

แนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดการรั่วไหลและเกิดอัคคีภัย

  • เมื่อพบเห็นการรั่วไหลของแอมโมเนียหรือเกิดเพลิงไหม้ร่วมด้วยภายในโรงงาน อุตสาหกรรม ให้กดสัญญาณแจ้งเหตุอันตราย แล้วโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉินกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน (Emergency Response Team : ERT)
  • อพยพ ทุกคนออกจากพื้นที่ที่มีการรั่วไหลและที่ที่แอมโมเนียกระจายไปถึง โดยให้ทุกคนไปรวมกันในที่ปลอดภัยหรือจุดรวมพลที่ได้รับการฝึกซ้อมไว้ หากพบเห็นผู้ประสบภัยหมดสติในที่เกิดเหตุ ให้รีบช่วยเคลื่อนย้ายไปยังที่ปลอดภัยและมีอากาศบริสุทธิ์ ทำการปฐมพยาบาลแล้วจึงรีบนำส่งโรงพยาบาล
  • กรณีเกิดเพลิงไหม้ให้ใช้น้ำฉีดเป็นฝอย เพื่อหล่อเย็นและดับเพลิง แล้วรีบหยุดการรั่วไหลของแอมโมเนียทันทีเนื่องจากแอมโมเนียละลายน้ำได้ดี จึงรวมตัวกับน้ำ ช่วยทำให้ก๊าซแอมโมเนียไม่ฟุ้งกระจายไปไกล นอกจากนี้ถ้ามีประกายไฟหรือเปลวไฟจะต้องใช้ผงเคมีแห้ง หรือคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อป้องกันการระเบิดหรือลุกไหม้ขึ้นได้อีก
  • ในขณะการระงับเหตุรั่วไหลเจ้าหน้าที่จะต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เพื่อป้องกันการสัมผัสกับแอมโมเนียโดยตรง
  • ทำความสะอาดแอมโมเนียที่รั่วไหล ด้วยการใช้น้ำจำนวนมากๆ ฉีดเป็นฝอยเพื่อดูดซับก๊าซ และช่วยลดการเปลี่ยนจากสถานะของเหลวไปเป็นสถานะก๊าซได้ ทั้งนี้จะต้องระมัดระวังไม่ให้น้ำที่ละลายแอมโมเนียไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง หรือแหล่งชุมชนเพราะจะทำให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องมีระบบสกัดกั้นให้น้ำที่ปนเปื้อนแอมโมเนียไหลไปรวมกันที่ระบบบำบัด น้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ
  • หลังจากจัดการกับเหตุการณ์รั่วไหลได้เรียบร้อยแล้ว ควรมีการดำเนินการสอบสวน เพื่อหาแนวทางแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุในครั้งต่อไป รวมทั้งควรมีการตรวจสอบปริมาณแอมโมเนียในอากาศ น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน เพื่อประเมินปริมาณที่ตกค้างและดำเนินการกำจัดหรือชะล้างให้หมดสิ้นไป
  • การช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ

  • เคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุจากแอมโมเนียออกจากที่เกิดเหตุไปยังที่อากาศบริสุทธิ์โดยให้คนไข้นอนราบกับพื้น หายใจช้า ๆ เปิดตาเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าบางๆ ชุบน้ำเปียกปิดปากและจมูกระหว่างขนย้ายออกจากพื้นที่
  • ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนแอมโมเนียออกทันที แต่ในกรณีเสื้อผ้าที่เย็นแข็งติดผิวหนัง ต้องทำให้อ่อนตัวก่อนถอดออก ล้างร่างกายด้วยน้ำอุ่นสะอาดอย่างน้อย 15 นาที
    • กรณีที่แอมโมเนียสัมผัสตา ให้รีบล้างออกด้วยน้ำปริมาณมากๆ โดยเปิดน้ำให้ไหลผ่านตา อย่างน้อย 15 นาที แล้วรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
    • กรณีที่แอมโมเนียสัมผัสผิวหนังล้างออกด้วยน้ำสบู่และน้ำถ้าเกิดแผลใหญ่เนื่องจาก ความเย็น ห้ามถูหรือราดน้ำบริเวณนั้นให้รีบนำส่งแพทย์ทันที
    • กรณี หายใจเอาก๊าซแอมโมเนียเข้าไป ควรรีบเคลื่อนย้ายออกจากที่เกิดเหตุไปไว้ในที่อากาศถ่ายเท ถ้าผู้ประสบเหตุหายใจอ่อนให้ใช้ออกซิเจนช่วยหายใจ นาน 2 นาที แต่ไม่เกิน 15 นาที แต่หากหัวใจหยุดเต้นให้ปั๊มหัวใจทันที
    • กรณีกลืนกินแอมโมเนีย ให้บ้วนปากด้วยน้ำมากๆ และดื่มน้ำ 1 แก้ว และทำให้อาเจียนโดยใช้ยาขับเสมหะหรือวิธีการล้วงคอ ยกเว้น ในรายที่หมดสติ ให้รีบนำส่งแพทย์ทันที
  • ผู้ประสบเหตุควรอยู่ในห้องที่อบอุ่น หรือทำร่างกายให้อบอุ่น โดยอาจใช้ผ้าห่มคลุมช่วย
  • จะต้องจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับการปฐมพบยาบาลเบื้องต้น รวมทั้งอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลไว้ในบริเวณที่แอมโมเนียรั่วไหลไปไม่ ถึง และจะต้องดูแลให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ
  •