รู้จัก “กระท่อม” อีกพืชที่มีสรรพคุณทางยา
จากที่มีการพิจารณาเห็นชอบให้พื้นที่นำร่อง 135 หมู่บ้าน/ชุมชน เป็นพื้นที่ให้เสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิด นอกจากนั้นยังอนุญาตให้ปลูกต้นกระท่อมได้ครอบครัวละไม่เกิน 3 ต้นในพื้นที่ดังกล่าว ที่ต้องมีการควบคุมดูแลเพื่อปรับแนวทางอนุญาต
สำหรับกระท่อมนั้นเป็นพืชในวงศ์เข็มและกาแฟ เป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงประมาณ 4-16 เมตร เติบโตได้ดีในที่ชุ่มชื้น ความชื้นสูง ดินอุดมสมบูรณ์ ชอบแสงแดดปานกลาง ซึ่งกระท่อมนั้นจัดเป็นพืชที่มีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท แต่ก็มีการใช้ใบกระท่อมเพื่อรักษาการติดเชื้อในลำไส้ บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดไข้ บรรเทาอาการไอและท้องร่วง โดยใช้ใบสดหรือใบแห้งมาเคี้ยว สูบ หรือชงเป็นน้ำชา สารสำคัญที่พบในใบกระท่อมคือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) เช่นเดียวกับยาเสพติดกลุ่มเดียวกัน เช่น psilocybin LSD
นอกจากนี้ยังมีการใช้ใบกระท่อมในกลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อกดความรู้สึกเมื่อยล้า ทนต่อการทำงานกลางแจ้ง ทนร้อน ทนแดด และสามารถทำงานได้ยาวนานยิ่งขึ้น ทั้งยังมีการใช้เพื่อลดอาการขาดยาจากสิ่งเสพติดอื่นๆ เช่น ฝิ่นและมอร์ฟิน
เดิมกระท่อมจัดเป็น ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามความใน พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 7 ยาเสพติดให้โทษ ซึ่งสิ่งเสพติดในประเภท 5 ได้แก่ กัญชา และพืชกระท่อม โดยขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่มีหลักการสำคัญคือการถอดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อยู่ระหว่างเสนอบรรจุในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การใช้ใบกระท่อมตามข้อกำหนดคือให้เด็ดใช้เฉพาะใบ คนละ 30 ใบ ห้ามนำออกนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตหากฝ่าฝืนจะได้รับการลงโทษโดยชุมชน สำหรับใครที่คิดจะปลูกกระท่อมนั้นไม่สามารถปลูกเพิ่มใหม่ได้ ต้องเป็นต้นกระท่อมที่มีอยู่เดิม และต้นกระท่อมเหล่านั้นจะได้รับการขึ้นทะเบียน ห้ามซื้อ-ขายและนำออกนอกพื้นที่