เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

สังเกต \

สังเกต "ฟันตาย" อันตรายภายในปากที่คุณอาจเป็นโดยไม่รู้ตัว

นอกจากฟันผุ ฟันหัก ฟันโยก หรือมีคราบหินปูนเกาะที่ฟันแล้ว ยังมีอันตรายจาก “ฟันตาย” ที่เราควรระมัดระวัง และเราอาจมีฟันตายอยู่ในปากของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว หากไม่เร่งรักษาอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายมากขึ้นได้ Sanook Health มีข้อมูลจาก ทพญ.อัจนา เพียรพาณิช ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง วิทยาเอนโดดอนท์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากกัน

ฟันตาย คืออะไร?

ฟันตาย คือฟันที่ไม่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงในโพรงประสาทฟัน ทำให้เซลล์ต่างๆ ในฟันตายไป

โดยส่วนประกอบของฟัน มีดังนี้

  • เคลือบฟัน อยู่ชั้นนอกสุด
  • เนื้อฟัน ถัดเข้ามาจากเคลือบฟัน
  • โพรงประสาทฟัน มีเส้นเลือด เส้นประสาท และเซลล์ต่างๆ

สาเหตุของฟันตาย

ฟันตาย เกิดจากภาวะอันตรายใดๆ ก็ตามที่ทำให้เชื้อโรคเข้าไปถึงโพรงประสาทฟันจนทำให้โพรงประสาทฟันติดเชื้ออักเสบ และตายในที่สุด ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุดังนี้

  • ฟันผุ ฟันสึก จนถึงโพรงประสาทฟัน
  • ฟันได้รับอุบัติเหตุถูกกระแทกอย่างแรง ทำให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงฟันฉีกขาด
  • ฟันร้าว หรือฟันแตก จากการใช้งาน มักเกิดในคนชอบทานของเข็ง นอนกัดฟัน กัดโดนก้อนกรวดในข้าว เป็นต้น
  • เป็นโรคปริทันต์ขั้นรุนแรง

อาการที่เกิดขึ้น เมื่อฟันตาย

  • ฟันเปลี่ยนสีคล้ำขึ้น
  • มีตุ่มหนองที่เหงือก เหงือกบวมหรือกดเจ็บบริเวณปลายรากฟัน
  • มีอาการเคี้ยวเจ็บหรือ กัดเจ็บ ซึ่งเกิดจากอาการอักเสบรอบปลายรากฟัน
  • เคยมีอาการเสียวฟันมากๆ เมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น ดื่มน้ำร้อน น้ำเย็น แต่อยู่ๆ ก็ไม่รู้สึก อาจเป็นสัญญาณของฟันตาย

อันตรายของฟันตาย

หากมีฟันตาย แล้วไม่เข้ารับการรักษาใดๆ กรณีจากฟันผุ จะผุกร่อนไปเรื่อยๆ เกิดการติดเชื้อ ปวด บวม หรือมีการละลายของกระดูกปลายรากฟันได้ ทำให้สูญเสียฟันไปในที่สุด

วิธีรักษาฟันตาย

ทันตแพทย์อาจพิจารณารักษารากฟัน หรืออาจถอนฟัน ในกรณีที่ฟันซี่นั้นไม่สามารถบูรณะได้ หรือผู้ป่วยไม่ประสงค์ที่จะเก็บฟันไว้

วิธีป้องกันอาการฟันตาย

  • ตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน
  • แปรงฟันให้สะอาดร่วมกับใช้ไหมขัดฟัน ปัญหาที่พบบ่อยคือผู้ป่วยมักฟันผุบริเวณซอกฟัน ซึ่งเกิดจากการไม่ได้ใช้ไหมขัดฟัน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานของแข็ง ลดโอกาสการเกิดฟันร้าว ซึ่งเป็นสาเหตุฟันตาย
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เป็นกรด เช่น อาหารรสเปรี้ยว น้ำอัดลม เป็นต้น