เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

7 วิธีดูแล \

7 วิธีดูแล "ฟันเทียม" ที่ถูกต้อง

ผู้สูงอายุ หรือในวัยรุ่นวัยทำงานบางคน มีความจำเป็นต้องใช้ “ฟันเทียม” สิ่งประดิษฐ์ที่ทำขึ้นเพื่อใช้ทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบดเคี้ยว ป้องกันการเกิดปัญหาการล้มเอียงของฟันข้างเคียง การยื่นยาวของฟันคู่สบ ปัญหาข้อต่อขากรรไกร ช่วยในเรื่องการออกเสียงและบุคลิกภาพ

อันตรายจากการดูแลฟันเทียมไม่ถูกต้อง

หากดูแลฟันเทียมไม่ถูกต้อง มีอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย ไม่ว่าจเป็นการดูแลรักษาฟันเทียมไม่ดี ที่อาจทำให้รูปทรงของฟันเทียมเปลี่ยนไป นำกลับมาใส่ได้ไม่พอดีกับเหงือก อาจทำให้ใช้ฟันเทียมได้ไม่สะดวก เกิดอาการบาดเจ็บขณะสวมใส่ เสี่ยงแผลติดเชื้อ รวมไปถึงฟันเทียมมีรอย ชำรุด ที่เสี่ยงต่อการสะสมของเชื้อโรค

นอกจากนี้ ฟันเทียมยังอาจสามารถหลุดลงคอได้ หากมีปัญหาฟันเทียมหลวม ไม่พอดี ควรรีบปรึกษาทันตแพทย์เพื่อแก้ไขในทันที เพราะอาจเกิดอันตราย เช่น ฟันเทียมที่หลวมอาจหลุดลงคออุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้อีกด้วย

7 วิธีดูแล "ฟันเทียม" ที่ถูกต้อง

  • ควรพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง
  • ถอดทำความสะอาดหลังกินอาหารทุกมื้อ ด้วยแปรงสีฟันกับน้ำเปล่า หรือน้ำสบู่ หลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์ หรือยาสีฟันที่มีผงขัดหยาบ รวมถึงใช้แปรงสีฟันที่มีขนนุ่ม หากมีขนแข็งเกินไปอาจทำให้ฟันปลอมเป็นรอยขูดขีด
  • ก่อนนอนให้ถอดแช่น้ำสะอาด ไม่ควรใส่ฟันเทียมนอน
  • แช่ในน้ำเปล่าอุณหภูมิปกติ ไม่ควรแช่ในน้ำร้อน เพราะจะทำให้ฟันเทียมผิดรูปได้ 
  • เก็บฟันเทียมในภาชนะที่มีฝาปิด หลีกเลี่ยงการวางไว้ในที่ต่างๆ เพราะอาจทำให้ชุด แตก หัก หรือสูญหายได้
  • ไม่ควรห่อฟันปลอมด้วยกระดาษทิชชู เพราะฟันปลอมอาจแห้ง เสียรูปทรง และทำให้ใส่ไม่เข้า
  • ลดการกินอาหารหวาน เหนียว เลี่ยงอาหารแข็ง เพื่อป้องกันฟันเทียมแตก