เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

ปล่อยลูกน้อยไว้กับ “ทีวี” “แท็บเล็ต” เสี่ยงเป็น “ออทิสติกเทียม”

ปล่อยลูกน้อยไว้กับ “ทีวี” “แท็บเล็ต” เสี่ยงเป็น “ออทิสติกเทียม”

ทุกวันนี้บางครั้งหันไปเห็นคุณแม่นั่งทานข้าว เล่นมือถือ แล้วปล่อยให้ลูกนั่งสไลด์ไอแพดเล่น หรือบางคนอาจจะอยากปั่นงานที่บ้าน เลยเปิดทีวีช่องการ์ตูนให้ลูกน้อยดู พร้อมกองขนมข้างตัว เชื่อหรือไม่ว่าสิ่งเลห่านี้หากทำบ่อยๆ นานๆ จนลูกน้อยชิน อาจทำให้ลูกน้อยขาดพัฒนาทางร่างกายและสมองอย่างที่ควรจะเป็น จนกระทั่งรู้ตัวอีกที เด็กๆ อาจเสี่ยงโรค “ออทิสติกเทียม” ได้

“ออทิสติกเทียม” คืออะไร?

ทุกคนคงรู้จัก “ออทิสติก” ที่หมายถึงความผิดปกติในสมองของเด็ก ที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำๆ และจำกัด จนทำให้สมอง และร่างกายขาดการพัฒนาที่เหมาะสมตามวัย จนทำให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ช้ากว่าเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน

สำหรับ “ออทิสติกเทียม” เป็นความผิดปกติของสมองเช่นเดียวกัน แต่มีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมือนออทิสติกแท้ทีมีความผิดปกติจากสมองของเด็กเอง อาจจะตั้งแต่แรกเกิด หรือตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา

พฤติกรรมเสี่ยง “ออทิสติกเทียม”

  • ไม่สบตากับคนที่พูดด้วย
  • ทำอะไรซ้ำๆ
  • อายุเกือบ 2 ขวบ แต่ยังพูดไม่ได้ หรือพูดแต่ภาษาที่คนอื่นไม่เข้าใจ
  • ไม่แสดงท่าทาง หรือส่งเสียงเรียก
  • ไม่ตอบสนองต่อแสง สี หรือเสียง
  • ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้
  • ร้องไห้หนักแบบไม่มีเหตุผล
  • ผูกพันกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป เช่น หากติดไอแพด หรือทีวี เดินไปปิด หรือดึงคืน จะร้องเสียงดังจะเป็นจะตาย
  • ไม่สนใจคนรอบข้าง
  • ไม่สนใจที่จะแสดงความรัก โดยการอุ้ม กอด หอม
  • ไม่มีความพยายามในการลอกเลียนแบบท่าทาง หรือเสียงของพ่อแม่ หรือคนรอบข้าง
  • เล่นสมมติไม่เป็น เช่น สมมติว่าเป็นตุ๊กตา ก็จะไม่สามารถหยิบจับตุ๊กตาในท่าทางที่ถูกต้องได้
  • ไม่สนใจทำกิจกรรม หรือพูดคุยกับเด็กคนอื่นๆ ชอบปลีกตัวอยู่คนเดียว
  • ไม่สามารถบอก หรือแสดงความต้องการของตัวเองได้
  • มีอาการแสดงออกที่แตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน
  •  

    วิธีการเลี้ยงดู เพื่อหลีกเลี่ยง “ออทิสติกเทียม”

  • ไม่ควรให้เด็กเล็กดูทีวี หรือเล่นแท็บเล็ตอยู่คนเดียวนานเกินไป เพราะจะทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และไม่รู้จักการสื่อสารกับคนอื่น
  • ควรให้ลูกน้อยได้เล่นของเล่น เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีให้แก่สมอง และร่างกาย โดยเลือกให้เล่นทีละอย่าง อย่าให้หลายๆ อย่างในครั้งเดียวกัน เพราะเด็กอาจเกิดความสับสน และเพื่อช่วยให้เด็กมีสมาธิจดจ่ออยู่กับของเล่นทีละชิ้น
  • พูดคุยกับเด็กบ่อยๆ พูดช้าๆ ชัดๆ ให้เขาได้เรียนรู้การออกเสียง และเลียนแบบพฤติกรรมของผู้เลี้ยงดู
  • ฝึกให้หยุดร้องงอแงเมื่อเด็กงอแงโดยไร้เหตุผล และให้รางวัลกับเด็กเมื่อทำในสิ่งที่ดี ที่ถูกต้อง
  • พ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดู ต้องพยายามมีส่วนร่วมต่อกิจกรรมของเด็กให้มากขึ้น ไม่ว่าเด็กจะกำลังเล่น หรือทำอะไรอยู่
  • ใครที่กำลังสงสัยว่าลูกน้อยเสี่ยงเป็นโรคออทิสติกหรือเปล่า ไม่ว่าจะแท้หรือเทียม ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อหาทางแก้ไข และรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่จะสายเกินแก้ จนกระทบต่อพัฒนาการ และการใช้ชีวิตในสังคมของลูกน้อยในภายภาคหน้านะคะ

    ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก momypedia.com, autismthai.com