เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

รู้จักประเภทของ “อาหารแปรรูป” กินอย่างเหมาะสม ปลอดภัยต่อร่างกาย

รู้จักประเภทของ “อาหารแปรรูป” กินอย่างเหมาะสม ปลอดภัยต่อร่างกาย

อาหารแปรรูปมักมีไขมันและโซเดียมสูง แต่หากเลือกกินให้ถูกวิธีก็สามารถกินได้อย่างปลอดภัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ สุระวัง สาขาวิชาเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รองคณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า อาหารแปรรูปมีจุดเด่นในการถนอมรักษาคุณภาพอาหาร ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย อำนวยความสะดวกรับวิถีชีวิต New Normal แนะรับประทานอย่างเหมาะสม มีความหลากหลาย ครบ 5 หมู่ และอ่านฉลากโภชนาที่ผลิตภัณฑ์ เพื่อสุขภาพที่ดี

ประเภทของอาหารแปรรูป

การแปรรูปอาหาร เป็นขั้นตอนและวิธีการในการเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบที่เป็นเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ โดยใช้วิธีต่างๆ อาทิ การใช้ความร้อน ความเย็น การทำแห้ง การใช้น้ำตาล การฉายรังสี เป็นต้น เพื่อถนอมอาหาร ทำให้มีกลิ่นและรสชาติดีขึ้น รวมทั้งการเติมสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้อีกด้วย ซึ่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้แบ่งประเภทของอาหารแปรรูป ตามระบบ The NOVA Food Classification System ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  • อาหารไม่ผ่านกระบวนการ (Unprocessed Foods) หรือผ่านกระบวนการเพียงเล็กน้อย (Minimally processed foods) ส่วนใหญ่เป็นการตัดแต่งเอาส่วนที่บริโภคไม่ได้ออก หรือผ่านการบด แยกส่วน กรอง คั่ว ต้ม หมัก การทำแห้ง การพาสเจอร์ไรซ์ การแช่เย็น แช่แข็ง บรรจุในภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์สุญญากาศ เพื่อรักษาคุณภาพ คงความสดของอาหารตามธรรมชาติ
  • อาหารผ่านกระบวนการ โดยใช้เครื่องปรุง (Processed culinary ingredients) เช่น น้ำมัน เนย น้ำตาล และเกลือ เพื่อเตรียมปรุงอาหารในครัวเรือน
  • อาหารผ่านกระบวนการ (Processed Foods) เป็นอาหารแปรรูปโดยใช้น้ำมัน น้ำตาล หรือเกลือเป็นส่วนผสม และวิธีการถนอมอาหาร โดยการดอง การรมควัน การบ่ม เพื่อให้ส่วนผสมแทรกซึมเข้าไปในอาหาร และเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของอาหาร เช่น ผัก-ผลไม้บรรจุขวด ปลากระป๋อง แฮม เบคอน
  • อาหารที่ผ่านกระบวนการสูง (Ultra-processed Foods) ใช้กระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายรูปแบบ และช่วยยืดอายุในการเก็บรักษาได้นานขึ้น เช่น ไส้กรอก อาหารว่าง (snacks) อาหารแช่แข็ง มาการีน ไอศกรีม และ ผลิตภัณฑ์ขนมอบ เป็นต้น
  • ประโยชน์ของอาหารแปรรูป

    การแปรรูปอาหารมีประโยชน์มากมาย อาทิ การทำลายสารที่เป็นพิษในอาหาร ช่วยถนอมอาหาร ทำให้มีกลิ่นและรสชาติดีขึ้น สามารถจำหน่ายและขนส่งได้สะดวกขึ้น ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี และกระบวนการแปรรูปอาหารในภาคอุตสาหกรรม มั่นใจถึงมาตรฐานและความปลอดภัย

    กินอาหารแปรรูปอย่างไร ให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ

    เพื่อให้มั่นใจว่าบริโภคอาหารแปรรูปแล้ว ไม่ทำให้รับปริมาณน้ำตาล ไขมัน โซเดียม เกินความต้องการ จึงควรปฏิบัติดังนี้

  • อ่านฉลากโภชนาการให้แน่ใจก่อนทุกครั้งว่าไม่มีส่วนประกอบที่เป็นเกลือ น้ำตาล หรือไขมันในปริมาณมากเกินไป หรือดูสัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" (Healthier Choice) เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่า มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมที่เหมาะสม การลดหวาน มัน เค็ม เป็นการลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 
  • รับประทานอาหารแปรรูปร่วมกับอาหารอื่นๆ เช่น ใส่เนื้อสัตว์และผักลงในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น
  • ลดการซดน้ำซุป และเครื่องปรุงต่างๆ เช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสถั่วเหลือง เพื่อลดการบริโภคโซเดียมมากเกินไป
  • ไม่ควรรับประทานอาหารแปรรูปมากเกินไป ควรเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย ครบ 5 หมู่
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสุขภาพแข็งแรงปลอดโรคปลอดภัย เพื่อสุขภาพที่ดีห่างไกลโรค