เนื้อหาในหมวด บ้าน

วิธีเลี้ยงไก่ไข่สำหรับมือใหม่ เลี้ยงอย่างไรให้ได้ไข่ไว้ทานเอง

วิธีเลี้ยงไก่ไข่สำหรับมือใหม่ เลี้ยงอย่างไรให้ได้ไข่ไว้ทานเอง

"ไข่ไก่" เป็นอาหารคู่ครัวสำหรับทุกบ้าน เนื่องจากไข่ไก่นั้นสามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลายเมนู นั่นจึงทำให้ไข่นั้นมีความต้องการของผู้บริโภคตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ก็มีบางช่วงเวลาที่ราคาไข่ไก่พุ่งขึ้นสูงเพราะขาดตลาด และมีความต้องการมาก ดังนั้นอีกหนึ่งวิธีในการได้บริโภคไข่ไก่ได้อย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือการเลี้ยงไก่ไข่ สำหรับบริโภคไข่ หรือถ้าเหลือก็ยังสามารถสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง แต่การเลี้ยงไก่ไข่นั้นอาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนที่ไม่เคยเลี้ยงมาก่อน เราจึงมีข้อมูลสำคัญ และจำเป็นมาแนะนำ

วิธีการเลี้ยงไก่ไข่

วางแผนก่อนเลี้ยงไก่ไข่

แน่นอนว่าก่อนจะทำอะไรต้องมีการวางแผน ซึ่งตอนแรกเราอาจต้องคิดว่าจะเลี้ยงไก่พันธุ์ไหน และเลี้ยงจำนวนเท่าไร จากนั้นจึงค่อยๆ เรียนรู้ และเพิ่มจำนวนรวมไปถึงศึกษาพฤติกรรม การให้อาหาร โรคที่อาจจะเกิดขึ้น รวมไปถึงการดูแลป้องกัน นอกจากนี้ยังแนะนำให้ปลูกกล้วย ข้าว และผักสวนครัว เพื่อใช้เป็นอาหารหลักและอาหารเสริมให้กับไก่ไข่

ไก่ไข่มีพันธุ์ไหนบ้าง

สำหรับในบ้านเราสายพันธุ์ไก่ไข่ที่นิยมเลี้ยงมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์คือ ไก่โรดไทยไก่ไข่ไทยกรมปศุสัตว์ และไก่ไข่เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร โดยแต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างกัน

  • ไก่โรดไทย

    เป็นไก่พันธุ์แท้กึ่งเนื้อกึ่งไข่ ซึ่งหากใครต้องการใช้ทั้งเนื้อและไข่ก็เลือกเลี้ยงไก่พันธุ์นี้ ลักษณะของไก่พันธุ์นี้คือ มีขนสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเปลือกไข่เป็นสีน้ำตาล จะให้ไข่ฟองแรกเมื่ออายุประมาณ 168 วัน อัตราการให้ไข่อยู่ที่ 94 % หรือคิดเป็น 240 ฟองต่อตัวต่อปี

  • ไก่ไข่ไทยกรมปศุสัตว์

    ลักษณะของไก่สายพันธุ์นี้คือมีขนสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้ม ขนปีกสีน้ำตาล สร้อยคอสีน้ำตาลเข้ม หงอนจักรใหญ่สีแดงสดเหนียงสีแดงใหญ่ ตุ้มหูแดงมีสีขาวปนเล็กน้อย ผิวหนังและแข้งมีสีเหลือง ปลายหางมีสีดำ เปลือกไข่สีน้ำตาลอ่อน จะให้ไข่ฟองแรกเมื่ออายุประมาณ 169 วัน ผลผลิตประมาณ 290 ฟองต่อตัวต่อปีพันธุ์ไก่ไข่
  • ไก่ไข่เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร

    เป็นไก่พันธุ์แท้ ตัวเล็ก ขนสีขาว เปลือกไข่สีขาวไข่ดก ให้ไข่เร็วโดยจะให้ไข่ครั้งแรกเมื่ออายุ 4 เดือนถึง 5 เดือน ผลผลิตประมาณ 300 ฟองต่อตัวต่อปี

    วิธีเลี้ยงไก่ไข่

  • การเลี้ยงไก่ไข่มีทั้งแบบเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ หรือเลี้ยงแบบโรงเรือน โดยทั้ง 2 รูปแบบมีความแตกต่างกัน

  • การเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยอิสระ

    เป็นวิธีที่ได้รับความนิยม เพราะทำให้ไก่อารมณ์ดีมีสุขภาพจิตที่ดี แข็งแรง ส่งผลดีกับผลผลิต ทำให้ไข่แดงสีเข้ม นูนเด่น ไข่ขาวสีข้นชัดเจน และเมื่อนำมาประกอบอาหารก็จะได้อาหารที่อร่อย รสชาติดี แถมยังเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งสายพันธุ์ที่เหมาะจะเลี้ยงแบบปล่อยอิสระคือไก่ไข่สายพันธุ์โรดไทย ไก่บาร์ไทย ไก่พลีมัธร็อกไทย และไก่ไข่กรมปศุสัตว์เพราะไก่สายพันธุ์เหล่านี้สามารถหาอาหารตามธรรมชาติกินเองได้ ดังนั้นจึงสามารถปล่อยพวกมันได้ที่ลานโล่งที่มีหญ้าปกคลุมได้เลยแต่ต้องห่างจากบ้านพักอาศัยสักหน่อย นอกจากนั้นยังต้องดูว่าพื้นที่นั้นไม่ควรมีสารเคมีอย่างน้อย 3 ปี รวมถึงดินต้องไม่มีสารเคมี หรือโลหะหนักปนเปื้อน
  • การเลี้ยงไก่ไข่แบบโรงเรือน

    สำหรับโรงเรือนที่จะใช้เลี้ยงไก่ไขนั้นจะต้องมีทั้งความแข็งแรงทนทาน กันได้ทั้งลม แดด ฝน รวมไปถึงสัตว์ต่างๆ ที่จะรบกวนและเป็นอันตรายต่อไก่ไข่รวมทั้งโรงเรือนนั้นจะต้องทำความสะอาดง่าย ไม่เป็นที่สะสมของเชื้อโรค อยู่ห่างจากชุมชนเพื่อป้องกันกลิ่นเหม็นรบกวน สำหรับโรงเรือนนั้นจะเป็นคอนกรีตแล้วรองพื้นด้วยแกลบหนาประมาณ 3-5 นิ้ว มีรังไข่ 1 ช่องต่อแม่ไก่ 4 ตัว และประตูเข้า-ออก 2 ด้านเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนปล่อยไก่ให้ไปสู่แปลงอิสระ แต่ถ้ามีโรงเรือนมากกว่า 1 หลังแต่ละหลังควรเว้นระยะห่างมากกว่า 10 เมตร เพื่อช่วยในเรื่องการถ่ายเทอากาศ
  • ไก่ไข่

    น้ำและอาหารไก่ไข่

    โดยไก่ไข่ที่อายุ 5 เดือนขึ้นไป ต้องการน้ำประมาณ 0.5 ลิตรต่อวันต่อตัว หากขาดน้ำในช่วงที่กำลังไข่เพียง 3-4 ชั่วโมง จะทำให้ไข่ฟองเล็ก น้ำสำหรับให้ไก่ไข่ควรเป็นน้ำสะอาด ส่วนเรื่องของอาหารนั้น ถ้าเป็นช่วงเริ่มให้ไข่จะเป็นอาหารที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีน 13-15 % ซึ่งก็มีทั้งอาหารผสม หัวอาหาร อาหารอัดเม็ด หรืออาหารสำเร็จรูป และอาหารเสริม

    สิ่งอื่นๆ ที่ต้องให้ความสำคัญในการเลี้ยงไก่ไข่

    อุณหภูมิ

    ไก่เป็นสัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อ การระบายความร้อนออกจากร่างกายไม่สามารถระบายออกทางผิวหนังเหมือนคนเรา ดังนั้นการระบายความร้อนออกจากร่างกายโดยหายใจเอาอากาศเข้าไปในปอด เข้าถุงลม ส่วนน้ำที่ไก่กินเข้าไปบางส่วนจะระเหยรวมออกมากับอากาศที่ไก่หายใจออกเนื่องจากร่างกายไก่ไม่มีความร้อน (การระเหยของน้ำเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร้อน) ดังนั้นการหายใจก็จะนำความร้อนออกมาด้วย ซึ่งการควบคุมอุณหภูมิในร่างกายของไก่ โดยมีต่อมไฮโปทารามัส ต่อมใต้สมองทำหน้าที่เสมือนศูนย์ควบคุมการปรับอุณหภูมิของร่างกายไก่ในระดับที่ค่อนข้างคงที่

    การถ่ายเทหรือการระบายอากาศ โรงเรือนไก่ไข่สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงการระบายอากาศ หากสร้างโปร่ง การหมุนเวียนถ่ายเทอากาศดี อากาศเสียจะถูกขับออกนอกโรงเรือนและอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกจะเข้าไปแทนที่ โดยนำความร้อนจากภายในโรงเรือนออกไปด้วยนอกจากนั้นจะเป็นการลดปริมาณเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ในระดับหนึ่ง

    การเลี้ยงไก่ไข่

    โปรแกรมแสงสว่าง การเลี้ยงไก่ไข่แสงสว่างมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเมื่อไก่มีอายุ 6-22 สัปดาห์โดยค่อย ๆ เพิ่มแสงให้สัปดาห์ละ 1/2-1 ชั่วโมง จนครบ 4 ชั่วโมง รวมแสงธรรมชาติอีก 12 ชั่วโมงต่อวัน รวมเป็น 16 ชั่วโมง จึงจะเพียงพอต่อความต้องการ เพื่อที่จะให้ได้ผลผลิตสูง หรืออายุการให้ไข่นานและจะใช้แสงเช่นนี้ไปจนกว่าไก่จะหมดไข่

    ความชื้นสัมพัทธ์ ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมประมาณ 50-80 % ซึ่งถ้าความชื้นในอากาศต่ำการระบายความร้อนออกจากร่างกายจะระบายได้ดีขึ้น ซึ่งประเทศไทยมักจะเจอปัญหาเรื่องความชื้นในฤดูฝน (ร้อน-ชื้น)

    การให้อาหารไก่ไข่ เป้าหมายสำคัญของอาหารที่ใช้เลี้ยงไก่ไข่ต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุดและมีประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ได้ไข่ 1 ฟองต่ำที่สุด อย่างไรก็ตามต้นทุนการผลิตไข่ 1 ฟอง เป็นค่าอาหารประมาณ 60% ดังนั้นจะมีผลเกี่ยวข้องไปถึงเรื่องอัตราการให้ไข่ และขนาดตัวของไก่ด้วยซึ่งผู้เลี้ยงจะต้องเลือกสายพันธุ์ไก่ที่มีอัตราการให้ไข่ดกและขนาดตัวเล็กเพื่อประหยัดค่าอาหารนอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ฤดูกาลก็เป็นปัจจัยสำคัญ

    โรคและการป้องกัน

  • โรคนิวคาสเซิล

    เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงที่สุดของไก่ในประเทศไทย เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยการหายใจเอาเชื้อ และสิ่งขับถ่ายอื่นๆ ของไก่ป่วย ไก่ที่ป่วยจะมีอาการทางระบบหายใจและระบบประสาท เช่น หายใจลำบาก มีเสียงดังเวลาสำหรับแม่ไก่ที่กำลังให้ไข่จะไข่ลดลงทันที่ และมักจะตายภายใน 3-4 วัน หลังจากแสดงอาการป่วยการป้องกัน โดยการทำวัคซีนนิวคาสเชิล

  • โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ

    เป็นโรคทางเดินหายใจที่แพร่หลายที่สุด เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถเกิดขึ้นได้กับไก่ทุกอายุ แต่มักจะมีความรุนแรงในลูกไก่ มีอัตราการตายสูงมาก ไก่ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการ อ้าปากและโก่งคอเวลาหายใจ หายใจลำบาก เวลาหายใจมีเสียงครืดคราดใน เบื่ออาหาร ในไก่ไข่จะไข่ลดลงอย่างกะทันหันการป้องกัน โดยการท าวัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบ
  • โรคอหิวาต์ไก่

    เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เข้าสู่ร่างกายทางอาหารและน้ำ ไก่ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการหงอย ซึม เบื่ออาหาร กระหายน้ำจัด ท้องร่วง อุจจาระมีสีเหลือง เหนียงมีสีคล้ำกว่าปกติ ถ้าไก่เป็นโรคนี้อย่างร้ายแรง ไก่อาจตายโดยไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น
    การรักษา ใช้ยาปฏิชีวนะ คลอเตตร้าซัยคลิน หรือออกซีเตตร้าซัยคลิน หรือใช้ยาประเภทซัลฟา เช่น ซัลฟาเมอราซีน หรือซัลฟาเมทธารีน การป้องกัน โดยการให้วัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์
  • โรคฝีดาษไก่

    เป็นโรคที่มักเป็นกับลูกไก่และไก่รุ่น ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อกันโดยการสัมผัส เช่น อยู่รวมฝูงกัน และยุงเป็นพาหะของโรคกัด โรคนี้ไม่แสดงอาการป่วยถึงตาย ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการมีจุดสีเทาพองตามบริเวณใบหน้า หงอน เหนียง และผิวหนัง และเมื่อจุดพองขยายตัวและแตกออกเป็นสะเก็ดลูกไก่จะหงอยซึม ไม่กินอาหารและตายในที่สุด
  • การดูแลไก่ไข่

    สรุปการดูแลไก่ไข่อย่างง่าย

  • ทำกรงตับใส่ไก่ช่องละ 1-2 ตัว ขนาด กว้าง 50 ซม.สูง 66 ซม.โดยใช้ไม้ที่เรามีอยู่ เช่นไม้ไผ่ ไม้ยูคาพร้อมที่วางกรงตับมีความสูง 50 ซม.อุปกรณ์ให้อาหารใช้ไผ่ผ่าครึ่ง ที่ให้น้ำใช้ขวดน้ำที่ใช้แล้ว แบบง่าย ๆ ประหยัดต้นทุนต่ำ
  • ใช้ตาข่ายคลุมเพื่อกันยุงให้กับไก่ในเวลากลางคืนให้อาหารไก่ไข่ระยะไก่รุ่นโปรตีน 13-15 เปอร์เซ็นต์วันละ 80-100 กรัม/วัน ให้เช้า และบ่าย สังเกตการกินอาหารของไก่ ล้างรางน้ำวันละ 1 ครั้ง
  • ถ่ายพยาธิภายนอกภายในไก่ ก่อนไก่จะให้ไข่ และทำวัคซีนนิวคลาสเซิล อหิวาต์ไก่ คอยสังเกตสุขภาพชองไก่ ช่วงอากาศเปลี่ยนให้วิตามินละลายน้ำกับไก่ช่วงไก่เริ่มให้ไข่ ( 20-22สัปดาห์ ) ให้เปลี่ยนอาหารเป็นอาหารไก่ไข่ระยะให้ไข่โปรตีน 14- 15 เปอร์เซ็นต์ ให้วันละ 150-200 กรัม
  • ช่วงสัปดาห์ที่ 28-31 สัปดาห์ ให้อาหารไก่เพิ่มขึ้นตามจำนวนไข่ที่ให้ เก็บไข่ไก่อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง กลางวัน และก่อนเลิกงาน หมั่นดูแลตรวจสุขภาพไก่เป็นประจำทุกวัน ทำความสะอาดรางอาหารถ้ามีอาหารเปียกติดราง
  • ถ้าบริเวณใกล้เคียงมีศัตรูทำลายไก่ เช่น สุนัข งู ตัวเงินตัวทองให้ทำการป้องกันเช่นทำคอก หรือป้องกันไม่ให้เข้าไปทำลายไก่ได้