เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

ถอดรหัส \

ถอดรหัส "กราดยิงในโรงเรียน" กับ 5 พฤติกรรมของผู้ที่มีแนวโน้มรุนแรง

ทำความเข้าใจเหตุการณ์กราดยิงเด็กในโรงเรียนของอเมริกา รวมถึงการกราดยิงคนในห้างสรรพสินค้าของไทย เป็นผลต่อเนื่องมาจากอาการทางจิตของผู้ลงมือกระทำหรือไม่ อย่างไรบ้าง

สาเหตุของการก่อเหตุรุนแรงในสังคม

รศ.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักจิตวิทยาการปรับพฤติกรรม อดีตคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ความรุนแรงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกคน ซึ่งทุกคนต้องเข้าใจว่ามีโอกาสกระทำความรุนแรงแก่ผู้อื่นได้ ทั้งด้านการพูด และการกระทำ ไม่เกี่ยวกับความปกติหรือผิดปกติในจิตใจ แต่ในเรื่องความก้าวร้าว รุนแรงเป็นธรรมชาติของมนุษย์เพื่อความอยู่รอดแต่การที่จะคุมไม่ให้แสดงความรุนแรงออกมาสำคัญมากกว่า

"ความก้าวร้าว ความรุนแรงในสังคมเป็นปัญหาทั่วโลก ยิ่งในยุคสังคมเทคโนโลยี ทุกคนรอไม่เป็น รอไม่ได้ และสามารถแสดงออกได้ทันทีตามธรรมชาติของเทคโนโลยี ส่งผลให้เด็กไม่ได้ไตร่ตรองว่าทำได้หรือไม่ ขณะเดียวกันสังคมไทยตอนนี้ เวลาเลี้ยงเด็กไม่มีสอนเด็กให้คุมตนเอง ไม่ฝึกควบคุมตัวเอง และไม่เข้าใจ สนใจกฎระเบียบของสังคม ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้ทุกคนสร้างความรุนแรงในสังคมได้"

5 พฤติกรรมผู้ที่มีแนวโน้มรุนแรง

คนที่มีแนวโน้มที่จะกระทำความรุนแรง ก้าวร้าว จะมีพฤติกรรมที่เป็นจุดสังเกตได้ ดังนี้

  • มองโลกในแง่ร้าย เพราะมองว่าตัวเองถูกกระทำ และแสดงออกโดยการต่อต้านเขา
  • คนไทยมักไม่มองสาเหตุปัญหาว่าเกิดจากตัวเรา แต่มองว่าคนอื่นกระทำต่อตัวเอง ดังนั้น ทุกคนควรมองหาปัญหาโดยมองจากตัวเอง ไม่ใช่มองไปข้างนอก
  • คนที่อยากมีตัวตน อยากให้ทุกคนอ้างถึง ดังนั้นเขาก็จะเรียกร้องพฤติกรรมอะไรก็ได้เพื่อให้ได้รับความสนใจ
  • เด็กแยกตัวจากสังคม ชอบอยู่คนเดียว เด็กเหล่านี้อาจจะมีพฤติกรรมความก้าวร้าว เพราะเขาจะขาดทักษะการมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ต้องปลูกฝังให้เด็ก เน้นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
  • ชอบดู หรือสนใจอะไรที่เป็นพฤติกรรมร้ายๆ ซึ่งบางคนอาจจะมีพฤติกรรมร้ายแต่บางคนอาจมีมุมมองอีกแบบ
  • ปัจจัยที่อาชญากรเลือกแสดงความรุนแรงต่อผู้อื่น หรือผู้ที่ด้อยกว่า

    นัทธี จิตสว่าง นักอาชญาวิทยา อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ในส่วนของอาชญาวิทยา เป็นสหวิทยาการ ใช้มุมมองหลายๆ ศาสตร์ร่วมกัน โดยปัจจัยทำให้เกิดเหตุ มี 2 ตัวแปร คือ มีมูลเหตุจูงใจ และโอกาส ซึ่งในส่วนของมูลเหตุจูงใจนั้น จากการศึกษาการกราดยิงต่างๆ ในต่างประเทศมากกว่า 30 ปี พบว่า คนที่มีลักษณะกระทำผิด คือ

  • เป็นคนเก็บตัว โดดเดี่ยว ไม่สุงสิงกับใคร เป็นคนเก็บกด
  • ถูกกระทำในวัยเด็ก ทั้งจากโรงเรียน ครอบครัว ที่ทำงาน เกิดความกดดัน ความเกลียด
  • อยู่กับความรุนแรงมาโดยตลอด
  • เรียนรู้จากเหตุการณ์ความรุนแรง ส่วนโอกาส เช่นการเข้าถึงอาวุธ เป็นต้น
  • ดังนั้น เมื่อมีมูลเหตุจูงใจและเข้าถึงโอกาสจึงทำให้เกิดความรุนแรงได้ง่าย แต่ในประเทศไทยการกราดยิงอาจจะไม่มากแต่การตายด้วยอาวุธปืนนั้นเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะคนหนึ่งคนอาจมีปืนอยู่ประมาณ 4-5 กระบอก ดังนั้น ต้องควบคุมโอกาสหรือการควบคุมอาวุธปืนในประเทศ ทุกคนในสังคมต้องร่วมกันเรียกร้องเรื่องนี้ และต้องขจัดมูลเหตุจูงใจที่จะเกิดขึ้นแต่ละคน ทำให้ทุกคนมีโอกาสในการระบาย ไม่สร้างกติกาที่ทำให้เกิดการเอาเปรียบซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาความรุนแรงในสังคม ถ้าใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาความรุนแรงจะทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละสังคม

    อย่านำเสนอข่าวในแง่ดี ที่เหมือนให้ของขวัญกับผู้ก่อเหตุ

    อีกหนึ่งทางป้องกัน หรือช่วยลดความรุนแรงจากผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังก่อเหตุ และเพื่อลดความเสี่ยงในการก่อเหตุการณ์เลียนแบบ คือการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนอย่างเหมาะสม 

    ผศ.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ นักจิตวิทยาสังคม รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จากการศึกษากรณีการกราดยิงในประเทศอเมริกา พบว่า ตัวอย่างการนำเสนอข่าวของสื่อส่งผลให้เกิดพฤติกรรมความรุนแรงกรณีที่คล้ายกัน มีอิทธิพลยาวนาน 2-4 อาทิตย์ ทำให้ทุกคนที่มีโอกาสและมีมูลเหตุจูงใจจะกระทำที่ก่อเหตุคล้ายๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพราะเขารู้ข้อมูลจากสื่อ ทั้งมูลเหตุจูงใจ ประวัติของผู้กระทำ เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่ไขว้เขวอยู่แล้วเกิดการกระทำรุนแรง

    “การนำเสนอข่าวของสื่อทั้งการให้พื้นที่ข่าวของผู้ก่อเหตุมาก จะเป็นเสมือนการให้รางวัลแก่คนก่อเหตุ หรือผู้ที่ไขว้เขวเกิดการกระทำตามได้ ดังนั้น การนำเสนอข่าวทั้งการให้ข้อมูล หรือการใช้คำต่อผู้ก่อเหตุ ต้องไม่ทำให้ผู้ที่มีพฤติกรรมไขว้เขวรู้สึกว่าตนเองทำตามแล้วจะมีชื่อเสียง มีความรู้สึกเจ๋ง ต้องเล่าเรื่องสร้างสรรค์ นำเสนอเรื่องของเหยื่อมากกว่าผู้ก่อเหตุ ต้องสร้างตัวแบบทางบวก ส่วนผู้ที่แชร์ข่าว เป็นผู้สื่อข่าวในโซเชียลมีเดียนั้น ข้อมูลเรื่องราวใดที่จะทำให้ผู้ก่อเหตุ มีพื้นที่ เป็นที่รู้จัก เกิดการให้คุณค่า ไม่เร้าอารมณ์ไม่ควรจะนำเสนอหรือแชร์เรื่องเหล่านั้น แต่เน้นการป้องกัน”

    ผศ.ณัฐสุดา เต้พันธ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นการให้ข้อมูลข่าวสาร การถามซ้ำๆ ย้ำๆ ในช่วงต้นที่เกิดเหตุการณ์เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบแต่ติดตามข้อมูลข่าวสารต้องถามตัวเองว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมกระทบต่อตนเองหรือไม่ กระทบมากกระทบน้อยต้องดูแลจิตใจของตัวเอง และรู้จักการระบายออกมา หรือไปทำอย่างอื่น เพื่อไม่ให้อยู่กับเหตุการณ์รุนแรงมากเกินไป