เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

รู้จักวิธี “รักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า” สำหรับผู้ป่วยซึมเศร้า

รู้จักวิธี “รักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า” สำหรับผู้ป่วยซึมเศร้า

วิธีรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy) หนึ่งในวิธีรักษาโรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคจิตเภท โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือต้องการการรักษาอย่างรีบด่วน ได้แก่ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ มีอาการก้าวร้าว หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย

วิธีรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy)

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy: ECT) คือ การรักษาทางจิตเวชวิธีหนึ่ง โดยใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นสมองของผู้ป่วยทำให้เกิดอาการชัก เพื่อรักษาอาการทางจิตเวชให้ดีขึ้น

วิธีการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า สามารถรักษาโรคทางจิตเวชต่างๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคจิตเภท และอาจเหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา ได้รับการรักษาด้วยวิธีการต่างๆ แล้วไม่ดีขึ้น หรือต้องการการรักษาอย่างรีบด่วน ได้แก่ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ มีอาการก้าวร้าว หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย 

ประเภทของวิธีรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า

วิธีรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า มี 2 ประเภท ได้แก่

  • การรักษาด้วยไฟฟ้าแบบ Unmodified คือ การรักษาด้วยไฟฟ้าโดยไม่ได้ใช้ยานำสลบ
  • การรักษาด้วยไฟฟ้าแบบ Modified คือ การรักษาด้วยไฟฟ้าโดยใช้ยานำสลบ
  • วิธีที่จะใช้ รวมถึงจำนวนครั้ง และปริมาณกระแสไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับการประเมินจากจิตแพทย์ผู้ให้การรักษา โดยมีตั้งแต่ 6-8 ครั้ง, 8-10 ครั้ง หรือ 10-12 ครั้ง

    ข้อควรระวัง และผลข้างเคียงจากการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า

  • อาจมีอาการปวดศีรษะในช่วงหลังการรักษา แต่จะค่อยๆ หายเองได้ในภายหลัง
  • อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน จากอาการปวดศีรษะ หรือยาระงับความรู้สึกที่ได้รับ
  • อาจมีอาการชัก ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นเร็ว แต่หลังชักอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นจนอยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • อาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อ เกิดจากฤทธิ์ของยาหย่อนกล้ามเนื้อ หรือเกิดจากอาการชัก
  • อาจมีอาการบาดเจ็บในช่องปากและฟัน เช่น ปวดกราม ฟันโยก อวัยวะในช่องปากฉีกขาด ซึ่งเป็นผลมาจากการกระตุ้นกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเคี้ยว และเกิดแรงขบบริเวณกราม
  • อาจเกิดภาวะหลงลืม โดยจะค่อยๆ ฟื้นตัวภายใน 2-6 สัปดาห์
  • อาการข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น กระดูกสันหลังยุบตัว กระดูกเคลื่อน กล้ามเนื้อและเอ็นกระดูกบาดเจ็บ แต่พบได้น้อย
  • หากสนใจวิธีรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า สามารถขอคำแนะนำจากจิตแพทย์ที่ให้การรักษาโรคซึมเศร้าได้