
“เหงือกบวม” อาการแบบไหน ควรพบแพทย์
เหงือกบวม อาจจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ และหายเองได้ แต่อาการแบบไหนที่ควรต้องรีบพบทันตแพทย์
สาเหตุของอาการเหงือกบวม
ทพญ.เพียงจันทร์ จิตตนาสวัสดิ์ ทันตแพทย์จาก โรงพยาบาลพญาไท 3 ระบุถึงสาเหตุของอาการเหงือกบวมเอาไว้ ดังนี้
- เหงือกอักเสบ เกิดจากคราบจุลินทรีย์ที่สะสมในช่องปากทำให้เกิดคราบหินปูนเกาะ เมื่อเวลาผ่านไปจึงเกิดการระคายเคืองต่อเหงือก และเกิดการอักเสบ
- ติดเชื้อในช่องปาก เพราะทำความสะอาดฟันและเหงือกไม่ถูกสุขลักษณะ
- มีฟันผุ
- มีฟันคุด และมีการระคายเคือง
- มีกระดูกงอก ทำให้มีการดันเหงือกออกมาจนเกิดอาการอักเสบ
- มีอาการบาดเจ็บของเหงือกจากแผลร้อนใน
- ขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น วิตามินบีและซี ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความแข็งแรงของฟันและเหงือก
- ผลข้างเคียงของการกินยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิดบางอย่าง ยากันชักบางชนิด
- ระคายเคืองเหล็กจัดฟัน รีเทนเนอร์ ฟันปลอม หรืออุปกรณ์ทางทันตกรรมต่างๆ
- ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดคราบจุลินทรีย์ในช่องปากง่ายขึ้นและมากขึ้น โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์
- มีก้อนมะเร็ง สังเกตได้จากลักษณะเหงือกบวมฟูคล้ายดอกกะหล่ำ มีอาการชา และลุกลามอย่างรวดเร็ว
อันตรายของอาการเหงือกบวม
ทพญ.ชนิดา ว่องเดชากูล แพทย์ฝ่ายทันตกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า เมื่อมีอาการเหงือกบวม กิจวัตรประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร การพูดคุยย่อมถูกรบกวนอาจด้วยกลิ่นเหม็น ภาพลักษณ์ที่ไม่สวย (มีเลือดมีหนองไหล) หรือไปรบกวนการขยับปากทำให้พูดไม่ชัด ถ้าละเลยไม่ไปรับการรักษา ผลกระทบก็อาจจะเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรงขึ้นได้