เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

นมโคพร้อมดื่ม กับเรื่องราวที่คุณอาจยังไม่เคยรู้

นมโคพร้อมดื่ม กับเรื่องราวที่คุณอาจยังไม่เคยรู้

นมโคพร้อมดื่ม ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของคนไทยในการบริโภคผลิตภัณฑ์นม ปัจจุบันมีนมโคพร้อมดื่มให้เลือกหลากหลายในท้องตลาด ทำให้ผู้ผลิตนมพร้อมดื่มเจ้าต่างๆ ต้องหากลยุทธ์ทางการตลาดมาใช้เพื่อส่งเสริมการขาย บางยี่ห้อก็ชูจุดเด่นด้านรสชาติ บางยี่ห้ออ้างถึงความสดใหม่ และบางยี่ห้อก็ให้ข้อมูลเรื่องสารอาหาร ถ้าเช่นนั้นมีข้อเท็จจริงเรื่องใดบ้างที่ผู้บริโภคอย่างเราควรรู้

ประเภทของนมพร้อมดื่ม

นมพร้อมดื่มในท้องตลาดที่เราพบทั่วไปนั้น สามารถแบ่งรูปแบบได้ตามหลัก 2 ประการคือ 1.การแบ่งประเภทตามกระบวนการให้ความร้อน และ 2.การจำแนกประเภทตามชนิดของนมที่นำมาผลิต


การแบ่งตามกระบวนการให้ความร้อน


          หากดูตามกระบวนการให้ความร้อนแล้ว เราสามารถแบ่งนมพร้อมดื่มได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ นมสเตอริไลซ์ (sterilized milk) นมยูเอชที (UHT milk) และนมพาสเจอไรซ์ (pasteurized milk) ซึ่งกระบวนการให้ความร้อนถือเป็นกระบวนการสำคัญในการเก็บรักษานมเนื่องจากเป็นการทำลายจุลินทรีย์ทั้งที่ก่อให้เกิดโรค (pathogenic microorganisms) และจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเสื่อมเสีย (food spoilage microorganisms ) และความร้อนยังทำลายเอนไซม์ต่างๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้นมเสื่อมเสียอีกด้วย


          นมสเตอริไลซ์มีการให้ความร้อนในระดับสูงเป็นเวลานาน เช่น 118°C เวลา 12 นาที กระบวนการให้ความร้อนแบบนี้จะทำลายจุลินทรีย์ทั้งสองชนิด รวมถึงเอนไซม์ต่างๆ ที่ทำให้น้ำนมเกิดการเสียสภาพ นมชนิดนี้ มีอายุการเก็บได้นานถึง 12 เดือน สินค้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงของสีและกลิ่นรสเนื่องจากการให้ความร้อน และอาจมีการสูญเสียวิตามินบางชนิด เช่น วิตามิน B1 B6 B9 และ B12


          นมยูเอชที มีการให้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงแต่ใช้ระยะเวลาสั้นกว่า เช่น 136°C เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 4 วินาที ซึ่งยูเอชที (UHT) มาจากภาษาอังกฤษว่า Ultra-High-Temperature Short Time การให้ความร้อนในระดับนี้จะทำลายจุลินทรีย์ทั้งสองชนิด แต่ไม่สามารถทำลายเอนไซม์บางชนิดได้ ดังนั้นนมยูเอชทีจึงมีอายุการเก็บประมาณ 6-8 เดือน โดยไม่ต้องแช่เย็น การเปลี่ยนแปลงกลิ่นรสเนื่องจากการให้ความร้อนของนมยูเอชทีจะพบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และมีการสูญเสียวิตามินเล็กน้อยอย่างไม่มีนัยสำคัญ


          นมพาสเจอร์ไรซ์ มีการให้ความร้อนที่ระดับต่ำ เช่น 63°C นาน 30 นาที หรือ 72°C นาน 15 วินาที การให้ความร้อนในระดับนี้สามารถทำลายจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค แต่เอนไซม์บางชนิดไม่ถูกทำลาย ดังนั้นนมพาสเจอร์ไรซ์จึงมีอายุการเก็บต่ำที่สุดประมาณ 7-10 วัน โดยต้องเก็บไว้ในตู้เย็น รสชาติและสีของนมจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการให้ความร้อนและมีการสูญเสียวิตามินเพียงเล็กน้อยเช่นเดียวกับนมยูเอชที


          ดังนั้นการเลือกซื้อนมประเภทใดนั้นจึงขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและความสะดวกของผู้บริโภคเป็นหลัก ถ้าผู้บริโภคชอบนมที่มีสีและกลิ่นรสเหมือนนมวัวที่ไม่ผ่านความร้อนก็สามารถเลือกดื่มนมพาสเจอร์ไรซ์ แต่ถ้าต้องการนมที่มีรสชาติที่ทานง่าย ไม่มีกลิ่นคาวนมมาก และอายุการเก็บได้ยาวนานและไม่ต้องเก็บในตู้เย็นก็เลือกนมประเภทยูเอชทีหรือนมสเตอริไลซ์เป็นต้น

การแบ่งประเภทตามชนิดของนมที่นำมาผลิต จะจำแนกหลัก ๆ ได้ 2 แบบ คือ


          น้ำนมโคได้จากการนำน้ำนมดิบอาจจะแยกไขมันออกหรือไม่ก็ได้ แล้วจึงนำไปผ่านกระบวนการให้ความร้อนแบบต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น แล้วจึงบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ที่ได้ไม่ว่าจะผ่านการให้ความร้อนแบบใดจะเรียกว่าน้ำนมโคทั้งนั้น


          นมคืนรูปได้จากการนำนมผงไขมันเต็ม (whole milk powder) หรือนมผงปราศจากไขมัน (skim milk powder) ละลายน้ำให้ได้ปริมาณสารอาหารต่างๆ เช่น โปรตีนและไขมัน เทียบเท่ากับน้ำนมโค แล้วจึงนำไปผ่านกระบวนการให้ความร้อน ถ้าใช้นมผงไขมันเต็มผลิตภัณฑ์ที่ได้จะเรียกว่านมคืนรูปชนิดเต็มมันเนย ถ้าใช้นมผงปราศจากไขมันจะได้ผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่านมคืนรูปชนิดขาดมันเนย และถ้าใช้นมผงปราศจากไขมันโดยมีมันเนย (milk fat) ในปริมาณที่น้อยกว่าไขมันที่พบในน้ำนมทั่วไปจะเรียกว่านมคืนรูปชนิดพร่องมันเนย


ข้อควรรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นมในบ้านเรา


ปัจจุบันพบว่ามีข้อมูลการเขียนบนอินเทอร์เน็ตที่ชวนให้เราเชื่อว่า ผลิตภัณฑ์นมที่ใช้น้ำนมโคเป็นส่วนประกอบอย่างเดียว 100% ในการผลิตจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าการใช้นมคืนรูปหรือผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มที่ผลิตด้วยการผสมผสานนมผงเป็นส่วนประกอบ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่มีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและขาดงานวิจัยมาสนับสนุน ขณะที่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และงานวิจัยในต่างประเทศ ได้สนับสนุนคุณภาพของนมที่ผลิตด้วยการผสมผสานคุณค่าจากนมหลากหลายประเภท เช่นนมคืนรูปพร้อมดื่ม ในประเด็นดังต่อไปนี้
          - โปรตีนในนม UHT ที่ผลิตจากน้ำนมโคดิบกับที่ผลิตจากนมคืนรูปมีคุณภาพไม่ต่างกันเมื่อเก็บนมทั้งสองชนิดนี้ไว้นาน 3 เดือน ยืนยันโดยผลการวิจัยของ Al Kanhal และคณะ (2001)
          - คุณภาพของนมผงที่นำมาผลิตนมคืนรูปเป็นนมผงคุณภาพสูง ผลิตโดยมาตรฐานสากล การผลิตนมผงนั้นเกิดจากการทำให้น้ำบางส่วนในน้ำนมดิบระเหยออกไป แล้วนำไปผ่านเครื่อง spraydryer ซึ่งจะพ่นน้ำนมออกมาเป็นละอองเล็กๆ เมื่อสัมผัสกับอากาศร้อนน้ำที่เหลืออยู่จะระเหยออกไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการสูญเสียคุณค่าทางโภชนาการ นมผงที่ได้จึงมีคุณค่าสารอาหารเทียบเท่ากับน้ำนมโคโดยทั่วไป
          - ในการผลิตนมโคพร้อมดื่ม จะต้องผลิตให้ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งน้ำนมโคจากเต้าส่วนมากจะมีคุณค่าสารอาหารไม่เท่ากัน เนื่องจากหลายๆ ปัจจัย ทั้งสภาพอากาศ อาหาร และการเลี้ยงดูสายพันธุ์ โคนม, ระยะการให้นมของแม่โค,ฤดูกาล ดังนั้นจึงต้องมีการเติมมันเนยหรือนมผงปราศจากไขมัน เพื่อปรับมาตรฐานนม (standardization) ให้มีปริมาณสารอาหารคงที่ หรือเพิ่มโภชนาการให้ดีขึ้น


           เนื่องจากนมพร้อมดื่มในบ้านเรามีให้เลือกมากมาย เราเองในฐานะผู้บริโภคจำเป็นต้องรู้เท่าทันวิธีการทางการตลาดและข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับคุณภาพและสารอาหารในนมโคอย่างถูกต้อง เพื่อสุขภาพที่ดี จากการเลือกดื่มผลิตภัณฑ์นมที่มีคุณภาพ


[Advertorial]

ระดับสีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ฟ้า-เขียว-เหลือง-ส้ม-แดง บอกอะไรเราบ้าง?

ระดับสีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ฟ้า-เขียว-เหลือง-ส้ม-แดง บอกอะไรเราบ้าง?

ใครที่เคยใช้แอปวัดระดับ PM 2.5 ฝุ่นละอองในอากาศ ในช่วงนี้ เคยเห็นสีอะไรกันบ้าง? แล้วสีไหนเป็นอย่างไร หมายความว่าอะไร เช็กที่นี่

ใบบัวบก กับ 10 ประโยชน์ดีๆ ที่คุณอาจไม่เคยรู้ พร้อมวิธีทำน้ำใบบัวบก

ใบบัวบก กับ 10 ประโยชน์ดีๆ ที่คุณอาจไม่เคยรู้ พร้อมวิธีทำน้ำใบบัวบก

ใบบัวบก (Gotu Kola) สมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและผิวพรรณ ช่วยลดการอักเสบ ฟื้นฟูผิว และเสริมการทำงานของสมอง พร้อมวิธีทำน้ำใบบัวบกง่าย ๆ บำรุงร่างกายและผิวพรรณอย่างครบถ้วน