เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

รู้จักหรือยัง? 3-4-50 โมเดลสุขภาพ

รู้จักหรือยัง? 3-4-50 โมเดลสุขภาพ

การมีสุขภาพดี ไม่มีโรคภัย นับเป็นสิ่งที่คนเราต้องการ แต่ทว่าฆาตกรเงียบซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของคนทั่วโลกมาจากกลุ่มโรค NCDs หรือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อ ซึ่งไม่สามารถแพร่กระจายไปสู่คนอื่นได้ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ซึ่งกลุ่มโรคเหล่านี้นอกจากจะมีลักษณะร่วมคือ ไม่ติดต่อ และ เรื้อรัง แล้ว ยังมีลักษณะร่วมที่สำคัญมากอีกอย่างคือ ส่วนใหญ่เป็นโรคจากการทำร้ายตัวเองด้วยการใช้ชีวิตเสี่ยงจากการไม่ออกกำลังกาย ทานอาหารไม่มีประโยชน์ สูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป

ทั้งนี้ Oxford Health Alliance องค์กรเพื่อสุขภาพในประเทศอังกฤษ ได้ศึกษาและนำเสนอ “โมเดล 3-4-50” เพื่อการมีสุขภาพดีด้วยตัวคุณเอง นั่นคือ การปรับเปลี่ยน 3 พฤติกรรมเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดโรค คือ ทานอาหารไม่มีประโยชน์และลดความอ้วนแบบไม่มีคุณภาพ ออกกำลังกายไม่เพียงพอ และสูบบุหรี่ ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะช่วยป้องกัน 4 โรคเรื้อรังที่เกิดจากการใช้ชีวิตไม่เหมาะสม ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง และ โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 50% ของคนทั่วโลก จากสถิติขององค์การอนามัยโลก

ในขณะที่รายงานสุขภาพคนไทย ปี 2557 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่าในปี พ.ศ. 2556  71% ของผู้เสียชีวิตในประเทศไทยหรือประมาณ 501,000 คน มีสาเหตุจากโรคกลุ่ม NCDs สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่างลาว ที่มีอัตราการเสียชีวิต 48% กัมพูชา 52% พม่า 59% ฟิลิปปินส์ 67% และต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราการเสียชีวิต 81% หรือสิงคโปร์ 76% จากโรคกลุ่ม NCDs สะท้อนว่าคนไทยและคนในหลายประเทศทั่วโลกมีปัญหาด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงทำให้เป็นโรค

 

ทั้งนี้ มีการศึกษาวิจัยพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs ของคนไทย พบว่า

  • คนไทยใช้เวลาเฉลี่ย 13.5 ชม. ต่อวันไปกับการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์และกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายน้อย แต่ใช้เวลาเพียง 2 ชม. ต่อวันในการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เดิน ทำงานบ้าน เดินทาง ฯลฯ

  • 20% ของค่าใช้จ่ายด้านอาหาร คือ ค่าอาหารสำเร็จรูป

  • สัดส่วนของรายได้ที่นำมาใช้จ่ายกับอาหารประเภทแป้งและผักผลไม้ที่นำมาปรุงเองลดลง

  • บริโภคอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง โดยปริมาณของแคลอรีจากการบริโภคอาหารไขมันสูงเพิ่มขึ้นในอัตรา 15% ระหว่าง พ.ศ. 2503-2546

  • คนไทยมีอัตราการบริโภคเครื่องดื่มประเภทน้ำหวานและน้ำอัดลมสูงเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน หรือ 41 ลิตรต่อคนต่อปี

  • หนึ่งในสามของคนไทยอายุระหว่าง 25-59 ปี ดื่มเครื่องดื่มประเภทน้ำหวานและน้ำอัดลมเป็นประจำทุกวัน

  • คนไทยอายุมากกว่า 15 ปี ที่สูบบุหรี่มีจำนวน 11.4 ล้านคนในปี พ.ศ. 2557 เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2556 ถึง 21%

  • คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่า 7.1 ลิตรต่อปีโดยเฉลี่ย ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 2 เท่า

 

จะเห็นได้ว่า เพื่อลดอัตราการเกิดโรค NCDs คนไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ทั้งการทำความเข้าใจสุขภาพ และรู้จักและเข้าใจสุขภาพของตน เพื่อการปรับปรุงสุขภาพให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

ดร. ปิยวัฒน์ เกตุวงศา อาจารย์และนักวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากผลการวิจัยและการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ จะต้องได้รับแรงกระตุ้น ความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และความเคยชิน ปัจจุบันได้มีการนำเอาหลักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมมาช่วยเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อให้สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตทำได้ง่ายขึ้น โดยการ “สะกิด” หรือใช้แรงจูงใจ ที่มีผลต่อการตัดสินใจในกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพดีในอนาคต

“บุคคลจำนวนมากประสบปัญหาไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพบางคน อาจเพราะไม่มีความมุ่งมั่นหรือแรงบันดาลใจเพียงพอ ทำให้ถอดใจไปในระหว่างการดูแลรักษาสุขภาพ และคนจำนวนมากที่ถอดใจนี้ ในที่สุดก็ต้องตกเป็นเหยื่อของภาวะสุขภาพไม่ดีหรือโรคร้ายต่าง ๆ ซึ่งการมีสุขภาพดีต้องอาศัยความมุ่งมั่น การวางแผน การติดตามผลและการประเมินวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ  เพราะการมีสุขภาพดีนั้น ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ค่าหมอค่ารักษาพยาบาล ค่ายา และค่าดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ลดลงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมีชีวิต มีสุขภาพดี สามารถใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในทุก ๆ วัน” ดร.ปิยวัฒน์ กล่าวสรุป

ระดับสีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ฟ้า-เขียว-เหลือง-ส้ม-แดง บอกอะไรเราบ้าง?

ระดับสีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ฟ้า-เขียว-เหลือง-ส้ม-แดง บอกอะไรเราบ้าง?

ใครที่เคยใช้แอปวัดระดับ PM 2.5 ฝุ่นละอองในอากาศ ในช่วงนี้ เคยเห็นสีอะไรกันบ้าง? แล้วสีไหนเป็นอย่างไร หมายความว่าอะไร เช็กที่นี่

ติ่งเนื้อ เกิดจากอะไร วิธีกำจัดติ่งเนื้อ และวิธีดูแลหากมีติ่งเนื้อ

ติ่งเนื้อ เกิดจากอะไร วิธีกำจัดติ่งเนื้อ และวิธีดูแลหากมีติ่งเนื้อ

“ติ่งเนื้อ” ที่มีลักษณะคล้ายไฝ หรือขี้แมลงวันเล็กๆ แต่มันปูดออกมา ติดเนื้อเป็นติ่งๆ ดูเหมือนอะไรติดผิวหนังแบบที่หยิบดึงออกมาได้ มีทั้งสีคล้ำอย่างดำ น้ำตาล ไปจนถึงสีเนื้อ เหลือง หรือสีชาๆ คล้ายน้ำชา