เนื้อหาในหมวด การเงิน

ครม.ผ่าน กม.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บ้านหลังแรกเกิน 50 ล.เก็บจริง 0.05-0.1%

ครม.ผ่าน กม.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บ้านหลังแรกเกิน 50 ล.เก็บจริง 0.05-0.1%

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยยกเลิกกฎหมายเดิม 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และพ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 และ นำกฎหมายฉบับใหม่นี้มาใช้เป็นกฎหมายหลักในการจัดเก็บภาษีตามมูลค่าทรัพย์สิน ของผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยไม่ให้กระทบกับผู้ที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งกระทรวงการคลังจะผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้ให้มีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นไป คาดว่า จะเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษีได้ 64,290 ล้านบาทในปีแรก ซึ่งมากกว่าการจัดเก็บภาษีเดิมทั้ง 2 ฉบับที่ได้เพียง 38,318 ล้านบาท

"ประเภทเกษตรกรรม มีอัตราเพดาน 0.2% จัดเก็บภาษีตามมูลค่าตั้งแต่โดยส่วนที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้น ตั้งแต่ 50-100 ล้านบาท จัดเก็บ 0.05% ของฐานภาษี และ 100 ล้านบาทขึ้นไปจัดเก็บ 0.1% 


ประเภทที่พักอาศัยหลัก อัตราเพดานสูงสุด 0.5% โดยบ้านหลังแรกที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้น ตั้งแต่ 50-100 ล้านบาท จัดเก็บ 0.05% และ 100 ล้านบาทขึ้นไปจัดเก็บ 0.1% ส่วนบ้านหลังที่ 2 จะจัดเก็บตั้งแต่ 0.3% ตั้งแต่บาทแรก ก่อนปรับเป็นระดับตามมูลค่าจนถึง 0.3%

ประเภทพาณิชยกรรม อัตราเพดาน 2% จัดเก็บตามมูลค่าทรัพย์สิน ตั้งแต่บาทแรกถึง 20 ล้านบาท จัดเก็บ 0.3% ไปจนถึง 1.5% และ


ประเภทสุดท้ายที่ดินว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน มีอัตราเพดานสูงสุด 5% โดยจะจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี คือปีที่ 1-3 จัดเก็บ 1% ปีที่ 4-6 จัดเก็บ 2% และปีที่ 7 เป็นต้นไปจัดเก็บ 3%" นายอภิศักดิ์กล่าว 

ส่วนกรณีของบ้านที่เป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น แต่ชั้นล่างมีการค้าขาย ในส่วนแรกคือชั้นที่ 2-4 เป็นที่พักอาศัยหากมีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้าน บาทก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่ในชั้นล่างที่ประกอบกิจการต้องเสียภาษีในประเภทพาณิชยกรรมด้วย ซึ่งจะจัดเก็บตามมูลค่าทรัพย์สิน ส่วนการจะคิดภาษีจากคนที่เสียนั้น จะดูจากกรรมสิทธิ์ของผู้ที่ครอบครองเป็น หลัก ทั้งที่เป็นบ้านหลักแรก หรือหลังที่สอง

หรือเป็นเจ้าของที่ดินแปลงไหนปล่อยเป็นที่รกร้างว่างเปล่าหรือไม่ ซึ่งการจัดเก็บภาษีจะไม่มีผลกระทบกับเกษตรกรที่มีรายได้น้อย เพราะที่ดินกว่า 99.99% ของที่ดินเกษตรทั่วประเทศ มีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท ขณะที่เจ้าของที่พักอาศัยส่วนใหญ่กว่า 99.96% มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนผู้ที่มีที่พักมูลค่าเกิน 50 ล้านบาทมีอยู่เพียง 8,556 หลังเท่านั้น และส่วนมากก็อยู่ในเมืองใหญ่

 อย่างไรก็ตามการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะบรรเทาภาระให้เจ้าของบ้านพักอาศัยหลักที่ได้ มาจากการรับมรดก ผู้ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินที่มีอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้ และกิจการสาธารณะ โดยกรณีที่เจ้าของบ้านพักอาศัยหลักได้รับกรรมสิทธิ์บ้านหลังดังกล่าวมาจาก การรับมรดกก่อนที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะได้รับการลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 50% ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย พร้อมให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีเป็นเวลา 1 ปี ให้กับที่ดินที่อยู่ระหว่างการปลูกสร้างบ้านที่เจ้าของใช้เป็นบ้านของตนเอง ขณะเดียวกันยังให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.05% ของ ฐานภาษี

สำหรับที่ดินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อจัดทำเป็นโครงการที่พักอาศัยเพื่อ ขาย ที่นิติบุคคลที่ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์เป็นเจ้าของ เป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่เจ้าของที่ดินได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน และให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.05% ของฐานภาษี สำหรับอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้ของสถาบันการเงิน เป็นระยะเวลา 5 ปี พร้อมทั้งให้ลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่เกิน 75% ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย สำหรับกิจการสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล และโรงเรียน เป็นต้น

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง.

หลักการของ การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามร่างกฎหมายที่เสนอนี้ไม่ใช่การเก็บภาษีใหม่ แต่เป็นการปรับปรุงการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากขึ้น รวมทั้งมีรายได้เพียงพอที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการในเขตพื้นที่ของตน ก่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษี ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ผลักดันให้เกิดการกระจาย การถือครองที่ดิน และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินได้อีกทางหนึ่ง

โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้


1. ยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508

2. ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือ สิ่งปลูกสร้าง หรือเป็นผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ


3. หน่วยงานจัดเก็บภาษี ได้แก่ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา โดยรายได้ภาษีที่จัดเก็บได้จะเป็นของ อปท. ที่ทำหน้าที่จัดเก็บ


4. ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี ได้แก่ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด


5. ฐานภาษี ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคิดคำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดตามราคาประเมินทุนทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน


6. อัตราภาษีที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ จะเป็นอัตราสูงสุดที่จะจัดเก็บภาษีจากผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยจะจัดแบ่งอัตราภาษีดังกล่าวออกเป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ ในที่ดิน คือ


(1) กรณีใช้เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม ให้จัดเก็บภาษีได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.2
(2) กรณี ใช้เพื่อเป็นที่พักอาศัย ให้จัดเก็บภาษีได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 และ
(3) กรณีใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ (เช่น พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เป็นต้น) ให้จัดเก็บภาษีได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 2

ในส่วนของที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน กำหนดอัตราภาษีสูงสุดในกฎหมายให้ อปท. เรียกเก็บภาษีสำหรับที่ดินดังกล่าวในอัตราไม่เกินร้อยละ 5 ของฐานภาษี


7. ยกเว้นภาษีให้แก่ทรัพย์สินบางประเภท เช่น สาธารณสมบัติ ทรัพย์สินของรัฐที่ไม่ได้ใช้หาผลประโยชน์ ทรัพย์สินของสถานทูต ทรัพย์สินของสภากาชาดไทย ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดและที่ดินสาธารณูปโภคของโครงการจัดสรรที่มิได้ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ทรัพย์สินของเอกชนที่ได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ และบ้านพักอาศัยหลักในส่วนที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท เป็นต้น


8. อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงจะกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา โดยกำหนดเป็นอัตราก้าวหน้าเพิ่มขึ้นตามมูลค่าของฐานภาษี ดังนี้


(1) เกษตรกรรม ตั้งแต่ร้อยละ 0 ถึง ร้อยละ 0.1 ของฐานภาษี 
(2) ที่พักอาศัยหลัก ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่ร้อยละ 0.05 ถึงร้อยละ 0.1 และที่พักอาศัยหลังอื่น ตั้งแต่ร้อยละ 0.03 ถึง ร้อยละ 0.3 ของฐานภาษี 
(3) ประเภทอื่น ๆ ตั้งแต่ร้อยละ 0.3 ถึง ร้อยละ 1.5 ของฐานภาษี 
(4) ที่ดินว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดินจะจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี ตั้งแต่ร้อยละ 1 ถึง ร้อยละ 3 ของฐานภาษี


9. การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีการบรรเทาภาระให้กับเจ้าของบ้านพักอาศัยหลักที่ได้มาจากการรับมรดก ผู้ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินที่มีอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้ และกิจการสาธารณะ ดังนี้


9.1 ในกรณีที่เจ้าของบ้านพักอาศัยหลักได้รับกรรมสิทธิ์บ้านหลังดังกล่าวมาจากการรับมรดกก่อนที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะมีการบรรเทาภาษีให้ โดยการลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 50 ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย

9.2 ให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีเป็นเวลา 1 ปี ให้กับที่ดินที่อยู่ระหว่างการปลูกสร้างบ้านที่เจ้าของใช้เป็นบ้านของตนเอง

9.3 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 0.05 ของฐานภาษี สำหรับที่ดินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อจัดทำเป็นโครงการที่พักอาศัยเพื่อขาย ที่นิติบุคคลที่ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์เป็นเจ้าของเป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่เจ้าของที่ดินได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน

9.4 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 0.05 ของฐานภาษี สำหรับอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้ของสถาบันการเงิน เป็นระยะเวลา 5 ปี

9.5 ให้ลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่เกินร้อยละ 75 ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสียสำหรับกิจการสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล และโรงเรียน เป็นต้น


10. นอกจากนี้กฎหมายยังให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่นสามารถขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัด หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อลดหรือยกเว้นภาษีให้กับเจ้าของอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนได้ เช่น เกิดภัยพิบัติ หรืออาคาร บ้านเรือนเกิดเสียหายหรือถูกทำลาย

ทั้งนี้ ได้กำหนดบทเฉพาะกาลให้กฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน กฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ และกฎหมายว่าด้วยการกำหนดราคาปานกลางของที่ดินสำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งถูกยกเลิกโดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป สำหรับการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ที่ต้องเสียหรือพึงชำระหรือที่ค้างอยู่หรือที่ต้องคืนก่อนที่จะเริ่มมีการบังคับใช้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามร่างพระบัญญัติดังกล่าว

ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ใครยังไม่จ่าย โดนปรับเพิ่ม 11% มีผล 1 ก.ย. 66

ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ใครยังไม่จ่าย โดนปรับเพิ่ม 11% มีผล 1 ก.ย. 66

ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ผู้ว่าฯ กทม. เตือนใครยังไม่จ่ายหลังวันที่ 31 ส.ค. 66 เจอค่าปรับและเงินเพิ่มเริ่มต้น 11%

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เริ่มใช้ 1 ม.ค. 2563

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เริ่มใช้ 1 ม.ค. 2563

พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 โดยพื้นที่ปล่อยทิ้งว่างเปล่าต้องเสียภาษี 1.2% ของฐานภาษี หากทิ้งร้างไว้เกิน 3 ปี เก็บเพิ่มอีก 0.3 % และเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี

คลัง แจง 7 ประเด็น พ.ร.บ.ภาษีบ้านที่ดิน สยบข่าวลือบนโลกโซเชียล

คลัง แจง 7 ประเด็น พ.ร.บ.ภาษีบ้านที่ดิน สยบข่าวลือบนโลกโซเชียล

กระทรวงการคลัง แจง 7 ประเด็น พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... หลังแพร่สะพัดบนโลกโซเชียล เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและป้องกันไม่ให้เกิดการบิดเบือนข้อเท็จจริง

คลัง ชง ครม.เก็บภาษีทีดินและที่อยู่อาศัย อังคารนี้ ต่ำกว่า 50 ล้านบาทไม่เสียภาษี

คลัง ชง ครม.เก็บภาษีทีดินและที่อยู่อาศัย อังคารนี้ ต่ำกว่า 50 ล้านบาทไม่เสียภาษี

คลัง ดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เข้าครม.อังคาร 7 มิ.ย. 59 นี้ มั่นใจผ่านฉลุย ปรับเกณฑ์ บ้านหลังแรกต่ำกว่า 50 ล้านไม่ต้องเสียภาษี เตรียมประกาศใช้ปี 2560 นี้