เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

5 เคล็ดลับลดความเสี่ยง “ตายก่อนวัย” ของวัยทำงาน

5 เคล็ดลับลดความเสี่ยง “ตายก่อนวัย” ของวัยทำงาน

ใครว่ารอแก่ก่อนถึงจะป่วยได้ วัยทำงานนี่ล่ะที่มีความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บหนักๆ พอๆ กับวัยชราเลยล่ะ เพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ นั่งหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ ทานอาหารไม่เป็นเวลา และอื่นๆ อีกมากมาย ที่จะทำให้วัยทำงานมีสิทธิ์จะเสียชีวิตด้วยโรคร้ายก่อนที่จะเข้าสู่วัยชราเสียอีก ทำอย่างไรให้มีร่างกายแข็งไม่เจ็บป่วยก่อนวัยอันควร มาดูเคล็ดลับง่ายๆ 5 ข้อกันค่ะ

 

1. พักผ่อนไม่เพียงพอ >> แบ่งเวลาทำงานให้ชัดเจน, แจ้งปัญหากับผู้บังคับบัญชา, เปลี่ยนงาน

เสี่ยงโรคร้าย >> ความดันต่ำ ปวดศีรษะ โรคหัวใจ ฯลฯ

หลายคนมีปัญหาว่างานเยอะ ต้องปั่นงานจนดึกดื่น จนทำให้นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ วิธีแก้มีมากมาย ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเลือกทางไหน อันดับแรกมองตัวเองก่อนว่า ตัวเองจัดเวลาในชีวิตถูกต้องหรือไม่ เรากำลังอู้งานตอนเช้า แล้วไปปั่นงานตอนดึกหรือเปล่า ถ้าตอบว่าไม่ เราทำงานหัวปั่นตั้งแต่เช้ายันเย็น เราอาจจะต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาของเราว่าปริมาณงานที่เราทำอยู่มันมากกว่าที่คนๆ หนึ่งจะทำไหว อาจทำให้ร่างกายเราพัง และผลงานไม่มีประสิทธิภาพได้ แต่หากวิธีนี้ไม่ได้ผล อาจจะต้องถึงเวลาที่คุณจะต้องเลือกสุขภาพมาก่อนงานที่รักแล้วล่ะ เพราะถ้าเราสุขภาพไม่แข็งแรงดี เราก็ทำงานได้ไม่ดีเช่นกัน

 

2. ทานอาหารไม่เป็นเวลา >> เตรียมอาหารล่วงหน้า

เสี่ยงโรคร้าย >> โรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน โรคอ้วน

หลายคนตื่นไม่ทันข้าวเช้า หรือแม้กระทั่งนั่งทำงานติดเก้าอี้จนไม่สามารถลุกไปทานอาหารกลางวัน และเย็นในเวลาที่ควรทานได้ หากนานๆ เกิดขึ้นครั้งหนึ่งด้วยเหตุสุดวิสัยก็ไม่เป็นไรหรอก แต่หากเป็นแบบนี้อยู่ประจำล่ะก็ เราก็ต้องหาเวลามาเตรียมอาหารล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นมื้อไหนๆ ก็สำคัญทั้งนั้น แน่นอนรวมถึงมื้อเย็นด้วย หากคุณยังต้องใช้สมองทำงานต่อ ก็ต้องงทานอาหารเย็นด้วย จะซื้อเตรียมไว้ตั้งแต่ตอนกลางคืน หรือจะซื้ออาหารเย็นเตรียมไว้ตั้งแต่ตอนเช้า หรือกลางวัน ก็ได้ทั้งนั้น

 

3. นั่งติดเก้าอี้หลายชั่วโมงไม่ยอมลุก >> ลุกขึ้นมายืดส้นยืดสายบ้าง, เดินแทนการนั่งขณะเดินทาง

เสี่ยงโรคร้าย >> ออฟฟิศซินโดรม ปวดเมื่อยบ่า คอ ไหล่ ข้อมือ ไขมันอุดตันเส้นเลือด เบาหวาน อ้วน

เพราะแค่เรื่องนั่งติดเก้าอี้นี่แหละที่จะทำให้คุณเสี่ยงสารพัดโรคนับสิบๆ ไล่ไปตั้งแต่อาการเจ็บปวดภายนอก ปวดศีรษะ คอ ไหล่ แขน ข้อมือ หรือที่เรียกว่า “ออฟฟิศซินโดรม” หรืออาจจะมาจากการที่เรานั่งติดเก้าอี้จนแทบไม่ได้ใช้พลังงานเลย จนทำให้อาหารที่เราทานให้พลังงานมากกว่าที่เราใช้ไปในแต่ละวัน ก่อให้เกิดโรคอ้วนขึ้นได้ง่ายๆ ทางแก้ง่ายนิดเดียว ลุกขึ้นยืน-เดินทุกๆ 2-3 ชั่วโมง หรือเลือกที่จะเดินขึ้นลงบันได หรือเดินกลับบ้านในระยะทางสั้นๆ 500-800 เมตร แทนการนั่งมอไซค์กลับบ้านก็ช่วยได้มากแล้วล่ะ

 

4. ของทอดของมันเต็มตลาด >> พกข้าวกล่องไปจากบ้าน, เลือกซื้อแต่อาหารที่ไขมันน้อย น้ำตาลน้อย

เสี่ยงโรคร้าย >> ไขมันอุดตันเส้นเลือด ไขมันพอกตับ อ้วน เบาหวาน

อาหารตามตลาดนัดข้างสถานที่ทำงานไม่ได้อร่อยดีมีประโยชน์ไปเสียทุกอย่าง นานๆ ทานทีก็ไม่ได้ให้โทษอะไรมากมาย แต่หากเราทานบ่อยๆ เอะอะก็ไก่ทอด ไส้กรอกอีสาน น้ำหวานชงแก้ว ผัดไทย แกงเขียวหวาน และอื่นๆ อีกมากมายที่เราเชื่อว่าทุกคนรู้อยู่แล้วแหละว่าทานมากๆ มันไม่ดี แต่ก็ยังจะทานเพราะห้ามความอยากไม่ได้ หรืออาจจะเพราะมันไม่มีอะไรผักๆ ขาย หากแถวที่ทำงานของคุณอาหารไม่ค่อยดีต่อสุขภาพ เราก็ขอแนะนำให้คุณนำข้าวกล่องไปทานเองดีกว่า ถ้าพอจะมีเวลา 30 นาทีก่อนนอน เสาร์-อาทิตย์ไปตลอดซื้อวัตถุดิบไว้ จันทร์ถึงศุกร์ปรุงอาหารง่ายๆ ใส่กล่องเตรียมไว้ก็ดีนะ อร่อย ประหยัด และดีต่อสุขภาพแน่นอน

 

5. ไม่มีเวลาออกกำลังกาย >> จัดเวลาวันที่ยุ่งน้อยที่สุด แล้วตั้งให้วันนั้นเป็นวันออกกำลังกาย

เสี่ยงโรคร้าย >> สารพัดโรค อย่าให้เราต้องบอก

การไม่ออกกำลังกาย เป็นสาเหตุของสารพัดโรคที่แทบจะเรียกได้ว่า เกือบจะทุกโรคบนโลกใบนี้เลยทีเดียว (ที่ไม่เกี่ยวกับอาหารการกิน) เพราะหากร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานที่ดี ร่างกายของเราก็จะต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ได้ดีขึ้น นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยลดความตึงเครียด ช่วยให้หลับสบาย สุขภาพจิตก็ดีขึ้นอีกด้วย หากคุณเป็นคนหนึ่งที่บอกตัวเองตลอดว่า “ทำงานยุ่งมากจนไม่มีเวลาไปออกกำลังกาย” เราอยากให้คุณคิดใหม่ ใน 1 สัปดาห์ เราต้องการแค่ 2-3 วันเป็นอย่างต่ำเท่านั้นในการออกกำลังกาย ปักหมุดไว้เลยว่าวันไหนที่งานยุ่ง “น้อยที่สุด” แล้วหาเวลาออกกำลังกาย 1-2 ชั่วโมง เลือกเวลา สถานที่ และวิธีออกกำลังกายได้ตามใจชอบ แม้กระทั่งนอนอยู่บนเตียงในบ้านก็ยังออกกำลังกายได้ เพราะฉะนั้นลดเวลาที่จะใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ลง แล้วปันเวลามาออกกำลังกายสักนิด เพื่อสุขภาพที่ดีกันดีกว่า

 

ภาพประกอบจาก istockphoto

ระดับสีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ฟ้า-เขียว-เหลือง-ส้ม-แดง บอกอะไรเราบ้าง?

ระดับสีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ฟ้า-เขียว-เหลือง-ส้ม-แดง บอกอะไรเราบ้าง?

ใครที่เคยใช้แอปวัดระดับ PM 2.5 ฝุ่นละอองในอากาศ ในช่วงนี้ เคยเห็นสีอะไรกันบ้าง? แล้วสีไหนเป็นอย่างไร หมายความว่าอะไร เช็กที่นี่

ติ่งเนื้อ เกิดจากอะไร วิธีกำจัดติ่งเนื้อ และวิธีดูแลหากมีติ่งเนื้อ

ติ่งเนื้อ เกิดจากอะไร วิธีกำจัดติ่งเนื้อ และวิธีดูแลหากมีติ่งเนื้อ

“ติ่งเนื้อ” ที่มีลักษณะคล้ายไฝ หรือขี้แมลงวันเล็กๆ แต่มันปูดออกมา ติดเนื้อเป็นติ่งๆ ดูเหมือนอะไรติดผิวหนังแบบที่หยิบดึงออกมาได้ มีทั้งสีคล้ำอย่างดำ น้ำตาล ไปจนถึงสีเนื้อ เหลือง หรือสีชาๆ คล้ายน้ำชา