ของแพง แก้ได้มากกว่าแค่เลี่ยงซื้อ-เลี่ยงใช้?
วันก่อนมีข่าวครึกโครมเกี่ยวกับเรื่องอาหารในสนามบินแพง จนถึงขนาดคนระดับรัฐมนตรีใหม่ถอดด้ามคุมด้านท่องเที่ยวของประเทศ (ใหม่ในรัฐบาลนี้ แต่หน้าเก่ามาจากรัฐบาลก่อน ๆ นะ) ระบุว่าถ้าแพงเกินไปก็เลี่ยง ๆ อย่าไปรับประทานนั้น มีประเด็นน่าคิดต่อมากมาย
แต่เอาเป็นว่าก่อนจะไปว่ากันถึงเรื่องอื่น ทีมงาน Sanook! Travel ไปเสาะแสวงหาข้อมูลมาให้ท่านรมต.ได้รับรู้ว่าจริง ๆ แล้ว ที่สนามบินดอนเมืองเองก็มีศูนย์อาหารราคาย่อมเยาให้บริการอยู่เช่นกัน อ่านที่นี่
>>>เปิดลายแทงลับ ศูนย์อาหารราคาสุดถูกในสนามบินดอนเมือง
คำถามคือ ทำยังไงให้บรรดานักท่องเที่ยวหรือประชาชนทั่วไปที่ไปใช้บริการที่สนามบินได้รับรู้ว่ามีบริการอาหารราคาไม่แพงไว้ให้ใช้บริการ นอกเหนือไปจากการแนะนำว่าให้เลี่ยงไปทานที่สนามบิน หรือไปทานบนเครื่องบินระหว่างเดินทาง หรือแม้แต่ให้หิ้วท้องรอไปถึงที่หมายปลายทางแล้วค่อยหาอะไรลงท้อง
ข่าวล่าสุดระบุว่าตอนนี้หน่วยงานรัฐจะประชุมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ร่วมกันระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากับกระทรวงคมนาคม ก็ได้แต่หวังว่าจะมีข้อสรุปอะไรออกมาให้ประชาชนได้ใจชื้นบ้าง เพราะช่วงนี้เห็นมีแต่การขึ้นราคาบริการสาธารณะเต็มไปหมด ค่าทางด่วนมอเตอร์เวย์ กรุงเทพ-พัทยา ก็ขึ้นราคาไปแล้ว ไหนจะค่ารถเมล์ ขสมก. ที่เตรียมจะขึ้นราคา โดยให้เหตุผลว่าเพื่อนำเงินไปลดภาระการขาดทุนสะสม
แม้ด้านหนึ่งจะเข้าใจว่าภาครัฐก็มีหน้าที่ต้องบริหารงบประมาณที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับภารกิจและความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำใจยากเหมือนกันที่ประชาชนในฐานะผู้บริโภคตาดำ ๆ ต้องก้มหน้าก้มตาจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการบางอย่างแพงเกินจริง เพราะไม่ใช่แค่ที่สนามบินเท่านั้นที่มีเสียงร้องโอดครวญถึงราคาค่าอาหาร
ลองถามคนที่ชอบออกไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์ดูว่าปัจจุบันข้าวโพดคั่ว ขนมขบเคี้ยว และน้ำดื่มที่ขายตามโรงหนังทั่วประเทศนั้นแพงหูฉี่ขนาดไหน อย่าเอาแต่แนะนำว่าถ้าแพงก็เลี่ยงซะ ไม่ต้องไปซื้อทาน เพราะน่าจะมีหนทางแก้ไขปัญหาที่ดีกว่านี้เหลืออยู่