เนื้อหาในหมวด การเงิน

บิ๊กตู่ จี้ กทม.เร่งประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งโครงการ ย้ำค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย

บิ๊กตู่ จี้ กทม.เร่งประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งโครงการ ย้ำค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย

พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ กทม. เร่งเปิดประมูลร่วมทุนโครงการรัฐ (PPP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อกำหนดแนวทางการให้บริการประชาชน รวมถึงค่าโดยสารที่ต้องมีความเหมาะสมกับผู้มีรายได้น้อย โดยเริ่มจากการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการนโยบาย การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจะเร่งเปิดให้เอกชนเข้ายื่นข้อเสนอแข่งขันโครงการดังกล่าว 

นอกจากนี้ จะกำหนดให้มีการลงนามสัญญาภายในเดือเมษายน 2562 เพื่อให้ได้ข้อสรุปด้านเอกชนที่ดำเนินการและนโยบายด้านค่าโดยสารใหม่ ก่อนที่จะเริ่มเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (ช่วงสำโรง-สมุทรปราการ) ในวันที่ 16 เมษายน 2562 ปัจจุบันพบว่ามีผู้โดยสารเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมทั้งสิ้นเกือบ 80,000 คนต่อวัน ตลอดช่วงที่เปิดทอดลองมากว่าสองสัปดาห์นั้นยังไม่มีปัญหาขัดข้องใดที่กระทบต่อการเดินทางของผู้โดยสาร

อย่างไรก็ตาม ตามเงื่อนไขในการประมูลนั้นกำหนดว่าเอกชนต้องรับภาระภาระหนี้สินและทรัพย์สินจำนวน 1 แสนล้านบาทแทน กทม. พร้อมชำระภายใน 10 ปีให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ด้านเกณฑ์การให้คะแนนจะเน้นไปที่การเสนอผลตอบแทนให้ กทม. และคนที่เสนอค่าโดยสารต่ำที่สุดซึ่งค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ-ใต้ ตลอดสายต้องไม่เกิน 65 บาท (ลำลูกกา-บางปู) และ (ลำลูกกา-บางหว้า/บางหว้า-บางปู) ตามที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ มีเอกชนที่มีศักยภาพสนใจเข้าร่วมประมูลเส้นทางดังกล่าวเพื่อเข้ามาบริหารแทนบีทีเอสในอนาคต ตอนนี้ยังเปิดเผยไม่ได้ 

ผู้ว่า กทม. ระบุว่า ภายในไตรมาสแรกของปี 2562 จะเร่งขั้นตอนการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเปิดประมูลโครงการเพื่อให้ได้ตัวเอกชนที่ชนะโครงการภายในเดือนเมษายน จากนั้นจะเจรจาต่อรองสัญญาและลงนามสัญญาก่อนวันที่ 16 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันเริ่มเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้สีเขียวส่วนต่อขยายวันแรก

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่าโครงการดังกล่าวจะมีอายุสัมปทาน 24-25 ปี ในรูปแบบเปิดให้เอกชนร่วมทุน PPP แบบคัดเลือกเอกชนบริหารรายเดียวตลอดเส้นทาง เพื่อรองรับการหมดสัมปทานของบีทีเอสที่จะสิ้นสุดในปี 2585 ทว่าในเงื่อนไขกทม.สามารถบอกเลิกสัญญาได้ตั้งแต่ปี 2572 ส่วนด้านปริมาณผู้โดยสารส่วนต่อขยายในปีแรกที่เปิดให้บริการอยู่ที่ราว 5.34 แสนคนต่อวัน รวมรายได้ปีละ 14,014 ล้านบาท สุดท้ายในปี 2584 จะมีผู้โดยสารส่วนต่อขยายรวม 5.9 แสนคนต่อวัน รวมรายได้ปีละ 20,582 ล้านบาท