เนื้อหาในหมวด การเงิน

\

"เหรียญกลับด้าน" ของการอุ้มอุตสาหกรรมสื่อสาร

ม.44 งานนี้ต้องถือว่ารัฐบาลเสียสละ เพื่อรักษาอุตสาหกรรมไว้ ยอมเป็นตำบลกระสุนตกเพื่อช่วยอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอล และโทรคมนาคมที่ประมูลคลื่นกันในราคาสูง ตามอุปสงค์และอุปทาน ณ วันเวลานั้น และต่อมาไม่นานก็เกิด Technology Disrupt

พวก OTT เข้ามาทำให้อุตสาหกรรมทีวีพังทลาย โฆษณาหนีไปลงใน Social network เช่น Facebook YouTube Line TV ภาพยนตร์ดูผ่าน Internet ได้ ไม่ต้องมีกล่องใด ๆ

และที่สำคัญ Internet TV ได้กลายมาเป็นคู่แข่งกับ Digital TV ที่รัฐเปิดประมูล! เกือบทุกช่องขาดทุน บางช่องถึงกับล้มเลิกกิจการ พนักงานตกงานกันมากมาย!

ส่วนในอุตสาหกรรมสื่อสารผู้ให้บริการทั้ง Broadband และ Mobile มีต้นทุนเพิ่ม อย่างมากมายตามการขยายตัวของ OTT ที่ทำให้ปริมาณการใช้งานผ่าน Mobile มีเพิ่มขึ้น จนคลื่นที่ได้มาจากการประมูลราคาแพงทั้ง 2100 MHz, 1800 MHz และ 900 MHzไม่เพียงพอในระยะอันใกล้นี้ แต่การจัดเก็บรายได้กลับไม่เพิ่มขึ้น 

อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีทางโทรคมนาคมใหม่ที่เราเรียกว่า 5G ก็กำลังจะเข้ามามีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศเราก้าวไปข้างหน้า เป็น Infrastructure ทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่รัฐบาลและองค์กรกำกับอย่าง กสทช. มองเห็นถึงปัญหาและทางแก้ จึงได้แก้ไขเพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งทีวีและสื่อสาร สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ

มีการแข่งขันสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติ เพื่อให้การช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอการแก้ข้อสัญญาและขั้นตอนระเบียบทางกฎหมายมากมาย ผ่าน ม.44 เพื่อแก้ปัญหาเป็นการเร่งด่วน ซึ่งไม่ได้ใช้เงินงบประมาณของแผ่นดิน แต่ใช้เงินจากการประมูลคลื่นในอนาคตมาแก้ปัญหาทั้ง 2 อุตสาหกรรม

แต่ได้มีผู้บริหารระดับสูงขององค์กรที่เรียกตัวเองว่า NGO ท่านหนึ่งได้ออกมาโจมตีเรื่องดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา ว่าเป็นการช่วยเหลือนายทุน กลุ่มทุน ทำให้ประเทศเสียรายได้ที่อุปโลกน์ตัวเลขมาแบบไร้ซึ่งเหตุผล เพียงเพื่อจะโจมตีการแก้ปัญหาของรัฐครั้งนี้

แต่ไม่เคยมีข้อเสนอหรือข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ นอกเหนือจากการกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม และ เอาประชาชนมาอ้างว่าเสียหายเสียผลประโยชน์ โจมตีให้ร้ายองค์กรอิสระอย่าง กสทช. ว่าอยู่ใต้อำนาจนายทุนอยู่ร่ำไป เป็นแผ่นเสียงตกร่อง จนประชาชนคนฟังเริ่มเบื่อหน่าย เพราะข้อมูลที่บิดเบือนผ่านเหตุผลเพียงด้านเดียว

"จักริศวร"