ลดค่าโอน-จำนองบ้าน เหลือ 0.01% เฉพาะบ้านไม่เกิน 1 ล้านบาท
เว็บไซต์ thebangkokinsight รายงานว่า นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมกรณีอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศ คือ กำหนดให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว 0.01% (จากเดิม 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์เหลือ 0.01%)
สำหรับกรณีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ดินพร้อมอาคารหรืออาคารที่อยู่อาศัยประเภท บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และบ้านแถว รวมทั้งคอนโดมิเนียม โดยราคาซื้อขายไม่เกิน 1 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563
ขณะเดียวกันกำหนดให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนห้องชุดและค่าจดทะเบียนการจำนองห้องชุดอันเนื่องมาจากการจดทะเบียนการโอนห้องชุดดังกล่าว 0.01% (จากเดิม 1% ของมูลค่าที่จำนอง เหลือ 0.01%) สำหรับกรณีการโอนกรรมสิทธิ์และการจำนองห้องชุดในอาคารชุด โดยราคาซื้อขาย ไม่เกิน 1 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563
ทั้งนี้ จะต้องเป็นการจดทะเบียนซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยและการจำนองเพื่อประกันหนี้กู้ยืมเงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อหน่วย แต่หากราคาซื้อขายเกินกว่า 1 ล้านบาท จะไม่ได้รับสิทธิ์การลดค่าธรรมเนียมฯ และถ้าเป็นการขายและจำนองที่ดินเปล่าจะไม่ได้รับการลดค่าธรรมเนียมเช่นกัน คาดจะใช้วงเงินงบประมาณโครงการ รวม 1,700 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง 2.87 ล้านครัวเรือน ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง คณะรัฐมนตรีคาดหวังว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยลดภาระและเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ให้สามารถตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยได้เร็วขึ้น และสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่ยังไม่สามารถเข้าถึงกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองราคาที่ไม่สูงง่ายขึ้น โดยจะมีครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางสามารถเข้าถึงกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ประมาณ 58,340 ครัวเรือน ประมาณ 175,020 ราย