เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

ปวดท้องข้างซ้าย เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง พร้อมวิธีดูแลเบื้องต้น

ปวดท้องข้างซ้าย เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง พร้อมวิธีดูแลเบื้องต้น

เมื่อขึ้นชื่อว่ามีอาการปวดท้องแล้ว คงไม่มีครั้งไหนที่เราจะสามารถระบุชัดเจนได้ว่าอาการปวดที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร อนึ่ง เป็นเพราะว่าภายในช่องท้องนั้นประกอบด้วยอวัยวะหลายส่วน มีการทำงานและปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งแตกต่างกัน โดยอาการปวดอาจแบ่งออกได้เป็น 2 อย่าง ได้แก่ อาการปวดท้องข้างซ้าย และอาการปวดท้องข้างขวา ซึ่งอาการปวดเหล่านี้เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ จากหลายโรค ไม่ว่าจะเป็น โรคไต โรคมะเร็ง โรคลำไส้อักเสบ หรือแม้แต่ท้องผูก เป็นต้น

อาการปวดท้อง นั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หากเป็นในสาวๆ แล้วละก็ อาการปวดท้องก็เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยๆ และมักจะหายไปเอง ซึ่งอาการ ปวดท้องข้างซ้าย หรือปวดท้องน้อยเป็นสัญญาณเตือนที่เกิดจากอาการผิดปกติทั่วไป เป็นเพียงไม่กี่ชั่วโมงแล้วก็หายไปภายในวันนั้นโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ แต่อาการปวดท้องก็ยังมีโอกาสที่จะกลับมาหาเราได้บ่อยๆ จนกลายเป็นอาการเรื้อรังที่มีสาเหตุมาจากโรคภายในได้ ทางที่ดี ถ้าเกิดว่าเรากำลังเผชิญกับอาการ "ปวดท้องข้างซ้าย" อยู่ แนะนำให้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการเกิดจะดีที่สุด จะได้หาทางรักษาได้ทันท่วงที

หากว่าเรารับรู้ได้ถึงอาการปวดท้องที่เกิดในแต่ละข้าง ก็จะยิ่งทำให้เรารู้ได้ถึงสาเหตุของอาการปวดนั้นชัดเจนขึ้น วันนี้ เราจะมาเรียนรู้อาการปวดท้องข้างซ้ายกันก่อน จะได้รู้ว่าอาการที่เกิดจะบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพอะไรได้บ้าง

stomach-left-1

ปวดท้องข้างซ้ายบน เสี่ยงเป็นโรค ดังนี้

ภายในช่องท้องบริเวณด้านซ้ายบนประกอบด้วยอวัยวะสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น กระเพาะอาหาร ตับ ตับอ่อน ม้าม ลำไส้ และไตซ้าย ที่สำคัญยังอยู่ใกล้กับหัวใจอีกด้วย ฉะนั้น คนที่มี อาการปวดท้องข้างซ้ายบน หรือ ปวดท้องข้างซ้ายบริเวณใต้ซี่โครง อาจเกิดได้จากสาเหตุเหล่านี้

  • โรคหัวใจ

    อาจจะดูแปลกไปสักหน่อย เพราะว่าการเป็นโรคหัวใจอาจไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับอาการปวดท้องที่เกิดขึ้น แต่การปวดท้องข้างซ้ายบนก็นับเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่สื่อถึงการเริ่มต้นที่จะเป็นโรคหัวใจได้ ซึ่งการปวดท้องเป็นเพียงขั้นแรกที่จะนำไปสู่การเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ประกอบกับอาการอื่นๆ ที่จะเกิดตามมา ไม่ว่าจะเป็น อาการปวดที่รอบสะดือ อาการปวดที่บริเวณลิ้นปี่ หรืออาการปวดที่บริเวณใต้ชายโครงและท้องน้อย โดยลักษณะของการปวดที่เป็นขั้นต้นนั้นจะเป็นการปวดแบบเสียดๆ หรือปวดตื้อๆ แล้วค่อยเพิ่มความรุนแรงของอาการปวดขึ้นจนทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ไปจนถึงนอนไม่หลับ อาจมีอาการอาเจียนบ่อยครั้ง ถ้าหากมีทั้งสองอาการนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน 3 - 4 ครั้ง แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดจะดีที่สุด
  • ท้องผูก

    เนื่องด้วยบริเวณช่องท้องส่วนบนเป็นที่อยู่ของอวัยวะสำคัญ อย่าง ลำไส้ใหญ่ จึงอาจทำให้ผู้มีอาการท้องผูกรู้สึกปวดท้องข้างซ้ายบนได้ โดยอาการท้องผูกนั้นเกิดขึ้นจากการที่อุจจาระตกค้างอยู่ภายในลำไส้ใหญ่ ไม่สามารถเคลื่อนตัวไปได้ตามปกติ ซึ่งผู้ที่มีอาการนี้อาจเกิดความรู้สึกอึดอัด อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดกลิ่นปาก และกลิ่นตัวที่ไม่พึงประสงค์ได้อีกด้วย
  • แก๊สในกระเพาะอาหาร

    ในเครื่องดื่ม หรือในอาหารบางชนิด เมื่อเรารับประทานเข้าไปแล้วอาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารได้ บางกรณีอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องข้างซ้ายบน ไปจนถึงเกิดอาการจุกเสียด แน่นท้อง จนทำให้อึดอัด ซึ่งการรักษาก็ทำได้ด้วยการรับประทานยาลดกรด หรือยาขับลม
  • กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ

    การรับประทานอาหารที่ไม่สดสะอาด หรือเป็นอาหารที่มีสารปนเปื้อน มีเชื้อไวรัส ตลอดจนเชื้อแบคทีเรียก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง มีอุจจาระร่วงแบบเฉียบพลัน ร่วมด้วยอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ไปจนกระทั่งถึงภาวะขาดน้ำด้วย ซึ่งการรักษาอาการอักเสบนี้ จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ร่วมกับการใช้ยาเพื่อรักษาตามอาการ อาทิ ยาช่วยย่อย หรือยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
  • ลำไส้แปรปรวน

    อาการปวดท้องข้างซ้ายบน อาจเกิดมาจากการทำงานที่ผิดปกติของลำไส้ ซึ่งเป็นอาการเรื้อรังของโรคลำไส้แปรปรวน หรือโรคดังกล่าวนั้นอาจเกิดจากการติดเชื้อภายในลำไส้ ที่นอกจากจะเกิดอาการปวดท้องแล้ว ยังมีอาการท้องเสียเรื้อรัง รวมถึงมีอาการท้องผูกอยู่เป็นประจำ ต้องบอกเลยว่าโรคนี้เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมให้อยู่ภาวะที่เป็นปกติได้
  • ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน

    การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาจเป็นจุดกำเนิดของอาการตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เพราะปริมาณแอลกอฮอล์ที่เข้าสู่ร่างกายนั้นมีมากจนเกินไป ส่งผลให้มีอาการปวดท้องข้างซ้ายบน ซึ่งนอกจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว อาการตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันอาจเกิดได้จากการใช้ยาบางชนิด ตลอดจนได้รับการกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ  ซึ่งอาการในระยะเริ่มต้นอื่นๆ ก็ยังมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย รวมถึงมีไข้ตามมาอีกด้วย
  • อาหารเป็นพิษ

    อาการอาหารเป็นพิษ หรืออาจเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า ภาวะอาหารเป็นพิษ เกี่ยวข้องกับอาการปวดท้องข้างซ้ายบน เพราะเป็นหนึ่งในอาการของภาวะนี้ มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อที่มาจากอาหารอย่างเฉียบพลัน ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นอื่นๆ ได้แก่ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อาเจียน ปวดเนื้อปวดตัว รวมถึงมีไข้สูง ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นภาวะอาหารเป็นพิษจะเริ่มแสดงอาการภายใน 48 ชั่วโมง หลังจากการรับประทานที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ ต้องรีบไปปรึกษาแพทย์ หรือเข้ารับการตรวจในอย่างละเอียดและทำการรักษาในทันที
  • อาการปอดบวม

    อีกหนึ่งอวัยวะที่แม้จะไม่ได้อยู่ในบริเวณช่องท้อง แต่ก็อาจส่งผลข้างเคียงต่ออาการปวดท้องได้เช่นกัน อย่าง ปอด หากมองไปที่อาการปอดบวมที่เกิดจากการติดเชื้อแล้ว ปอดนั้นจะขยายตัวและไปกดทับอวัยวะสำคัญที่อยู่ใกล้เคียงในบริเวณซีกซ้ายของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องข้างซ้ายบนได้ ส่งผลให้การหายใจนั้นทำได้ลำบาก เจ็บหน้าอก มีไข้สูง ตัวหนาวสั้น รวมถึงมีอาการไออย่างรุนแรงเกิดขึ้นด้วย
  • อาการม้ามโต

    อาการม้ามโต อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งในที่นี้อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส ไปจนกระทั่งผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากโรคตับแข็ง หรือโรคลูคีเมีย โดยอาการที่สังเกตเห็นได้ชัด คือ ม้ามจะขยายใหญ่ขึ้น และไปกดทับอวัยวะสำคัญต่างๆ ทำให้มีอาการปวดท้องข้างซ้ายบน อีกทั้งยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น อาการอึดอัด แน่นท้อง แขนขาอ่อนแรง หายใจไม่สะดวก ติดเชื้อง่าย เหนื่อยง่าย และเพื่อให้แน่ใจถ้าหากสงสัยว่าตัวเรา หรือคนใกล้ตัวอาจมีอาการม้ามโต ให้สังเกตอาการที่ขึ้นร่วมด้วย
  • stomach-left-2

    ปวดท้องข้างซ้ายล่าง เสี่ยงเป็นโรค ดังนี้

  • ไส้เลื่อน

    เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอาการที่น่าวิตก เพราะอาการไส้เลื่อนนั้นเป็นอาการที่ลำไส้จะไหลผ่านผนังช่องท้องไปกระจุกรวมตัวกันอยู่ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเกิดขึ้นกับผู้ชายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาการนี้ยังอาจเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงเช่นกัน ซึ่งเมื่อเกิดอาการไส้เลื่อนแล้ว จะทำให้เกิดการปวดท้องอย่างรุนแรง และหากอาการนี้เกิดขึ้นบริเวณขาหนีบก็จะยิ่งอันตรายที่นอกเหนือจากอาการปวด ก็ยังทำให้สังเกตเห็นว่ามีก้อนตุงๆ อยู่ที่บริเวณหน้าท้อง อันเป็นเหตุมาจากไส้ที่เลื่อนออกมาอยู่ที่ผนังหน้าท้องนั่นเอง
  • โรคไต

    เมื่อเกิดการติดเชื้อขึ้นที่บริเวณไต หรือเกิดมีนิ่วขึ้นในไต จะทำให้เกิดอาการปวดท้องข้างซ้ายล่าง ซึ่งสามารถแยกทั้ง 2 ได้จากอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น โดยอาการไตอักเสบ จะมาพร้อมกับอาการปวดท้องข้างซ้ายล่างแบบเฉียบพลัน ปวดปัสสาวะตลอดเวลา มีอาการปวดแสบปวดร้อนขณะที่ปัสสาวะ หรืออาจปัสสาวะเป็นเลือดร่วมด้วย ในขณะที่อาการนิ่วในไตนั้นจะมาพร้อมกับไข้สูง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับอาการปวดหน่วงๆ ที่บริเวณต้นขา
  • โรคถุงผนังลำไส้อีกเสบ

    โรคนี้เป็นโรคที่พบได้ในผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากว่าเมื่อเรามีอายุที่มากขึ้น เนื้อเยื่อที่บริเวณผนังลำไส้ก็จะเสื่อมไปตามลำดับ ซึ่งอาจทำให้เกิดความดันในบริเวณลำไส้ใหญ่ อีกทั้งยังทำให้ผนังลำไส้เกิดการโป่งพอง โดยในส่วนที่โป่งพองนี้ก็จะกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ทำให้เกิดการอักเสบในเวลาต่อมา ผู้ป่วยที่มีอาการนี้ก็จะปวดท้องข้างซ้ายล่าง หรือต่ำกว่าสะดือลงมา จะมีอาการปวดอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา อาจทำให้อุจจาระเป็นเลือด มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน รวมถึงเบื่ออาหารร่วมด้วย
  • ท้องนอกมดลูก

    ในผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หากเกิดอาการปวดท้องข้างซ้ายล่าง นั่นอาจเป็นสัญญาณไม่ดีของสุขภาพที่กำลังจะบอกตัวเราอยู่ เพราะอาการปวดนี้นั้นบ่งบอกถึงภาวะการตั้งท้องนอกมดลูกที่จะส่งผลเสียและเป็นอันตรายต่อทั้งตัวแม่และเด็กที่อยู่ในครรภ์ ซึ่งหากคุณผู้หญิงคนไหนที่เกิดภาวะการท้องนอกมดลูก จะทำให้เกิดอาการปวดอันเนื่องมาจากเส้นเอ็นยึดมดลูก เกิดซีสต์ในรังไข่ อีกทั้ง การที่ปวดท้องข้างซ่ายล่างเป็นเพราะกระเพาะปัสสาวะมีการขยายตัว โดยหากเกิดอาการดังกล่าวก็ไม่ควรเพิกเฉย ต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

    อาการนี้อาจพบได้บ่อยในผู้หญิง โดยอาจทำให้เกิดการปวดประจำเดือนมากขึ้น อีกทั้งยังมีอาการปวดท้องข้างซ้ายล่างตามมา นอกจากนั้นก็ยังอาจเกิดอาการอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ ท้องเสีย ท้องผูก รู้สึกเจ็บเวลาที่ปัสสาวะ หรืออาจมีประจำเดือนที่มาผิดปกติ ที่แย่ไปกว่านั้น ยังอาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่ได้อีกด้วย
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

    สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ รวมถึงกรวยไตอักเสบ อาจเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ที่ส่งผลให้เกิดการปวดท้องข้างซ้ายล่าง ปัสสาวะติดขัด รวมถึงเกิดความรู้สึกปวดท้องน้อยในขณะที่ปัสสาวะ ถ้าหากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามไปยังไตได้ และกลายเป็นโรคไตในที่สุด
  • ซีสต์ในรังไข่

    การเกิดซีสต์ในรังไข่ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องข้างซ้ายล่างได้เช่นกัน โดยจะมีอาการปวดหน่วงๆ ทำให้ปัสสาวะบ่อย ประจำเดือนมาผิดปกติ โดยการเกิดซีสต์ในรังไข่นี้ไม่ใช่อาการที่ร้ายแรงถึงขนาดที่จะกลายไปเป็นมะเร็งรังไข่ได้ ผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็น หรือเป็นแล้วแต่ยังมีขนาดของซีสต์ที่ไม่ใหญ่มาก จำเป็นต้องทำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด เพราะหากทิ้งเอาไว้ก็จะยิ่งทำให้อาการปวดท้องมีเพิ่มมากขึ้น
  • ปวดท้องข้างซ้าย จะต้องดูแลเบื้องต้นอย่างไร

    หากมีอาการ "ปวดท้องข้างซ้าย" ขึ้นโดยที่เรายังไม่แน่ใจว่ามาจากสาเหตุอะไร ก็ให้ดูแลในเบื้องต้นก่อนที่จะเดินทางไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย ให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อย่าง อาหารจำพวกทอดที่ต้องใช้น้ำมัน เนื้อสัตว์ที่ติดมัน อาหารที่มีรสจัด ไปจนกระทั่งถึงการรับประทานอาหารที่จะต้องแบ่งทานพอประมาณในแต่ละครั้ง อย่าทานให้อิ่มจนเกินไป เคี้ยวให้ละเอียดก่อนที่จะกลืน อย่าเร่งรีบ ทานช้าๆ ที่สำคัญ ! ต้องไม่รับประทานอาหารก่อนที่เข้านอนประมาณ 2 ชั่วโมง ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มจำพวกที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนผสม อาทิ กาแฟ ชา โอเลี้ยง ช็อกโกแลต โกโก้ และน้ำอัดลมอัดแก๊สต่างๆ แต่หากลองทำตามวิธีที่บอกแล้วยังไม่ทุเลาลง ก็ให้รีบเดินทางไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอาการในทันที

    นอกจากโรคและอาการต่างๆ ที่กล่าวไปแล้ว อาการปวดท้องข้างซ้ายทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ก็ยังเป็นอาการเริ่มต้นและสัญญาณอันตรายที่บ่งชี้ว่าเราอาจจะกำลังเป็นโรคอีกหลายชนิดได้ ไม่ว่าจะเป็น โรคมะเร็งในช่องท้อง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคงูสวัส เกิดไส้ติ่งอักเสบ หรือแม้แต่ลำไส้ฉีกขาด เป็นต้น ทางที่ดี หากเกิดอาการปวดท้องข้างซ้าย กินยาแล้ว แต่ก็ไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการที่เป็นอยู่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียด ไม่ควรปล่อยปละละเลย ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้

    อ่านเพิ่มเติม

    ปวดท้องข้างขวา ในตำแหน่งต่างๆ เสี่ยงเกิดโรคอะไรบ้าง

    ปวดท้องข้างขวา ในตำแหน่งต่างๆ เสี่ยงเกิดโรคอะไรบ้าง

    เมื่อคุณมีอาการปวดท้องข้างขวาบนเกิดขึ้น อีกทั้งยังมักจะเป็นอาการปวดที่เกิดหลังจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง นั่นอาจหมายความได้ว่า คุณกำลังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี รวมถึงโรคตับ